ภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่2
คนเราเกิดมา มีบ้างไหมที่ไม่มีทุกข์ ทุกข์ที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่ง ก็คือ รู้ตัวว่า จะตายและกำลังรอความตายอยู่ เพื่อนของภรรยาข้าพเจ้าคนหนึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปไม่กี่วันมานี้ด้วยมะเร็งตับที่ประเทศไต้หวันหลังจากทราบล่วงหน้ามา 1 ปี วันที่เสียชีวิต ไม่มีญาติมาเยี่ยม เธอมีญาติ คือ น้องชายเพียงคนเดียว ซึ่งมีครอบครัวแล้วและกำลังเดินทางมาเมืองไทยเพื่อดูแลมรดกที่ให้ ส่วนลูกๆของน้องชายก็ไม่กล้ามานอนเฝ้าเป็นเพื่อนผู้วายชนม์ เพื่อนๆของเธอต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เพราะเธอไม่มีลูก จึงตายอย่างคนไร้ญาติ และสาเหตุของการไม่มีลูกทำให้เธอต้องหย่าขาดจากสามี ข้าพเจ้ารู้สึกสะเทือนใจในเรื่องนี้ แต่คิดว่า นั่นคือวิถีชีวิตของมนุษย์ หากคนเรามีโอกาสที่จะมีลูก ก็ควรคว้าโอกาสนั้นไว้ และไม่ใช่ว่า ผู้หญิงทุกคนจะตั้งครรภ์จนคลอดปลอดภัย ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่พบบ่อยและอยากนำมาเล่า ก็คือ ภาวะแทรกซ้อนระหว่างไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์
เมื่อวานนี้ มีคนๆไข้สตรีรายหนึ่งมาตรวจหลังแท้งบุตรขณะอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ โดยมีการเจ็บครรภ์มาก่อนล่วงหน้า 1 วัน ข้าพเจ้าเป็นคนแนะนำให้เธอนอนโรงพยาบาลและไห้ยาลดการแข็งตัวของมดลูกอย่างเต็มที่ ผลปรากฏว่า ไม่สามารถหยุดยั้งการแท้งบุตรครั้งนี้ได้ นี่คือ ตัวอย่างหนึ่งของภาวะแทรกซ้อนในไตรมาสที่สอง
ไตรมาสสองของการตั้งครรภ์ หมายถึงระยะเวลาของการท้องตั้งแต่อายุครรภ์ 13 ถึง 28 สัปดาห์ ซึ่งระยะเวลาดังกล่าว จริงๆแล้ว! เป็นช่วงเวลาปลอดภัยที่สุดสำหรับการดำเนินการใดๆเกี่ยวกับคนไข้ท้อง เช่น ผ่าตัดเนื้องงอกรังไข่ในช่องท้อง เพราะมดลูกช่วงนี้มีเสถียรภาพมาก คือ ไม่ค่อยมีการแข็งตัว เวลาถูกรบกวนถึงแม้การรบกวนนั้นจะเป็นการผ่าตัดก็ตาม
หลายวันก่อน ก็มีคนไข้สตรีอีกรายหนึ่งจากต่างจังหวัด เข้ามาที่ห้องตรวจโรคของโรงพยาบาล ข้าพเจ้าเห็นหน้า รู้สึกคุ้นๆ เหมือนกับเคยรู้จัก พอคนไข้เอ่ยทัก จึงรู้ว่า ที่แท้ เธอคือ คนไข้ที่มานอนพักที่หอผู้ป่วยชั้นหก 2 – 3 ครั้งเนื่องจากน้ำคร่ำรั่วในไตรมาสที่ 2 นั่นเอง
น้ำคร่ำเป็นส่วนประกอบสำคัญของการตั้งครรภ์ โดยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทารกในครรภ์ เพื่อป้องกันอันตรายจากสิ่งแวดล้อมภายนอก น้ำคร่ำนั้นเริ่มมีเกิดขึ้นในครรภ์มาตั้งแต่ 6 สัปดาห์และเพิ่มมากขึ้นตามกาลเวลา กระบวนการสร้างน้ำคร่ำมีความซับซ้อนในช่วงแรกๆของการตั้งครรภ์ แต่ในช่วงหลังๆ ส่วนใหญ่จะมาจากปัสสาวะของทารก หาก....มีการรั่วไหลของน้ำคร่ำออกสู่ภายนอก เช่น ถุงน้ำคร่ำรั่ว..... ทารกย่อมมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ในเวลาต่อมา
“หนูเป็นคนไข้ที่มานอนหอพักผู้ป่วยชั้น 6 ไงคะ” คนไข้เอ่ยทักก่อน เมื่อเห็นข้าพเจ้าทำท่าประหลาดใจ
“อ๋อ คุณคือคนท้องที่มีน้ำคร่ำเดินตอนอายุครรภ์ 18 - 19 สัปดาห์คนนั้นใช่ไหม?” ข้าพเจ้าเริ่มพอนึกถึงเธอได้ เธอชื่อ นิตยา ตามทะเบียนประวัติของโรงพยาบาล เธออายุ แค่ 22 ปี ฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่อายุครรภ์ 9 สัปดาห์ และมาตรวจตามนัดทุกครั้ง
เมื่อคุณนิตยาตั้งครรภ์ได้ 15 สัปดาห์ คุณนิตยาประสบอุบัติเหตุตกบันได 3 ขั้น ก้นกระแทก มีอาการปวดหลังและน้ำเดิน แพทย์เวรได้ให้คนไข้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 4 วัน ตอนนั้น เธอได้รับการตรวจดูด้วยอัลตราซาวนด์ ปรากฏว่า เธอตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์เศษ ในบันทึกการรักษา เขียนไว้ว่า
วันที่สองของการนอนพัก คุณนิตยามีน้ำเดินออกมาลดลง ไม่มีไข้ ไม่มีอาการปวดท้อง ไม่มีมูกเลือด
วันที่สาม น้ำเดินน้อยลง มีมูกเลือดออกมาในตอนเช้า อาการทั่วไปปกติ คุณนิตยาได้รับการทำอัลตราซาวนด์ซ้ำ ปรากฏว่า ทารกมีขนาดเท่ากับ 18 สัปดาห์ ไม่มีน้ำคร่ำหลงเหลืออยู่ในครรภ์เลย แสดงว่า ตัวเด็กแนบสนิทติดกับผนังมดลูก ดังนั้น จึงมีโอกาสสูงที่ทารกจะตายเนื่องจากสายสะดือถูกกดทับ อย่างไรก็ตาม คุณนิตยา ได้รับการอนุญาตให้กลับบ้านได้ ด้วยเหตุผลว่า อาการดีขึ้น และเธอขอไปนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลที่มีประกันสังคม เพราะต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลาเช่นนี้เป็นเวลานาน จนกว่า น้ำคร่ำจะสร้างขึ้นมาตามปกติ
11 วันหลังจากนั้น คุณนิตยาได้กลับมานอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจอีกครั้ง ด้วยเรื่องปวดท้องน้อยและยังมีน้ำเดินอยู่ ข้าพเจ้าได้รับการเรียกให้ไปดูคนไข้รายนี้หลังจากเธอนอนอยู่โรงพยาบาลได้ 5 วัน เมื่อตรวจดูด้วยอัลตราซาวนด์ ปรากฏว่า ไม่มีน้ำคร่ำหลงเหลืออยู่ในครรภ์เช่นเดิม หัวใจของทารกยังเต้นอยู่ ข้าพเจ้าเคยคิดจะทำแท้งให้กับคนไข้ เนื่องจากคนไข้ขอร้อง แต่รู้สึกไม่สบายใจเมื่อเห็นหัวใจเด็กยังเต้นอยู่ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ได้ทำแท้งให้ตามที่ขอ
คุณนิตยาได้ปรึกษากับสามีก่อนมาบอกกับข้าพเจ้าว่า “ยังไงๆ ลูกก็ไม่แข็งแรงสมบูรณ์และกำลังจะแท้งออกมา ก็อยากจะขออนุญาตออกจากโรงพยาบาล เพื่อกลับไปแท้งบุตรที่บ้านนอก จะได้มีคนคอยดูแลหลังแท้ง”
วันเวลาสำหรับคนไข้สตรีที่ต้องอุ้มท้องทารกที่ไร้ทางรอดเช่นนี้ ช่างนานเหลือเกิน หลังจากออกจากโรงพยาบาลไม่กี่วัน เธอได้แท้งบุตรที่โรงพยาบาลอำเภอแห่งหนึ่ง พอครบกำหนดลาพัก 1 เดือนจากทางบริษัทฯ เธอได้เข้ามากรุงเทพฯและแวะมาตรวจกับข้าพเจ้า
คุณนิตยาถามว่า “ดิฉันต้องรอกี่เดือนถึงจะท้องได้อีก และจะเริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่?”
“คุณต้องพักมดลูกประมาณ 2 เดือนถึงจะตั้งครรภ์ใหม่ได้ เพราะฉะนั้น ช่วงนี้ต้องคุมกำเนิดชั่วคราวไว้ก่อน” ข้าพเจ้าแนะนำ “ส่วนการมีเพศสัมพันธ์ควรเริ่มได้หลังจากมีประจำเดือนไปแล้ว”
ยังมีคนไข้สตรีอีกรายหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้ามีโอกาสดูแลในครั้งแรกของการฝากครรภ์ และต่อมา เกิดภาวะแทรกซ้อนในปลายไตรมาสสองจนต้องเสียลูก คนไข้รายนี้ ชื่อคุณหนูแพง อายุ 29 ปี ตั้งครรภ์นี้เป็นครรภ์ที่ 3 เคยแท้งในท้องแรกตอนอายุครรภ์ 3 เดือน ครรภ์ที่2 เธอคลอดเองเมื่อครบกำหนด เป็นเพศหญิง มีน้ำหนักแรกคลอด 2100 กรัม ตอนนี้อายุ 9 ขวบแข็งแรงดี สำหรับครรภ์นี้ เธอตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัวเพราะประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอหลังจากผ่าตัดถอดเอายาคุมชนิดฝัง(Norplant)ออกเมื่อ 3ปีก่อน คุณหนูแพงมาฝากครรภ์ครั้งแรกเมื่อกลางเดือนมิถุนายน และได้พบกับข้าพเจ้า เธอได้รับการตรวจดูด้วยอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องด้วยในตอนนั้น ปรากฏว่า ทารกมีขนาดเท่ากับอายุครรภ์ประมาณ 17 สัปดาห์ ไม่พบความผิดปกติใดๆ เธอมาฝากครรภ์อีก 4 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ด้วยเรื่องมีเลือดออกทางช่องคลอดเป็นก้อน จำนวน 2 ก้อน แพทย์เวรได้ตรวจดูอัลตราซาวนด์ พบว่า ทารกมีขนาดเท่ากับอายุ 27 สัปดาห์ ท่าก้น หัวใจเต้นดี แต่รกเกาะทางด้านบนตั้งแต่บริเวณส่วนกลางของมดลูกเรื่อยไปจนถึงปากมดลูกและปกคลุมอยู่
คุณหนูแพงนอนพักที่หอผู้ป่วยชั้น 6 ของโรงพยาบาลตำรวจ 2 วัน ก็ได้รับการผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้องโดยแพทย์คนดังกล่าว ก่อนผ่าตัด คนไข้ได้รับคำอธิบายผลดีผลเสียของการรอและการผ่าตัดว่า จะเป็นอย่างไร ผลเสียของการรอ คือ ต้องระวังการตกเลือดที่จะมีต่อไป ซึ่งจะรุนแรงขึ้น หากผ่าตัดตอนนั้น อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของตัวแม่เอง ส่วนการผ่าตัดทันทีมีข้อเสีย คือ ทารกอาจจะไม่รอด เพราะตัวเล็กมาก ปอดยังไม่ทำงานเต็มที่ ทั้งหมดนี้ แม่ต้องตัดสินใจร่วมกับสูติแพทย์ ในที่สุด แม่ตัดสินใจจะเข้ารับการผ่าตัดทันที ซึ่งผลก็ออกมาตามคาด คือ แม่รอด แต่ลูกเสียชีวิต ในความคิดเห็นส่วนตัว ข้าพเจ้าไม่อยากเสียทั้งแม่และลูก แต่คนไข้ต้องร่วมแรง ร่วมใจ ให้ความร่วมมือ ด้วยการอดทน และนอนพักนิ่งๆ อยู่บนเตียงให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ โดยเตรียมคนไข้เพื่อให้สามารถผ่าตัดได้ทันที จากนั้น ก็เฝ้ารอจนกว่า....จะเกิดเหตุการณ์ที่ส่อแสดงว่าอันตราย ได้แก่ การตกเลือดทางช่องคลอดอย่างรุนแรง เราจึงผ่าตัดฉุกเฉินให้อย่างเร็วที่สุด ทั้งนี้ทั้งนั้น มีข้อแม้ คือ คนไข้ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแผนกสูติ ไม่มีห้องไอ.ซี.ยู. ที่กล่าวมานี้ เป็นตัวอย่างภาวะแทรกซ้อนในไตรมาสสองของการตั้งครรภ์ที่คนท้องทุกคนต้องรู้และใส่ใจ
ข้าพเจ้าเข้าใจสภาพจิตใจของคนที่ยังไม่มีลูก แต่..คนที่ไม่มีลูกมักไม่เข้าใจสภาพความเป็นไปของคนที่มีลูก สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ลูกคือสิ่งที่มีค่าที่สุดของครอบครัว พ่อแม่ต้องยอมเสียสละเวลา อบรม สั่งสอน แก้ปัญหาให้ลูก เพื่อให้เขาเป็นคนดีและเป็นคนเก่งของสังคม มีความรับผิดชอบและกตัญญู ข้าพเจ้าสังเกตว่า คนที่มีลูกเป็นคนเลว ติดคุกติดตารางนั้น เพราะพ่อแม่ไม่ค่อยใส่ใจลงโทษลูกตั้งแต่ยังเล็ก เด็กจึงไม่ได้เรียนรู้ว่า ทำผิดต้องถูกลงโทษ พ่อแม่หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า คำโบราณ“รักลูกให้ตี”นั้นล้าสมัย เนื่องจากมีบางครอบครัวที่เลี้ยงลูกแล้วเป็นคนดีโดยไม่เคยตีหรือลงโทษ ความจริง คำโบราณนั้น ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย เพียงแต่ครอบครัวที่ไม่ตีลูกแล้วลูกเป็นคนดี นั่นเป็นเพราะ โชคดีต่างหากโดยมีปัจจัยอื่นมาเกื้อหนุนพอดี สำหรับการลงโทษลูกนั้น ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ต้องทำเมื่อมีเหตุผลสมควร แต่หลังตีลูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องกอดลูกและอธิบายให้ลูกรู้ว่า “ทำไปเพราะความรัก หาใช่เกลียดชัง” ................................................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น