รกลอกตัวก่อนกำหนด ( Abruptio Placenta )
เรื่องราวที่จะเล่าต่อไป เพิ่งเกิดขึ้นตอนเช้านี้เอง ซึ่งข้าพเจ้ายังรู้สึกได้ถึงความตื่นเต้นสะเทือนใจ ถึงแม้เหตุการณ์ทำนองนี้จะเป็นสิ่งที่สูติแพทย์ต้องเผชิญอยู่เสมอ แต่ก็ยังไม่วายทำให้ข้าพเจ้าใจหายใจคว่ำไปเหมือนกัน
คนไข้สตรีรายหนึ่งเข้ามานอนโรงพยาบาลตำรวจเมื่อ 3 วันก่อน ด้วยเรื่องเลือดออกจากช่องคลอดขณะอายุครรภ์เพียง 28 สัปดาห์ แพทย์ฝึกหัดเขียนบันทึกไว้ว่า รกเกาะต่ำ ( Placenta Previa )โดยมีน้ำเดิน ( Premature rupture of membrane ) ร่วมด้วย วันนั้นเป็นวันเสาร์ ข้าพเจ้าได้เข้ามาอยู่เวรรับผิดชอบแทนเพื่อนสูติแพทย์ที่ติดธุระในช่วงเวลาเย็นตั้งแต่ 17 นาฬิกาเป็นต้นไป จึงไม่ค่อยทราบประวัติความเป็นมาของคนไข้มากนัก แต่จากความเห็นส่วนตัว ข้าพเจ้าได้บอกกับแพทย์ฝึกหัดไปว่า ภาวะรกเกาะต่ำ ( Placenta previa ) ที่วินิจฉัยในเบื้องต้น ไม่น่าจะมีน้ำคร่ำออกจากช่องคลอดร่วมด้วย เนื่องจาก หากถุงน้ำคร่ำแตกและมีน้ำคร่ำไหลออกมาได้ น่าจะแสดงถึงว่า รกไม่ได้ขวางคร่อมปากมดลูก ถุงน้ำคร่ำต่างหากที่เป็นส่วนนำและวางอยู่หน้าต่อปากมดลูก ดังนั้น รกจึงควรเกาะเลยส่วนปากมดลูกขึ้นไป อย่างไรก็ตาม กรณีรกเกาะต่ำชนิดขอบรกวางอยู่ใกล้แต่ไม่ถึงกับคลุมปากมดลูก ( Placental marginalis ) ก็อาจเป็นไปได้ในรายนี้ ซึ่งเป็นผลให้คนไข้มาโรงพยาบาลด้วยเรื่องถุงน้ำคร่ำรั่วและมีน้ำเดิน คนไข้รายนี้ไม่ได้มีปัญหาอะไรในระหว่างนอนพักรักษา เนื่องด้วยเราได้ให้ยายับยั้งการแข็งตัวของมดลูก ( Bricanyl ) มาโดยตลอด
ตอนเช้าวันนี้ ข้าพเจ้าได้กำหนดผ่าตัดให้คนไข้ประมาณ 9 นาฬิกา ด้วยเมื่อคืนตอนค่ำ พยาบาลโทรมารายงานว่า คนไข้มีเลือดออกมาจากช่องคลอดอีกและเริ่มเจ็บครรภ์
8 โมงเช้า ข้าพเจ้าขึ้นไปดูคนไข้ พอไปถึงที่เตียงก็ต้องตกใจ เพราะคนไข้อยู่ในสภาพที่น่าสงสาร โดยอยู่ในท่านอนตะแคงขดตัวงอ ใบหน้าซีดเซียวและท่าทางปวดท้องมาก ข้าพเจ้าเปิดเสื้อคลุมและคลำดูที่บริเวณท้องของคนไข้ รู้สึกว่า มดลูกแข็งตัวตลอดเวลาและฟังเสียงหัวใจเด็กไม่ได้ยิน ข้าพเจ้ารู้สึกตกใจมาก รีบสั่งการกับพยาบาลและบอกกับแพทย์ฝึกหัดที่มาร่วมดูแลว่า “ สงสัยคนไข้จะเป็น รกลอกตัวก่อนกำหนด ( Apruptio placenta ) ช่วยบอกให้พยาบาลห้องผ่าตัดมารับคนไข้โดยด่วน ผมจะผ่าตัดเดี๋ยวนี้เลย ”
จริงๆแล้ว คนไข้รายนี้อยู่ในสภาพเตรียมพร้อมที่จะผ่าตัด เพียงแต่รอให้ถึงกำหนดเวลาเท่านั้น ก่อนหน้า ในช่วงกลางคืน ข้าพเจ้าได้ให้เลือดกับคนไข้ไป 2 ถุง เนื่องด้วย ความเข้มข้นของเลือด ( Hematocrit ) ลดต่ำลงเหลือเพียง 25% จากเดิม 28% ( ค่าปกติ 40 - 45% ) เพื่อช่วยให้สามารถทนรับกับสภาพการเสียเลือดตอนผ่าตัดได้
พวกเราดำเนินการเคลื่อนย้ายคนไข้ค่อนข้างรวดเร็ว เพียงไม่กี่นาที คนไข้ก็มาถึงห้องผ่าตัด ข้าพเจ้าลงมีดบนหน้าท้องและเข้าถึงภายในมดลูกเพียงในเวลาไม่กี่นาที พอมองเห็นถุงน้ำคร่ำ ซึ่งภายในยังคงมีน้ำคร่ำหลงเหลืออยู่ ก็เจาะถุงน้ำคร่ำและทำคลอดเอาเด็กออกมา ช้าไปเสียแล้ว เด็กได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้ไม่นานนัก
พอตัดสายสะดือ ข้าพเจ้าได้ส่งเด็กต่อให้กับกุมารแพทย์ที่มารอรับ ไม่รอช้า ข้าพเจ้าล้วงรกต่อในทันที เพราะรู้ว่า ด้านหลังของรกต้องมีเลือดแข็งตัวซ่อนอยู่จำนวนมาก ซึ่ง….เป็นไปดังคาด ด้านหลังของรกมีเลือดแข็งตัวซ่อนอยู่มากถึงประมาณ 1.5 ลิตร ข้าพเจ้าบอกกับแพทย์ฝึกหัดที่มาช่วยผ่าตัดว่า “ นี่คือ ตัวอย่างกรณีรกลอกตัวก่อนกำหนดชนิด Conceal type เลือดที่ออกและสะสมทางด้านหลังของรก จะดึงเอาปัจจัยที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือดไปอย่างมากมาย จนคนไข้บางรายเกิดสภาวะเลือดไม่จับก้อนแข็งตัว ( Coagulation defect ) ซึ่งอาจทำให้คนไข้ตายได้ สภาวะนี้น่ากลัวมาก ”
ข้าพเจ้าสำรวจดูที่ตัวมดลูกของคนไข้จนทั่ว พบว่า เนื้อของมดลูกบางส่วน มีเลือดแทรกตัวเข้าไป ทำให้มองเห็นเป็นสีคล้ำ ( Couvelaire Uterus ) จึงบอกกับแพทย์ฝึกหัดว่า “ สมัยเมื่อก่อนตอนที่การแพทย์ยังไม่เจริญมาก หากพบมดลูกมีเลือดแทรกเข้าไปอย่างนี้ หมอเกือบทุกคนจะทำการตัดมดลูกให้คนไข้ แต่เดี๋ยวนี้เรารู้แล้วว่า ไม่จำเป็นต้องตัด เพราะมดลูกลักษณะดังกล่าว สามารถหดรัดตัวได้เป็นอย่างดี ”
ข้าพเจ้าไม่ได้ทำหมันให้กับคนไข้ แม้ว่า ก่อนผ่าตัด คนไข้แสดงความประสงค์ที่จะทำหมัน เพราะมีบุตร 2 คนแล้ว หลังผ่าตัด ข้าพเจ้ายังคงไม่สบายใจอยู่ เพราะสามีคนไข้ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย หากทราบเรื่องลูกเสียชีวิต เขาคงต้องตกใจ
ตอนพักเที่ยง ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังรับประทานอาหารอยู่ เสียงสัญญาณวิทยุติดตามตัวได้ดังขึ้น และปรากฏข้อความ “ ติดต่อกกลับห้องผ่าตัดด่วน จากพยาบาล ” ข้าพเจ้าได้โทรศัพท์กลับไป โดยคิดว่า คนไข้น่าจะมีปัญหาอะไรสักอย่าง แต่ไม่ใช่เป็นเช่นนั้น
พยาบาลห้องผ่าตัดตอบมาทางโทรศัพท์ว่า “ คนไข้ไม่มีปัญหา มดลูกแข็งตัวดี แต่ สามีคนไข้ซิ เดินไปเดินมา บ่นว่า ไม่เห็นมีใครบอกเลยว่า ลูกตายแล้ว เพิ่งทราบจากพยาบาลห้องเด็กอ่อนเมื่อตะกี้นี้เอง หมอช่วยมาอธิบายให้สามีคนไข้ทราบหน่อย ” ข้าพเจ้าฟังแล้วรู้สึกไม่สบายใจทันที แต่ยังไงๆ ก็ต้องทำความเข้าใจกับสามีคนไข้ ไม่เช่นนั้น สามีคนไข้อาจเกิดความเข้าใจผิดและคิดไปต่างๆนานา
ข้าพเจ้ารีบมาที่ห้องผ่าตัด เพื่ออธิบายความเป็นจริง ขณะนั้น สามีคนไข้ดูท่าทางเฉยๆ แต่ใบหน้าแสดงลักษณะว่าเครียดมาก ข้าพเจ้าเริ่มต้นอธิบาย โดยกล่าวแสดงความเสียใจที่เขาสูญเสียบุตรในครรภ์ครั้งนี้ว่า “ ผมรู้สึกเสียใจมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับภรรยาของคุณ แต่ช่วยไม่ได้จริงๆ การที่รกลอกตัวก่อนกำหนด ทำให้เลือดออกมาจำนวนมากทางด้านหลังของรก ซึ่งมีผลในการดึงเอาปัจจัยที่ช่วยแข็งตัวของเลือดมาใช้อย่างมากมาย เพื่อหยุดเลือด สำหรับกรณีของภรรยาคุณ เราพบว่า มีเลือดสะสมทางด้านหลังรกกว่า 1 ลิตร ซึ่งถือว่ามากทีเดียว ลักษณะเช่นนี้ ในคนไข้บางรายจะแสดงอาการ เลือดไหลออกจากส่วนต่างๆของร่างกายไม่หยุด จนกระทั่งเสียชีวิต บางรายมดลูกไม่แข็งตัว เป็นผลให้ต้องตัดมดลูก แต่มดลูกของภรรยาคุณแข็งตัวดีและไม่มีตกเลือด คงต้องเฝ้าสังเกตอาการไปก่อน สำหรับลูกคุณนั้น ตัวเล็กมาก น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ถ้าเกิดรอดมาได้ อาจได้เด็กที่ไม่ค่อยดี ซึ่งคงต้องดูแลกันในห้อง ไอ.ซี.ยู. นานหลายเดือน ส่วนใหญ่ สภาวะอย่างนี้ เด็กมักไม่รอด ”
เมื่อสามีคนไข้เข้าใจ ข้าพเจ้าก็สบายใจ สักพักหนึ่ง ทางญาติคนไข้ได้มาบอกความประสงค์ว่า ต้องการจะนำเอาเด็กและรกไปทำพิธีตามประเพณีอิสลาม ข้าพเจ้าได้อำนวยความสะดวกให้ทุกประการ และหวังว่า วิญญาณของทารกน้อยคงได้ไปสู่สุคติ
ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่หากเกิดขึ้น ก็จะมีอันตรายต่อมารดาและทารกอย่างมาก สำหรับครรภ์ถัดไป ส่วนใหญ่มักไม่เกิดภาวะนี้ซ้ำ แต่ก็ยังสามารถเกิดขึ้นซ้ำได้บ้าง ดังนั้น หากตั้งครรภ์ขึ้นมาคราวหน้า คนไข้รายนี้คงต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดและรกเกาะต่ำ จะนำคนไข้มาสู่โรงพยาบาลด้วยเรื่องเลือดออกก่อนคลอด ( Antipartum Hemorrhage ) ในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือ 3 ( อายุครรภ์ประมาณ 16 – 36 สัปดาห์ ) เหมือนกัน ต่างกันตรงที่ภาวะรกเกาะต่ำ คนไข้มักจะมาด้วยเลือดออกจากช่องคลอดขณะนอนพักโดยไม่มีอาการปวดท้อง ( Painless Bleeding ) แต่ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด คนไข้จะมีอาการตกเลือดและปวดท้องอย่างรุนแรง ( Painful Bleeding ) เหมือนอย่างคนไข้รายนี้
การตั้งครรภ์ของสตรี บางทีเป็นสิ่งที่น่ากลัวจริงๆ โดยเฉพาะภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นช่วงไตรมาสที่ 3 ( 3 เดือนสุดท้าย ) ดังเช่นเรื่องราวข้างต้น การป้องกันบางครั้งไม่อาจทำได้เนื่องจากไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน ดังนั้น ความใกล้ชิดกับสูติแพทย์และโรงพยาบาล จึงเป็นที่สิ่งสำคัญ ซึ่งในความเป็นจริง ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่คนไข้จะปรึกษาสูติแพทย์ยามมีปัญหาที่สงสัย ข้าพเจ้าคิดว่า คงจะเป็นการดี หากโรงพยาบาลต่างๆ มีสายด่วนสุขภาพสตรีมีครรภ์ เพื่อลดปัญหาทารกตายในครรภ์โดยไม่สมควร
การเกิดเป็นคนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย คนที่เกิดมาได้ ถือว่า ได้ผ่านอุปสรรคต่างๆมามากพอสมควรแล้ว หากปัจจุบัน ท่านเป็นคนหนุ่มคนสาวและยังไม่กลายเป็นขยะสังคม ข้าพเจ้าถือว่า เป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา เพราะสภาพแวดล้อมรอบตัว ล้วนแต่พร้อมที่จะทำลายความเป็นคนของเรามากขึ้นทุกวัน ด้วยเหตุนี้ ขอให้คิดถึงคุณความดีของบุพการีที่เลี้ยงดูเรามา โปรดอย่าคิดว่า ท่านเป็นคนชราที่เป็นภาระ การตอบแทนผู้มีพระคุณอย่างหนึ่ง ก็คือ เป็นที่พึ่งของท่านยามแก่เฒ่า
อย่าทอดทิ้งบุพการี……….นี่คือ หน้าที่หนึ่งของมนุษย์
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น