03 ธันวาคม 2559

เรื่องราวของคุณราณี

เรื่องราวของคุณราณี

ART เป็นภาษาที่สูติแพทย์บางคนชอบใช้ในการอธิบายเกี่ยวกับการรักษาภาวะมีบุตรยาก ซึ่งทำให้คนไข้ส่วนใหญ่งงในความหมายของคำย่อนี้ จริงๆแล้ว มันมาจากคำธรรมดาๆว่า artificial reproductive technique คุณหมอจะใช้คำนี้ ก็เมื่อเห็นว่า วิธีธรรมดาในการรักษาเพื่อให้มีลูกไม่ค่อยมีประโยชน์แล้ว อย่างไรก็ตาม การรักษาART ย่อมมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ และภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งที่อยากจะนำมาเล่า ก็คือ ภาวะครรภ์แฝด ในที่นี้ข้าพเจ้าอยากจะยกเรื่องราวของคุณราณี และคุณบุณสิรี เป็นตัวอย่าง ซึ่งมีควันหลงของการรักษาที่น่าสนใจทีเดียว

คุณราณี เป็นคนอีสาน และมีการศึกษาสูง หลังจากเรียนจบคณะเภสัชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ก็ประกอบธุรกิจส่วนตัวอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น เธอมีพี่เขยเป็นสูติแพทย์และพี่สาวเป็นกุมารแพทย์ การเป็นคนที่มีการศึกษาสูงทำให้คุณราณี ต้องแต่งงานช้า ตอนที่เธอมาหาข้าพเจ้า เธออายุ 35 ปี แต่งงานมานาน 4 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีลูก  อย่างไรก็ตาม ความพยายามของเธอและสามี ทำให้เกิดเรื่องราวที่ตามมาอย่างน่าสนใจ

คุณบุญสิรีเป็นคนไข้อีกคนหนึ่งซึ่งมารับการรักษาในเวลาที่ใกล้เคียงกัน เธอมีอายุ 38 ปี อาชีพเป็นนักธุรกิจ ซึ่งมีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างจังหวัดและต่างประเทศบ่อยๆ คุณบุญสิรีเคยผ่านการรักษาภาวะมีบุตรยากโดยวิธีหยอดตัวอ่อนระยะฝังตัว(Blastocyst transfer)มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่สำเร็จ   คุณบุญสิรี มีรังไข่ชนิดPCO ( Polycystic ovary ) เช่นเดียวกับคุณราณี  ดังนั้นวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากกับข้าพเจ้าจึงคล้ายคลึงกัน คือ เก็บไข่ (Transvaginal ovum pick up)  ทำอิ๊กซี่(ICSI)  และแช่แข็งตัวอ่อน(Embryo Freezing)ไว้ก่อน แล้วค่อยกลับมาหยอดตัวอ่อนทางปีกมดลูกในภายหลัง( ZIFT = Zygote intrafallopian tube transfer ) โดยใช้กลไกทางธรรมชาติเป็นตัวเตรียมเยื่อบุมดลูก (Endometrium preparation) 

ในอดีต ช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2544 คุณราณีได้รับการผ่าตัดภายในช่องท้อง เนื่องด้วยมีการวินิจฉัยผิดพลาด  แต่การวินิจฉัยผิดพลาดครั้งนี้  ก็เป็นสิ่งที่วิจารณ์ยาก  เนื่องจาก ก่อนที่เธอจะได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นมะเร็งรังไข่ข้างขวา  คุณราณีได้ไปรับการรักษาภาวะมีบุตรยากจากคลินิกแห่งหนึ่ง   ซึ่งผลจากการกระตุ้นไข่ด้วยยา clomiphene citrate   ทำให้รังไข่ข้างหนึ่งของเธอซึ่งมีพยาธิสภาพเป็น Polycystic ovary (PCO) เกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป           ( Hyperstimulation syndrome )  โดยมีลักษณะสำคัญ คือ มีไข่เกิดขึ้นจำนวนมากมาย  ส่งผลให้รังไข่ข้างนั้นมีขนาดใหญ่พอๆกับฝรั่งเวียดนาม นอกจากนั้น ยังมีน้ำเกิดขึ้นในช่องท้องอย่างมากในลักษณะท้องมาน  เหตุที่ทำให้การวินิจฉัยเกิดความไขว้เขว ก็เพราะรังไข่ที่ถูกกระตุ้น มีขนาดโตเพียงข้างเดียว และมีลักษณะเป็นถุงน้ำเล็กใหญ่จำนวนมากซ้อนๆกัน ซึ่งมองเห็นได้จากการดูอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอด คุณหมอสูติและศัลยแพทย์หลายท่านได้ปรึกษาหารือกันอย่างชั่งใจ โดยไม่ได้รับทราบประวัติการกระตุ้นไข่เพื่อการรักษาภาวะมีบุตรยาก  สุดท้ายจึงลงความเห็นว่า น่าจะเป็นมะเร็งรังไข่ และได้ผ่าตัดเอาเนื้องงอกรังไข่ข้างขวาของคุณราณีออกไปพร้อมกับไส้ติ่ง     ( Right Ovariectomy and appendectomy ) สรุปว่า  คุณราณีถูกผ่าตัดฟรี

ปกติ รังไข่ประเภท polycystic ovaries นั้น  เมื่อได้รับการกระตุ้นและเกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป รังไข่ควรจะมีขนาดโตทั้งสองข้าง โดยมีลักษณะเป็นถุงน้ำขนาดเล็กใหญ่วางตัวอยู่ซ้อนๆกันภายในรังไข่เหมือนดังที่กล่าวมาข้างต้น เพียงแต่ว่า ลักษณะถุงน้ำขนาดเล็กใหญ่จำนวนมากเรียงตัวซ้อนๆกันในรังไข่นั้น ทางการแพทย์ ถือเป็นลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของมะเร็งรังไข่  โรคมะเร็งเป็นโรคร้าย อันตรายถึงชีวิต ความหวังดีของคณะแพทย์ ทำให้ต้องตัดสินใจรักษาคุณราณีด้วยวิธีการผ่าตัดเอาเนื้องอกถุงน้ำรังไข่ข้างขวาทิ้งไป ดังนั้น ข้าพเจ้า จึงว่า เป็นการยากที่จะนำมาวิจารณ์ แต่ถือเป็นสิ่งที่คนไข้สตรีควรได้เรียนรู้เอาไว้ เพื่อเป็นข้อคิดเตือนใจ หากถูกตรวจพบเจอในลักษณะทำนองคล้ายๆกันนี้  

เดือน กันยายน พ.ศ. 2545 คุณราณีและสามี ได้เข้ามาปรึกษาภาวะมีบุตรยากกับข้าพเจ้าที่โรงพยาบาลตำรวจ ภายหลังจากตรวจร่างกาย, ตรวจภายใน และดูอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอด ก็พบว่า เธอมีสุขภาพทั่วไป รวมทั้งมดลูกอยู่ในเกณฑ์ปกติ รังไข่ข้างซ้ายเป็น polycystic ovary  และไม่มีรังไข่ด้านขวา  ตอนนั้น ข้าพเจ้ายังได้ทราบว่า ต่อมา คุณราณีเคยไปรักษาภาวะมีบุตรยากโดยทำเด็กหลอดแก้วและหยอดตัวอ่อนระยะฝังตัว( Blastocyst transfer ) มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ข้าพเจ้าได้อธิบายถึงผลสำเร็จของการรักษาภาวะนี้ว่า อัตราการตั้งครรภ์จากการหยอดตัวอ่อนระยะฝังตัว ( Blastocyst transfer ) คือ ประมาณร้อยละ 50 ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกันทั่วโลก  คุณราณีและสามีจึงไม่ควรตั้งความหวังไว้สูงเกินไป  อย่างไรก็ตาม   ข้าพเจ้าจะพยายามรักษาอย่างดีที่สุด

คุณราณี ได้รับการกระตุ้นและเจาะได้ไข่ จำนวน 9 ใบ หลังจากนำไปทำอิ๊กซี่ (เจาะไข่ใส่ตัวอสุจิเข้าไปในเนื้อไข่) ปรากฏว่า ไข่ทั้งหมดได้รับการปฏิสนธิ คือ ได้ตัวอ่อน 9 ตัว ในระยะ Pronuclei stage   ตัวอ่อนทุกตัวถูกนำไปแช่แข็ง (Frozen embryos) เนื่องจากข้าพเจ้ากลัวว่าจะเกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไปกับคุณราณี(Hyperstimulation Syndrome)หากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นมาในคราวนี้ ภาวะนี้มีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งจะเกิดขึ้นกับการกระตุ้นรังไข่ที่มีลักษณะเป็น polycystic ovary ( โปรดดูรายละเอียดในเรื่องPCODในหนังสือคนมีลูกยาก คนอยากมีลูกเล่ม1 ) ดังเช่นรังไข่ของคุณราณี

ปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2546 คุณราณีได้รับการหยอดตัวอ่อนจำนวน 4 ตัวอ่อนเข้าทางปีกมดลูกข้างซ้ายที่เหลืออยู่ (ZIFT) ผลปรากฏว่า ตั้งครรภ์ไม่สำเร็จ

ต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2546  กลับเป็นคุณบุญสิรี  ที่ได้รับการหยอดตัวอ่อนจำนวน 4 ตัวอ่อนเข้าทางปีกมดลูก(จากจำนวนตัวอ่อนที่แช่แข็งไว้ 16 ตัว)และตั้งครรภ์สำเร็จ โดยผลตรวจเลือดทดสอบการตั้งครรภ์ในวันที่ 14 นับจากวันเจาะไข่ เท่ากับ 1238 หน่วย (mIU/ml)  [ค่าผลเลือดที่มากกว่า 25 หน่วย ถือว่าตั้งครรภ์] คุณบุญสิรี ดีใจมากเพราะค่าผลเลือดที่มากเช่นนี้    น่าจะได้ครรภ์แฝด ดังนั้น พอทราบผล คุณบุญสิรี ก็บอกข้าพเจ้าว่า ตัวอ่อนที่แช่แข็งฝากไว้นั้น ให้ทำลายทิ้งไปเลย แต่ที่ไหนได้ พออายุครรภ์ได้ 8 สัปดาห์ ปรากฏว่า ไม่มีตัวเด็กในถุงน้ำคร่ำสักตัวเดียว (Blighted ovum) ซึ่งเรานิยมเรียกภาวะนี้อย่างง่ายๆว่า “ไข่ฝ่อ”  ข้าพเจ้าได้พยายามประเมินสาเหตุแห่งการเกิดภาวะไข่ฝ่อ(Blighted ovum) ของคุณบุญสิรี  ก็แน่ใจว่า มาจากการที่เธอขึ้นเครื่องบินไปทำธุรกิจที่ประเทศอังกฤษหลังจากหยอดตัวอ่อนได้ 4 วัน ความแปรปรวนของชั้นบรรยากาศ และความไม่สมดุลของแรงโน้มถ่วงบนเครื่องบิน น่าจะเป็นผลทำให้ตัวอ่อนส่วนที่จะเจริญเป็นตัวเด็กฝ่อไป คงเหลือแต่ส่วนที่เจริญเป็นรกเท่านั้น ( Trophectoderm ) ที่ยังเจริญต่อ

ต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2546 ข้าพเจ้าได้หยอดตัวอ่อนเข้าทางปีกมดลูกของคุณราณีอีกครั้ง  คราวนี้ ข้าพเจ้าได้บอกกับคุณราณีและสามีถึงกรณีของคุณบุญสิรีว่า หลังหยอดตัวอ่อน (ZIFT)  ห้ามขึ้นเครื่องบินเด็ดขาด มิฉะนั้นตัวอ่อนที่เกิดใหม่จะตายหรือฝ่อไป ดังนั้น สามีภรรยาคู่นี้จึงชวนกันขับรถยนต์ส่วนตัวกลับจังหวัดขอนแก่น เมื่อครบกำหนดทดสอบผลเลือดการตั้งครรภ์ ผลปรากฏว่า ได้ค่า 548 หน่วย(mIU/ml)  ซึ่งข้าพเจ้าได้แสดงความดีใจกับคุณราณีและสามีที่ตั้งครรภ์สำเร็จเสียที 

ข้าพเจ้าไม่ได้พบกับคุณราณีอีกเลยหลังจากนั้นจนถึงบัดนี้  เพราะพออายุครรภ์ได้ประมาณ 8 สัปดาห์ คุณราณีก็ได้ไปรับการตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดกับสูติแพทย์ที่คลินิกแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ผลคือ เธอตั้งครรภ์แฝดสาม (Triplet)  คุณพ่อคุณแม่และบรรดาญาติมิตร ต่างไม่ต้องการให้คุณราณีเสี่ยงต่อการแท้ง โดยการเดินทางไกล ท่านเหล่านั้นจึงขอร้องให้คุณราณีฝากครรภ์ที่จังหวัดขอนแก่นจนกระทั่งคลอด

ปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2547  คุณบุญสิรี คนไข้ของข้าพเจ้าอีกคนหนึ่งได้รับการหยอดตัวอ่อน 3 ตัวเข้าทางปีกมดลูกอีกครั้ง ผลปรากฏว่า เธอตั้งครรภ์สำเร็จ ได้บุตรเป็นแฝดสอง  หลังจากนั้น คุณบุญสิรีก็ไม่ได้กลับมาให้ข้าพเจ้าดูแลอีกเลยเช่นเดียวกับคุณราณี จนกระทั่งเธอคลอดที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งโดยสูติแพทย์ท่านอื่นเมื่อไม่นานมานี้ เธอจึงได้โทรศัพท์มาบอกกับข้าพเจ้าว่า เธอคลอดได้บุตรสาวและบุตรชายอย่างละคน  บุตรทั้งสองแข็งแรงดี เธอกล่าวแสดงความขอบคุณข้าพเจ้าที่ได้มีส่วนช่วยให้เธอมีครอบครัวที่สมบูรณ์

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 ขณะที่คุณราณีตั้งครรภ์ได้ 33 สัปดาห์ เธอมีอาการอาเจียนอย่างมาก  เธอโทรศัพท์มาปรึกษากับข้าพเจ้าว่า จะทำยังไงดี แม้เธอจะได้นอนนิ่งๆอยู่บนเตียงโรงพยาบาลฯมาตั้งแต่ อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ก็ตาม ข้าพเจ้าแนะนำให้เธอลองปรึกษาคุณหมอที่นั่นว่า น่าจะลองให้อาหารทางหลอดเลือด  คุณหมอที่ขอนแก่นหลายคนปรึกษากันและพยายามจะทำตามที่ข้าพเจ้าบอก แต่พอเจาะเลือดเพื่อตรวจดูการทำงานของตับ ผลปรากฏว่า ค่าเอ็นไซม์เกี่ยวกับตับมีค่าสูงมาก  จนอาจแปลผลได้ว่า คนไข้เป็น Fatty liver   ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงสำหรับคนท้องอย่างหนึ่ง ในที่สุด คุณหมอที่นั่นก็ตัดสินใจผ่าตัดคลอดให้ในช่วงนั้น บุตรของคุณราณีเป็นชายทั้งสามคน มีน้ำหนัก 2080 กรัม, 2060 กรัม, และ 1650 กรัม เด็กทุกคนแข็งแรงดี หลังคลอดหนึ่งวันคุณราณีโทรศัพท์มาขอบคุณข้าพเจ้า   ข้าพเจ้ารู้สึกเห็นใจคุณราณีอย่างมาก เพราะการตั้งครรภ์แฝดสามนั้นทุกข์ทรมานค่อนข้างมากจากการอุ้มท้องที่ใหญ่โตมโหฬาร แน่นอน....คุณราณีไม่สามารถเดินทางไปไหนไกลๆได้เลยตลอดการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่เธอจะนอนพักผ่อนอยู่บนเตียงที่บ้าน คุณราณีได้เข้าไปนอนพักรักษาตัวที่แผนกสูติ-นรีเวชกรรมของโรงพยาบาลขอนแก่นนับแต่อายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์  และอยู่ที่นั่นจนกระทั่งคลอด

ทุกวันนี้ คุณบุญสิรีและคุณราณียังคงวุ่นวายอยู่กับบรรดาลูกๆของเธอทั้งสอง ดูเหมือนว่า  หลังคลอด  เธอทั้งสองยิ่งเหนื่อยหนักกว่าตอนก่อนคลอดเสียอีก การมีบุตรเป็นแฝดสองและแฝดสาม ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีเสมอไป เพราะตอนตั้งครรภ์ คุณแม่จะมีปัญหามาก ไม่ว่าจะเป็นการอุ้มท้องที่ใหญ่โต , ภาวะครรภ์พิษ, การเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ในขณะกำลังคลอด  คนไข้ จะเสี่ยงต่อการเสียเลือดจนช็อคจากภาวะมดลูกเฉื่อย และการลอกตัวของรกภายหลังที่ทารกตัวแรกคลอดออกไป ส่วนระยะหลังหลอด ก็ต้องระวังการตกเลือดและติดเชื้อ 

หลังจากนั้น คงไม่ต้องพูดถึง เพราะการเลี้ยงดูเด็กเล็กๆที่มากกว่าหนึ่งคน ย่อมเป็นภาระที่หนักเอาการ แม้จะมีพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือ

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า สตรีคนไหนที่ตั้งครรภ์แฝดสองแฝดสาม ย่อมจะเกิดความรำคาญ, กังวล, วุ่นวายอย่างไม่รู้จบทั้งในระหว่างตั้งครรภ์ และหลังคลอดเมื่อเป็นคุณแม่คนใหม่  เหมือนดังในรายคุณราณีและคุณบุญสิรีที่กล่าวมาข้างต้น    

นี่แหละ!  ควันหลงของการมีลูกแฝดสองและแฝดสามจากการรักษาART.  

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เดินทางไปต่างประเทศ

เรียนท่านผู้อ่านที่เคารพรัก วันที่ 7 มีนาคม 2553 ข้าพเจ้าจะออกเดินทางไประเทศอินเดีย โดยมีกำหนดในเบื้องต้น 4 วัน คือจะกลับในวันที่ 10 ม...