03 ธันวาคม 2559

เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์กับโรงเรียนบ้านร่วมฝัน

เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์กับโรงเรียนบ้านร่วมฝัน

ข้าพเจ้าเพิ่งเดินทางกลับจากการตรวจเยี่ยมและดูแลนักโทษไต้หวันทางภาคเหนือเมื่อ 2 – 3 วันก่อน ทันทีที่ผ่านพ้นสถานที่เหล่านี้ออกมาได้ ในใจก็รู้สึกแปลกๆอย่างบอกไม่ถูก เพราะได้พบเจอสิ่งมากมายที่ยากจะอธิบาย ภายในทัณฑสถานจังหวัดเชียงราย มีอยู่แดนหนึ่ง ชื่อ “บ้านร่วมฝัน”  ชื่อนั้น!!..ให้ความรู้สึกที่ดีต่อข้าพเจ้าอย่างมาก เพราะนักโทษคดียาเสพติดย่อมต้องใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในทัณฑสถานอีกยาวนาน หากเปรียบทัณฑสถานเป็นโรงเรียน ก็เป็นโรงเรียนประจำที่ยากจะเรียนจบ นักโทษเหล่านี้คงต้องอาศัยความหวังหรือความฝันว่า สักวันหนึ่งจะได้ใช้ชีวิตที่เป็นอิสระ

 ‘เบาหวาน’ เป็นโรคที่ประหลาดโรคหนึ่ง หากใครได้เป็นสมาชิกของโรคนี้แล้ว ก็ยากจะรักษาหาย จำเป็นต้องอยู่กับมันจนตาย ซึ่งก็คล้ายๆกับนักโทษคดียาเสพติดของโรงเรียนบ้านร่วมฝัน (ทัณฑสถาน) นั่นเอง โชคดี!!! ที่โรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ Class  A1  คนท้องยังมีโอกาสที่จะหายทันทีที่คลอดบุตร แต่หากเป็น Class  A2 คนท้องผู้นั้นก็ต้องโชคร้ายดุจนักเรียนบ้านร่วมฝัน

มีคนท้องโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ 2 รายที่น่าสนใจ ซึ่งข้าพเจ้าเพิ่งผ่าตัดคลอดบุตรให้  รายแรกชื่อ คุณศิริวรรณ อายุ 34 ปี เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ Class  A1   เดิมทีนั้น... คุณศิริวรรณ เป็นคนไข้มีบุตรยาก เธอได้เข้ามารับการรักษากับข้าพเจ้าอยู่นาน 1 ปี จึงตั้งครรภ์ ปัญหาของเธอคือ ‘เยื่อบุมดลูกบาง’ ส่งผลให้การรักษาโดยการฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูกหลายต่อหลายครั้ง ไม่ประสบผลสำเร็จ จนในที่สุด คุณศิริวรรณและสามีก็ตัดสินใจขอให้ทำ’เด็กหลอดแก้ว’ โชคดี!! ที่เดือนสุดท้ายนั้นเอง เยื่อบุมดลูกของคุณศิริวรรณ มีความหนาตามปกติและไข่ตกสมบูรณ์  ลูกน้อยของคุณศิริวรรณ จึงถือกำเนิดขึ้น

คุณศิริวรรณ เริ่มฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์เพียง 5 สัปดาห์ น่าแปลกมากที่น้ำตาลในปัสสาวะของเธอให้ผลบวกตั้งแต่อายุครรภ์เพียง 20 สัปดาห์ โดยให้ผลบวกระดับ 2+ ถึง 4+ มาตลอด พออายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ข้าพเจ้าจึงให้คุณศิริวรรณเข้ารับการทดสอบ OGTT(oral glucose tolerance test)  ผลปรากฏว่า มีค่าผิดปกติ 2 ค่าจาก 3 ค่าโดยไม่นับรวมค่าแรก ซึ่งเป็นค่าน้ำตาลที่เกิดจากการอดอาหารข้ามคืน (95, 180, 176, 158mg% ค่าปกติ คือ 105, 190, 165, 145mg%) แปลผลได้ว่า เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ Class  A1 เมื่อเป็นดังนี้ คุณศิริวรรณจึงเข้ารับการรักษากับอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเบาหวานไปพร้อมๆกับตรวจครรภ์ ในช่วงแรก เธอได้รับการรักษาโดยการควบคุมอาหาร แต่ต่อมา ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นการฉีดยาอินสุลิน เนื่องจากการควบคุมอาหารไม่ได้ผล

ตอนอายุครรภ์ได้ 34 สัปดาห์ ข้าพเจ้าได้ตรวจอัลตราซาวนด์ให้กับเธอ พบว่า ‘ภายในถุงน้ำคร่ำมีน้ำคร่ำน้อยผิดปกติ (Oligohydramnios) แม้ลักษณะของทารกโดยทั่วไปจะไม่พบความพิการแต่กำเนิด’ ข้าพเจ้ารู้สึกหนักใจมาก เพราะภาวะนี้อาจเกี่ยวข้องกับความพิการของทารกในครรภ์ ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงส่งตัวเธอไปพบกับสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการตรวจดูความผิดปกติของทารกในครรภ์ด้วยอัลตราซาวนด์  ผลสรุปคือ ‘ทารกปกติ และแม้ในถุงน้ำคร่ำจะมีปริมาณน้ำคร่ำน้อย แต่ยังเป็นปริมาณที่พอรับได้’ ข้าพเจ้าได้วางแผนให้คุณศิริวรรณเข้ารับการผ่าตัดคลอดช่วงอายุครรภ์ประมาณ 38 ถึง 39 สัปดาห์ เนื่องจากปอดของทารกที่แม่เป็นเบาหวานมักพัฒนาค่อนข้างช้า การให้ทารกในครรภ์อาศัยเติบโตอยู่กับแม่นานหน่อยย่อมเป็นผลดี  

เผอิญวันหนึ่ง ตอนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ 1 วัน คุณศิริวรรณเกิดเจ็บครรภ์ขึ้นมาอย่างรุนแรงช่วงหัวค่ำ ตอนนั้น คุณศิริวรรณเพิ่งรับประทานอาหารเข้าไปจำนวนหนึ่ง แต่เป็นปริมาณไม่มากนัก ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจให้เลื่อนการผ่าตัดคลอดออกไปเป็นเที่ยงคืน แทนที่จะเป็นแบบฉุกเฉิน เพื่อไม่ให้คุณศิริวรรณเสี่ยงต่อการสำลักอาหาร อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณศิริวรรณมาถึง ปรากฏว่า เธอสงสัยว่าจะมี ‘น้ำเดิน’ ซึ่งอาจส่งผลให้ภาวะน้ำคร่ำน้อย เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์จากการที่สายสะดือถูกกดทับ ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงเปลี่ยนแผนมาเป็น ‘ผ่าตัดฉุกเฉิน’ ซึ่งวิสัญญีแพทย์ก็ไม่ได้คัดค้าน การผ่าตัดเป็นไปอย่างเรียบร้อย ทารกเป็นเพศชาย คลอดเมื่อเวลา 21 นาฬิกา 40 นาที มีน้ำหนักแรกคลอด 2550 กรัม แข็งแรงดี 

อีกรายหนึ่ง ชื่อ คุณลักขณา อายุ 39 ปี ตั้งครรภ์ที่ 3 บุตร 2 คนแรกคลอดเองตามธรรมชาติ อายุ 17 และ10 ขวบ ตอนที่ข้าพเจ้าพบคุณลักขณา ที่ห้องฝากครรภ์ ข้าพเจ้ารู้สึกไม่สบายใจเลย เนื่องจากเธอมีรูปร่างอ้วนมากและมีอาการบวมทั่วตัว(Anasarca)  เธอมีน้ำหนักตัวถึง 100.9 กิโลกรัม ความดันโลหิตของเธอก็สูงถึง 160/90 มิลิเมตรปรอท ลักษณะเช่นนี้ ทำให้คุณลักขณามีโอกาสเสี่ยงต่อการชัก (Ecclampsia) ค่อนข้างมาก จากภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ (Severe Preecclampsia) ที่สำคัญ คือ คุณลักขณาเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ Class  A2  พอทราบแค่นั้น ข้าพเจ้าก็แทบจะเป็นลม เพราะ แค่คนท้องคนหนึ่งซึ่งมีภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์อย่างเดียว ปัญหาก็มากอยู่แล้ว นี่!!!! ยังมีโรคเบาหวานแทรกเข้ามาอีก แน่นอน!!!!..คุณลักขณาย่อมมีการพยากรณ์โรคที่เลวร้ายมาก.....

คุณลักขณาเริ่มฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ แต่เนื่องจากมีน้ำหนักตัวค่อนข้างมาก คือ 89.3 กิโลกรัม เธอจึงเข้ารับการทดสอบ OGTT(oral glucose tolerance test)  ผลปรากฏว่า มีค่าผิดปกติทุกตัว (175, 306, 313, 236mg% ค่าปกติ คือ 105, 190, 165, 145mg%) คนท้องทีไม่เคยเป็นเบาหวานมาก่อนแล้วมาตรวจพบเช่นนี้ โดยมีค่าน้ำตาลที่เกิดจากการอดอาหารข้ามคืน เกินกว่า 105 mg% ถือว่า เป็นโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ Class  A2 คนไข้ต้องได้รับการรักษาโดยการฉีดอินสุลินเพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือดอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้น ทารกในครรภ์จะเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักตัวมาก (Macrosomia) ไม่เพียงแค่นั้น คนท้องเองยังมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ (Severe Preecclampsia), ครรภ์แฝดน้ำ (Polyhydramnios), ติดเชื้อง่าย,  คลอดยาก (Dystocia), ตกเลือดหลังคลอด , โรคหัวใจ   ส่วนทารกก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อภาวะไหล่ติดเวลาคลอด (Shoulder dystocia), ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ, ปอดมีปัญหาหลังคลอด (Respiratory distress syndrome, RDS), ภาวะ เลือดข้น (Polycytemia) , ความพิการแต่กำเนิด , ทารกตายในครรภ์และอื่นๆอีกมากมาย

สำหรับภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ของคุณลักขณา คนไข้ขอไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนที่มีประกันสังคม คุณลักขณาได้ฝากครรภ์เรื่อยมาพร้อมๆกับฉีดยาอินสุลินไปด้วย  เธอมีความดันโลหิตสูงบ้างแต่ไม่มากนัก จนกระทั่งตอนอายุครรภ์ได้ 40 สัปดาห์ เธอได้มาเข้ารับการตรวจทดสอบภาวะเสี่ยงต่ออันตรายในครรภ์ของทารกหรือ NST (non-stress test) ในวันที่ข้าพเจ้ารับผิดชอบ แม้ผลจะออกมาดี (Reactive) แต่คนไข้และลูกจะยังคงตกอยู่ในอันตรายจากภาวะความดันหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ (Severe Preecclampsia) เนื่องจากเธอมีอาการบวมทั่วตัว (Anasarca)   คุณลักขณาอาจชักได้ทุกเวลา ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงกำหนดให้คุณลักขณาเข้ารับการผ่าตัดคลอดในวันรุ่งขึ้น 

การผ่าตัดคลอดเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทารกเป็นเพศหญิง มีน้ำหนักตัวแรกคลอด 3690 กรัม มีคะแนนศักยภาพแรกคลอด 9,10 (คะแนนเต็ม 10) ที่ 1 และ 5 นาที คนไข้ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากอายุรแพทย์ช่วงหลังคลอด  คุณลักขณากลับบ้านพร้อมกับลูกหลังจากนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพียง 5 วัน  

ทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับคุณศิริวรรณละคุณลักขณาผ่านไปได้ด้วยดี นี่คือสิ่งที่เราสัมผัสได้ แต่...หากคนไข้เหล่านี้ ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดี ผลที่จะตามมา ย่อมมีมากมาย โดยเฉพาะการคลอดติดไหลของทารก และการชักรวมถึงการตกเลือดหลังคลอดของตัวคนไข้เอง 

คนท้องที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes Mellitus) หมายถึง คนท้องไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่า เป็นเบาหวาน เธอเพิ่งมาตรวจพบตอนฝากครรภ์ โรคนี้แบ่งออกเป็น 2 ระดับ (Class) คือ เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ Class A1  และ Class  A2  การดูแลรักษาคนไข้เหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือของอายุรแพทย์และสูติแพทย์ไปพร้อมๆกัน มิฉะนั้น จะเกิดผลเสียหายต่อตัวคนไข้และบุตร สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการคลอดของคนท้องที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ก็คือ อายุครรภ์ตั้งแต่ 38 สัปดาห์ขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็น Class A1  หรือ Class  A2  ภายหลังจากคลอดบุตรไปแล้ว ภาวะเบาหวานจะดีขึ้นเองทันที เนื่องจากรก (Placenta) ซึ่งสร้างฮอร์โมนต้านอินสูลิน ถูกกำจัดออกไปจากร่างกาย ส่งผลให้อินสูลินของคนไข้กลับมาทำงานเหมือนเดิม สำหรับทารกน้อย ภายหลังคลอด ก็ต้องระวังภาวะน้ำตาลต่ำในกระแสเลือด (Hypoglycemia) ด้วย

คนท้องท่านใดที่เข้าไปอยู่ในวังวนของภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ เชื่อได้ว่า ในอนาคต คงต้องผจญกับปัญหาต่างๆของโรคเบาหวาน แม้ว่าจะเป็น Class A1 ก็ตามที เพราะ ร่างกายของเธอผู้นั้นผูกพันเสียแล้วกับโรคเบาหวาน ส่วนคนไข้ที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ Class A2 ท่านย่อมไม่มีโอกาสกลับไปเป็นคนธรรมดาได้อีกแล้ว เพราะถือว่า ท่านเป็นสมาชิกถาวรของโรคเบาหวาน ดุจเดียวกับเป็นนักเรียนประจำของโรงเรียนบ้านร่วมฝัน

ในการเดินทางไปภาคเหนือครั้งนี้ ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ไปกราบรอยพระพุทธบาท 4 รอยของพระพุทธเจ้าทั้ง 4 องค์ ที่วัดบนยอดเขาที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ทางขึ้นบนภูเขามีลักษณะค่อนข้างสูงชันและคดเคี้ยว รถมีโอกาสตกเขาได้ทุกเมื่อ นักท่องเที่ยวนิยมไปเยี่ยมชมที่วัดนี้ตอนหน้าแล้ง แต่...ข้าพเจ้าและคณะรวมทั้งคนขับรถไม่ทราบว่า หนทางจะเป็นเช่นนั้น จึงกล้าหาญไต่เขาขึ้นไป เดชะบุญที่วันนั้นฝนไม่ตก ด้วยอานิสงส์แห่งศรัทธาของข้าพเจ้าที่ตั้งมั่นอยู่ในพระรัตนะตรัย จึงดลบันดาลให้ข้าพเจ้าปลอดภัยจากการเดินทางทั้งขาไปและขากลับ    หากมีใครไม่เชื่อในคุณความดีแห่งการกระทำตามคำสอนของพระพุทธองค์แล้วไซร้ ก็คงมีสักวันหนึ่ง ที่เขาผู้นั้นจะได้เข้าไปอยู่เป็นนักเรียนประจำแห่งโรงเรียนบ้านร่วมฝัน .........

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เดินทางไปต่างประเทศ

เรียนท่านผู้อ่านที่เคารพรัก วันที่ 7 มีนาคม 2553 ข้าพเจ้าจะออกเดินทางไประเทศอินเดีย โดยมีกำหนดในเบื้องต้น 4 วัน คือจะกลับในวันที่ 10 ม...