ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด(Premature rupture of membrane)
หลายวันที่ผ่านมา ข้าพเจ้ามีความทุกข์ใจเป็นอย่างมาก จนต้องเดินทางอย่างเร่งรีบเข้าหาวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ถ้าถามถึงสาเหตุแห่งทุกข์ของข้าพเจ้าว่า เป็นเพราะเหตุใด? ข้าพเจ้าคงต้องขอยกให้เป็นเรื่องของกรรมเก่า ที่เจ้ากรรมนายเวรตามมาทวงหนี้กรรม จิตใจข้าพเจ้าในตอนนั้นหม่นหมองมาก ยังโชคดี ที่ข้าพเจ้านึกถึงพระธรรมเป็นที่พึ่งอันแรก จึงรีบขับรถเข้าไปขอบวชเนกขัมที่วัดประสพสุข อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี หลังจากนั้น ก็มีกัลยาณมิตรหลายท่านช่วยเหลือ บางท่านยังติดต่อให้ไปปฏิบัติธรรมยังยุวพุทธิกสมาคมเพิ่มเติมอีก ข้าพเจ้าจึงขออนุโทนามา ณ ที่นี้ด้วย ในที่สุด ก็ได้อโหสิกรรมให้กับเจ้ากรรมนายเวรทั้งหมด ไม่ขอจองเวรต่อกันอีก ข้าพเจ้าขอยึดมั่นที่จะทำความดี และขอปฏิบัติธรรมชั่วชีวิตที่เหลืออยู่
หลายวันมานี้ มีกรณีของคนไข้ตั้งครรภ์ที่มีน้ำเดินเข้ามาอยู่ในความดูแลของข้าพเจ้าหลายราย ซึ่งน่าสนใจมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการรักษาที่มีความแตกต่างกันของแพทย์ผู้ดูแลในแต่ละวัน ซึ่งควรที่จะนำมาพิจารณา เพื่อการเรียนรู้ของผู้คนทั่วไป
ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด หมายถึง การแตกของถุงน้ำคร่ำอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนการเจ็บครรภ์ ปัญหาก็คือ 1. อายุครรภ์ของคนไข้ขณะนั้น ถ้าน้อยกว่า 35 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเกิดภาวะผิดปกติเกี่ยวกับทางเดินหายใจ (Respiratory distress syndrome หรือย่อเป็น RDS) ถ้าอายุครรภ์ระหว่าง 32 -34 สัปดาห์ นอกจากปัญหาดังกล่าว ยังอาจเกิดการติดเชื้อในเด็กได้ง่ายอีกด้วย ถ้าอายุต่ำกว่า 32 สัปดาห์ ยิ่งมีปัญหาเพิ่มขึ้น ดังนั้น อายุครรภ์จึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆที่จะนำมาพิจารณาในการรักษาลำดับต้นๆ 2. ระยะเวลาที่น้ำเดิน หากมีน้ำเดินเกินกว่า 24 ชั่วโมง ทั้งแม่และเด็กมีโอกาสติดเชื้อสูงมาก 3. การพิจารณาให้ ยา(steroid)เร่งพัฒนาการทำงานของปอดเด็ก ซึ่งเราควรให้ในกรณีที่คุณแม่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม การรักษาหรือให้ยาใดๆ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม
กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีคนไข้รายหนึ่ง ชื่อ คุณสายฝน อายุ 18 ปี ตั้งครรภ์แรก เธอเริ่มฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ โดยมีระดูครั้งสุดท้ายกลางเดือนธันวาคมของปีก่อน คุณสายฝนมาฝากครรภ์สม่ำเสมอตามนัดทุกครั้ง และไม่มีปัญหาใดๆระหว่างระหว่างฝากครรภ์ จนกระทั่งครั้งสุดท้ายที่มีปัญหาน้ำเดินก่อนกำหนด แม้คุณสายฝนจะไม่เคยได้รับการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์เลย แต่ยอดมดลูกของเธอมีขนาดเข้ากันได้กับอายุครรภ์มาโดยตลอด ดังนั้น จึงน่าจะไม่มีปัญหาด้านการรักษาในแง่อายุครรภ์ของคุณสายฝน
คุณสายฝนมารับการตรวจตามนัดทุกครั้ง จำนวน 5 ครั้ง จนกระทั่งครั้งสุดท้ายเมื่อกลางเดือนสิงหาคม ขณะมีอายุครรภ์ได้ 34 สัปดาห์ 4 วัน ในวันที่มาตรวจครรภ์สุดท้ายนั้น คุณสายฝนมีประวัติน้ำเดินมาจากบ้านก่อนมาโรงพยาบาล 1 ชั่วโมง แพทย์ฝึกหัดได้ทำการตรวจภายในคนไข้เพื่อทำการทดสอบว่า มีน้ำเดินจริงหรือไม่ ผลปรากฏว่า คุณสายฝน มีน้ำเดินออกมาทางช่องคลอดจริง ( Nitrazine test positive) คุณหมอเวรได้ให้รักษาแบบexpectant treatment คือ การเฝ้าสังเกตอาการและเลื่อนการคลอดออกไปก่อนตามความเหมาะสม โดยในระหว่างนั้น ได้สั่งการรักษาโดยให้ยา steroid เพื่อพัฒนาปอดและยาฆ่าเชื้อไปด้วย ตอนแรกๆ คุณสายฝนมีมดลูกแข็งตัวห่างๆ คือ นานเกินกว่า 10 นาทีจะมีมดลูกแข็งตัวสักครั้งหนึ่ง แต่ต่อมามดลูกเริ่มมีการแข็งตัวถี่ขึ้น วันรุ่งขึ้น ตอนที่ข้าพเจ้ามารับเวรตอน 8 โมงเช้า ปรากฏว่า มดลูกของคุณสายฝนมีการแข็งตัวทุก 5 นาที เมื่อข้าพเจ้าอ่านรายงานของพยาบาลห้องคลอดเพื่อทบทวนเหตุการณ์ในคืนที่ผ่านมา ก็พบว่า ตลอดทั้งคืน ไม่มีเหตุการณ์รีบด่วนที่จำเป็นต้องผ่าตัดคลอด
ตอนเช้า ข้าพเจ้ามารับเวรห้องคลอด พยาบาลได้รายงานกรณีของ คุณสายฝนให้ทราบและบอกด้วยว่า ‘คุณหมอเวรเมื่อคืนจะรับดูแลเป็นพิเศษ โดยขอให้ส่งคุณสายฝนไปรับการตรวจอัลตราซาวนด์ที่ห้องตรวจครรภ์ ซึ่ง..เครื่องอัลตราซาวนด์ที่นั่นมีประสิทธิภาพดีกว่าของห้องคลอด’ ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจ แต่ก็ได้เก็บความในใจเอาไว้ รอดูว่า คุณหมอรุ่นน้องคนนั้นจะทำยังไงต่อไป หลังจากคุณสายฝนกลับมาที่ห้องคลอด พร้อมกับคำสั่งให้ส่งตัวคนไข้ขึ้นไปนอนพักที่หอผู้ป่วยชั้น 6 เพื่อสังเกตอาการ ข้าพเจ้าได้สอบถามพยาบาลคนดังกล่าวว่า “คุณหมอให้ส่งคุณสายฝนขึ้นไปที่หอผู้ป่วยชั้น 6 ทำไม?”
พยาบาลคนนั้นบอกว่า “คุณหมอตรวจพบว่า ทารกมีขนาดเท่ากับอายุครรภ์ 30 สัปดาห์เท่านั้น ซึ่งเด็กคงตัวเล็กมาก จึงวางแผนให้การรักษาแบบ expectant treatment คือดูอาการไปก่อน คาดว่า คงจะใช้เวลาอย่างน้อย 48 ชั่วโมง เพื่อให้ยา steroid หลังจากนั้น ค่อยมาพิจารณาดูว่า จะคลอดอย่างไร หรือ ให้รอต่อไปอีก”
ข้าพเจ้าจึงขอคุยกับคุณหมอรุ่นน้องท่านดังกล่าว ข้าพเจ้าถามคุณหมอว่า “เออ! น้องคิดว่า จะดูแลคนไข้รายนี้ต่อไปอย่างไร?” คุณหมอตอบว่า “คือผมดูจากอัลตราซาวนด์แล้ว เด็กตัวค่อนข้างเล็กมาก คือมีขนาดเท่ากับอายุครรภ์ 30 สัปดาห์เท่านั้น ผมอยากจะให้คนไข้ได้รับยา steroid 48 ชั่วโมงเสียก่อน เพื่อพัฒนาปอดเด็ก แล้วค่อยมาพิจารณาอีกทีว่า จะให้คนไข้คลอดทางไหน? เพราะ กลัวว่า ถ้าเอาเด็กออกมาตอนนี้ เด็กน่าจะมีปัญหาเรื่องปอดและอาจจะไม่รอด” ข้าพเจ้าจึงบอกกับคุณหมอรุ่นน้องว่า “เอาอย่างนี้ดีกว่า พี่ขอดูแลคนไข้รายนี้เอง ก็แล้วกัน” เพราะข้าพเจ้าทราบว่า คุณหมอรุ่นน้องคนนี้เกรงใจข้าพเจ้า จึงมาขอดูแลคนไข้รายนี้เอง
แต่ข้าพเจ้าไม่ได้คิดที่จะให้คุณหมอรุ่นน้องต้องเกรงใจอย่างนั้น การที่ข้าพเจ้าต้องดึงคุณสายฝนมาดูแลเอง ก็เพราะมองเห็นว่า อาจจะเกิดความผิดพลาดในการตัดสินใจให้การรักษาของคุณหมอรุ่นน้องคนนั้น ซึ่งจะก่อผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อคนไข้ ข้าพเจ้าเรียกพยาบาลมาสั่งการรักษาใหม่ พร้อมทั้งสอนแพทย์ฝึกหัดไปพร้อมๆกันด้วย..ว่า “กรณีของคุณสายฝนนั้น มีน้ำเดินออกมาชัดเจนและจำนวนมากในครั้งแรก ต่อมาถึงจะมีน้ำเดินออกมาน้อย โดยมีปากมดลูกเปิดแค่ 1 เซนติเมตร และหัวเด็กอุดปิดทางที่ปากมดลูก จนทำให้น้ำคร่ำไม่ไหลออกมามากก็ตาม แต่หากทารกขยับตัว หัวเด็กอาจมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งและไม่อุดปิดทางออกของน้ำคร่ำในลักษณะเดิม ผลคือ น้ำคร่ำมีโอกาสไหลออกมาสู่ภายนอกจนหมด ซึ่งมีผลทำให้ตัวเด็กกดทับสายสะดือได้ง่ายและตายในที่สุด อีกประการหนึ่ง การย้ายคุณสายฝนขึ้นไปนอนที่หอผู้ป่วย ย่อมมีผลเสีย คือ เวลามีน้ำเดินออกมามากจนน้ำคร่ำหมด พวกเราอาจไม่ทราบ เพราะไม่มีเครื่องอัลตราซาวนด์ตรวจ นอกจากนั้น เวลาทารกนอนเบียดและกดทับสายสะดือจนหัวใจมีการเต้นช้าผิดปกติ เราก็ไม่รู้ เนื่องจากไม่มีเครื่องมือตรวจจับการเต้นของหัวใจเด็กติดอยู่เหมือนในห้องคลอด สรุปว่า หากคุณสายฝนย้ายไปอยู่ที่หอผู้ป่วยชั้น 6 ซึ่งปราศจากเครื่องมือพิเศษใดๆในการตรวจความผิดปกติของทารกในครรภ์ดังที่กล่าวมา ทารกมีโอกาสตายได้ง่ายๆ โดยที่เราไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย ที่สำคัญคือ การรักษาโดยการเฝ้าสังเกตอาการเป็นเวลานานๆ โดยไม่จำเป็น หากมีการติดเชื้อในโพรงมดลูก นอกจากทารกจะตายหรือพิการจากการติดเชื้อแล้ว คุณแม่ยังอาจถูกตัดมดลูกจากการติดเชื้อ อีกด้วย นี่คือ ข้อผิดพลาดของการรักษา”
“อย่างนี้แล้ว เราควรจะให้การรักษายังไง?” แพทย์ฝึกหัดถาม
“รายนี้ มีอายุครรภ์ถึง 34 สัปดาห์เศษ คนไข้มาฝากครรภ์ดีพอสมควร ขนาดของเด็กเข้ากันได้กับอายุครรภ์ หากเป็นเช่นนั้น อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ เด็กจะหนัก ประมาณ 2 กิโลกรัมซึ่งเราสามารถคำนวณน้ำหนักเด็กได้ง่ายๆ ดังนี้ อายุครรภ์ 30 สัปดาห์ เด็กจะหนัก 1300 กรัม (ตัวเลขจะกลับกันระหว่างอายุครรภ์กับน้ำหนักคือ 30 กับ 13) หลังจากนั้น น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นประมาณ 200 - 250 กรัมทุกๆสัปดาห์ พี่ดูแล้ว เด็กรายนี้ค่อนข้างตัวใหญ่ กะน้ำหนักได้ ประมาณ 2 กิโลกรัม” ข้าพเจ้าอธิบายให้กับแพทย์ฝึกหัดฟัง แล้วสั่งการกับพยาบาล ขอให้เอาเครื่องอัลตราซาวนด์ที่อยู่ในห้องคลอดมาตรวจดูลูกคุณสายฝน ข้าพเจ้าทำไป ก็สาธยายต่อไปให้กับแพทย์ฝึกหัดฟัง “ ส่วนหัวเด็ก ค่า BPD(Biparietal diameter) เทียบเท่ากับ อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ ค่า FL (Femur length) เทียบเท่ากับ 34 สัปดาห์ ไม่ตรงกับที่วัดโดยเครื่องอัลตราซาวนด์ตัวล่างที่ห้องตรวจครรภ์ แต่จากประสบการณ์ส่วนตัว พี่รู้สึกว่า เครื่องอัลตราซาวนด์ที่ห้องตรวจครรภ์จะวัดค่าต่างๆได้ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เราต้องระวังเรื่องความผิดพลาดที่วัดจากเครื่องมือไว้ด้วย ที่สำคัญ พี่กะน้ำหนักของทารกรายนี้ด้วยมือจากการคลำ คาดว่า เด็กน่าจะหนักประมาณ 2 กิโลกรัม ซึ่งว่าไปแล้ว การกะน้ำหนักบ่อยๆด้วยการคลำ ก็ให้ผลที่ใกล้เคียงกับน้ำหนักทารกจริงๆ สรุปคือ กรณีของคุณสายฝน ควรตัดสินให้ผ่าตัดคลอดตอนนี้เลย ”
ยังไม่ทันไร! คุณสายฝนก็ร้องไห้ เพราะเธอได้รับการอธิบายมาครั้งหนึ่งจากคุณหมอท่านก่อนว่า ‘น่าจะรอไปก่อน การคลอดทันที อาจทำให้ทารกมีปัญหาเรื่องการหายใจและอาจเสียชีวิตได้’ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องรีบแจกแจงแสดงเหตุผลให้คนไข้ฟังอีกครั้ง
ข้าพเจ้าพูดกับคุณสายฝนว่า “การรักษาภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด ด้วยการรอนั้น จะมีประโยชน์ ก็เฉพาะกรณีที่คนท้องมีอายุครรภ์น้อยๆเช่นอายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์ โดยที่น้ำคร่ำไม่ไหลออกมามากจนเกินไป กรณีแบบนั้น เราน่าจะรอ เพราะการรอได้ประโยชน์มากกว่า แต่กรณีของคุณนั้นมีน้ำเดินออกมาค่อนข้างมาก แม้ตอนนี้ น้ำคร่ำในโพรงมดลูกยังเหลืออยู่พอสมควร แต่อีกสักพัก พอคุณขยับตัวและเด็กเปลี่ยนท่า น้ำคร่ำก็จะออกมาอีก ซึ่งไม่นานนัก.. เด็กก็อาจจะตายจากการที่สายสะดือถูกกดทับ นอกจากนั้น คุณยังเสี่ยงต่อการถูกตัดมดลูกหากมีการติดเชื้อในโพรงมดลูกหากรอต่อไปอีก ตอนนี้ ลูกของคุณก็มีขนาดและน้ำหนักตัวไม่ใช่น้อย น้ำหนักเด็ก คาดว่า น่าจะประมาณ 2 กิโลกรัม ซึ่งทางการแพทย์ ถือว่า ทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวเกินกว่า 1500 กรัมมีโอกาสรอดค่อนข้างสูง นอกจากนั้น ลูกคุณยังได้รับภาวะเครียดจากสิ่งแวดล้อมในครรภ์ที่มีน้ำเดินออกมาตั้งแต่เมื่อวานจนถึงตอนนี้ ซึ่งกินเวลานานเกินกว่า 24 ชั่วโมง ผลคือ ทำให้ปอดของเขาได้รับการพัฒนาไปค่อนข้างมาก และ..ยังมีการให้ยา steroid เพื่อเพิ่มการพัฒนาปอดด้วย ยิ่งเป็นการช่วยเรื่องปอดเด็กอีกทางหนึ่ง การผ่าตัดเอาเด็กออกตอนนี้ย่อมได้ประโยชน์มากกว่าอย่างแน่นอนและเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง” จากนั้น ข้าพเจ้าได้หันมาสอนแพทย์ฝึกหัดต่อว่า “เห็นไหม! การตัดสินใจให้การรักษาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ผิดพลาดขึ้นมา เราอาจถูกฟ้องร้องได้ ซึ่งไม่ใช่ว่า คุณหมอเวรเมื่อคืนไม่เก่ง แต่เป็นด้วยประสบการณ์ยังไม่มากพอ คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง เพื่อสั่งสมประสบการณ์”
ข้าพเจ้าลงมือผ่าตัดเอาเด็กออกเมื่อเวลาประมาณ 14 นาฬิกา หลังจากอธิบายให้คนไข้และญาติเข้าใจในความจำเป็นของการรักษา ทารกที่เกิดเป็นเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 1930 กรัม มีค่าคะแนนศักยภาพแรกเกิดเท่ากับ 10, 10 ที่เวลา 1 และ 5 นาทีตามลำดับ คุณแม่และลูกกลับบ้านหลังจากนอนโรงพยาบาล 4 วัน โดยไม่มีปัญหาใดๆทั้งสิ้น
ถัดมาอีกไม่กี่วัน ก็พบคนไข้ท้องมีน้ำเดินคล้ายๆกันกับรายนี้ อายุครรภ์ประมาณ 34 สัปดาห์ มาโรงพยาบาลตอน 4 นาฬิกา ตอนแรก ข้าพเจ้าคิดจะรอเวลาสัก 6 -12 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดเด็กมีการพัฒนาดีขึ้นจากยา steroid แต่พอข้าพเจ้าตรวจดูทารกด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้อง ก็ต้องตกใจที่พบว่า ไม่มีน้ำคร่ำหลงเหลืออยู่ในครรภ์เลย ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงได้ผ่าตัดคลอดทันที ทารกได้คลอดออกมาอย่างปลอดภัย ไม่ต้องอยู่ในตู้อบ เพียงแต่น้ำหนักแรกคลอด 2030 กรัม เท่านั้น
เรื่องราวที่เล่ามานี้ เป็นเรื่องจริงที่พบบ่อยๆในห้องคลอด การวางแผนรักษา เป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากผิดพลาด ทารกและมารดาย่อมตกอยู่ในอันตราย
ชีวิตของคนเราเกิดมาเพื่อชดใช้กรรม ดังนั้น ท่านอาจเจอเจ้ากรรมนายเวรมาทวงหนี้กรรมเหมือนกับข้าพเจ้าก็ได้ ตอนแรก ข้าพเจ้ารู้สึกเคืองแค้นคู่กรณีอย่างรุนแรง โดยแต่งกาพย์ยานี 11 เพื่อระบายความแค้นและสาปแช่งผู้ที่ทำให้ข้าพเจ้าเสียหาย ต่อมา ข้าพเจ้าได้เข้าวัดปฏิบัติธรรมและพบกัลยาณมิตร ช่วยแนะนำให้ “อโหสิกรรม” ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติตามและพบว่า ข้าพเจ้ามีจิตใจดีขึ้นอย่างมาก และสามารถทำงานได้ตามปกติ ข้าพเจ้าได้แต่งกลอนสุภาพทับกาพย์ยานี 11 ที่แต่งก่อนหน้านี้ทีละบรรทัดจนครบถ้วน ข้าพเจ้าอยากจะขอให้ทุกท่านอย่าได้พยาบาท จองเวรกับเจ้ากรรม นายเวรเลย โดยขอมอบบทกลอนดังกล่าวไว้ในความทรงจำของท่านด้วย
อโหสิกรรม
อโหสิกรรม นำใจ ให้สร่างโศก ดลทุกข์ใด ในโลก แทบดับสูญ
ปัดเป่า บรรเทา ความอาดูร เพิ่มพูน หทัย ใฝ่พระธรรม
ข้าฯนี้ มีบาป แต่ปางก่อน แรมรอน ย้อนมา ซัดกระหน่ำ
เจ็บปวด รวดร้าว คราวเคราะห์กรรม ใครทำ ใครก่อ พอกันที
เหตุเพราะ หลงใหล ในความโลภ จิตมัวเมา ละโมบ อย่างเต็มที่
จนเสียหาย เกือบมลาย วายชีวี ดวงฤดี หม่นหมอง นองน้ำตา
โชคดี กัลยา มหามิตร มาดลจิต น้อมธรรม นำรักษา
ชี้แจง แสดงเหตุ แห่งปัญญา เพียรหา ความจริง ทำสิ่งดี
ชาติก่อน เคยก่อ กรรมเอาไว้ จึงต้อง ชดใช้ ในวิถี
เจ้ากรรม ปรารถนา มาราวี ทวงหนี้ ติดค้าง ไม่ห่างกาย
ข้าฯทน กล้ำกลืน ฝืนยิ้ม ใจถูก แทงทิ่ม แทบสลาย
ระกำ ช้ำชอก จวนเจียนตาย มิคลาย หายเศร้า เฝ้าอกตรม
ใครหนอ ขอช่วย อำนวยสุข ผ่อนปรน ความทุกข์ ที่ขื่นขม
เสริมสร้าง ปัญญา ให้กล้าคม ขจัด ความโง่งม ให้จมลง
ข้าฯขอ น้อมนำ คำพระสอน ปฏิบัติ ขั้นตอน ตามประสงค์
ทำดี ละชั่ว อย่างมั่นคง ดำรง ชีวิต พิชิตมาร
อีกทั้ง ขัดเกลา เผากิเลส กำหนดเหตุ ปัจจัย ในสังขาร
ประพฤติธรรม ค้ำจุน หนุนตามกาล ทำทาน ถือศีล จนสิ้นบุญ
เจริญ อานา ปานสติ เลิกทิฐิ มานะ ละหมกมุ่น
สวดมนต์ อธิฐาน พุทธคุณ การุญ เมตตา สาธุชน
ขอเลิก จองเวร ทุกภพชาติ ขออำนาจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สัมฤทธิ์ผล
ขอกำจัด ตัดกรรม ในกมล ให้ไกลพ้น ไปลับ อย่ากลับคืน
คำแช่งด่า ที่ข้าฯ เคยสบถ ขอจงหมด ปลดไป ไม่ขัดขืน
ขอเจ้ากรรม นายเวร อายุยืน สุขสดชื่น ปลอดภัย ไร้โรคา
ขออย่า มีเวร ต่อกันอีก ขอปลีก วิเวก เสกคาถา
ขอแสงธรรม ส่องรู้ สู่ดวงตา มองเห็น มรรคา พานิพพาน
ขอข้าฯมี ชีวิต ที่ราบเรียบ สงบเงียบ กายใจ ไม่พลุกพล่าน
ขอบรรลุ มรรคผล โพธิญาณ ข้ามพ้นผ่าน สงสาร ธารนที…..
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น