ก่อนถึงวันขึ้นปีใหม่เพียง 2 วัน ข้าพเจ้าต้องตกใจเมื่อได้รับทราบข่าวการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ของเพื่อนผู้ร่วมงานคนหนึ่ง เธอเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวโดยสามีเป็นคนขับเพื่อไปเฉลิมฉลองปีใหม่ที่บ้านเกิด ณ จังหวัดกาญจนบุรี นึกไม่ถึงว่าการเดินทางครั้งนี้จะเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของชีวิตเธอ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกหดหู่ และเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า “ คนเราเกิดมาทำไม? ในเมื่อทุกคนก็ต้องตาย…สักวันหนึ่ง ”
ในวันขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้ายังพบเรื่องอันชวนสลดใจซ้ำขึ้นมาอีก ซึ่งเกิดมาจากภาวะรกเกาะต่ำ ความเป็นมา คือ เมื่อ 8 เดือนก่อนคุณกัลยาได้มาหาข้าพเจ้าที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เธอเป็นคนไข้มีบุตรยากที่แต่งงานมานานถึง 5 ปี โชคดีที่เพียงครั้งแรกที่ฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูก คุณกัลยาก็ตั้งครรภ์สมความตั้งใจ ช่วงไตรมาสแรก เธอมีปัญหาเรื่องเลือดออกกะปิดกะปรอยอยู่เรื่อยๆ แต่การตั้งครรภ์ยังคงดำเนินไปได้ดี
พออายุครรภ์ 16 สัปดาห์ คุณกัลยามีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติมากขึ้น ข้าพเจ้าได้ให้คำวินิจฉัยเบื้องต้นว่า เป็นแท้งคุกคาม และให้ฉีดยากันแท้ง ( Proluton depot ) ทุกสัปดาห์ ถึงแม้เธอจะไม่ได้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่ข้าพเจ้าได้เตือนคุณกัลยาว่า ต้องระวังภาวะรกเกาะต่ำ ไว้ด้วย ภาวะนี้มีอันตรายกว่า แท้งคุกคามอย่างมากมาย
ตอนอายุครรภ์ 22 สัปดาห์ คุณกัลยามีเลือดออกมาอีก คราวนี้เลือดออกมากกว่าครั้งแรกและได้รับการวินิจฉัยอย่างแน่ชัดว่าเป็นภาวะรกเกาะต่ำ เพราะมีเลือดออกจากช่องคลอดขณะนอนพักผ่อน ( Painless bleeding ) และเมื่อยืนยันด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง ก็พบว่า รกเกาะด้านล่างตั้งแต่ส่วนกลางของมดลูกเรื่อยลงมาจนถึงขอบรก ( Placenta previa marginalis ) ข้าพเจ้ายังคงอนุญาติให้คุณกัลยาพักรักษาตัวที่บ้าน เพียงแต่งดการมีเพศสัมพันธ์และการทำงานทุกชนิดที่ต้องใช้แรง นอกจากนั้นยังให้รับประทานยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อป้องกันการแข็งตัวของมดลูก ( Bricanyl ) ด้วย ซึ่งคนไข้ปฏิบัติตามเป็นอย่างดี ทำให้ไม่เคยมีเลือดออกจากช่องคลอดอีกเลยจนกระทั่งกลางเดือนธันวาคมขณะอายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ คุณกัลยาตกเลือดขณะพักผ่อนเป็นครั้งที่ 2 ( Second episode ) เธอเล่าว่า ‘ ต้องใช้ผ้าอนามัย ถึง 4 ผืนเต็มๆ ( ~ 300 ซี.ซี.) ’ ข้าพเจ้าได้ให้คุณกัลยาพักรักษาตัวและสังเกตอาการที่โรงพยาบาล เธออยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลานานถึง 5 วัน อาการเลือดออกทางช่องคลอดจึงสงบหายไป อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าได้เตือนคุณกัลยาถึงการดูแลตนเองว่า ‘ การนอนบนเตียงเฉยๆ โดยไม่ทำอะไรเลย ยกเว้นการเข้าห้องน้ำ นั่นคือ การรักษาภาวะรกเกาะต่ำ ยาคลายกล้ามเนื้อมีส่วนช่วยบ้างแต่ไม่ใช่การรักษาหลัก ’
กลางดึกของวันขึ้นปีใหม่ ขณะที่ผู้คนกำลังหลับไหลภายหลังเฉลิมฉลองความสุข คุณกัลยาได้มีเลือดไหลออกมาจากช่องคลอดตอน 3 นาฬิกาของเช้าวันใหม่ คราวนี้ไม่เหมือนกับทุกๆครั้งที่ผ่านมาเพราะมีอาการเจ็บครรภ์ร่วมด้วย อาการเจ็บครรภ์นั้น ถือเป็น สัญญาณที่ไม่ดีของภาวะนี้
เนื่องจากเป็นช่วงเวลาดึก คุณกัลยาคงกลัวจะรบกวน จึงไม่ได้โทรศัพท์ติดต่อข้าพเจ้าในทันที เธอได้ลองรับประทานยาคลายกล้ามเนื้อเข้าไปก่อนแล้ว แต่อาการเจ็บครรภ์ไม่ดีขึ้น จึงได้ติดต่อข้าพเจ้าในตอนเช้าประมาณ 6 นาฬิกา ซึ่งบางที ช่วงระยะเวลา3- 4 ชั่วโมงที่ผ่านล่วงมา โดยไม่ได้รับการรักษาที่พอเพียง อาจมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการตั้งครรภ์ครั้งนี้
8 นาฬิกาเศษ คุณกัลยาเดินทางมาถึงโรงพยาบาลและได้รับการฉีดยายับยั้งการแข็งตัวของมดลูกทันที การแข็งตัวของมดลูกเลื่อนห่างออกไปจากทุกๆ 5 นาที เป็น 10 และ 20 นาทีตามลำดับ ข้าพเจ้าได้มาเฝ้าและพูดคุยให้กำลังใจคุณกัลยาจนถึงประมาณ 12 นาฬิกา เมื่อเห็นว่า อาการเจ็บครรภ์ลดลงอย่างมากแล้ว จึงได้กล่าวเตือนคุณกัลยาอีกครั้งว่า ‘ ภาวะรกเกาะต่ำนั้นมีความน่ากลัวและอันตรายอย่างยิ่ง อย่าได้ประมาทเป็นเด็ดขาด การปฏิบัติตัวของคนไข้ ถือว่า เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการรักษา แม้คราวนี้จะผ่านพ้นวิกฤตไปได้ แต่ไม่แน่…. คราวหน้าอาจไม่โชคดีเหมือนคราวนี้ ’ ข้าพเจ้าพูดออกมาเพราะนึกว่า คุณกัลยาได้ผ่านวิกฤตการณ์ไปแล้ว
พอขับรถใกล้จะถึงบ้าน วิทยุติดตามตัวของข้าพเจ้าได้ดังขึ้นและขอให้โทรศัพท์กลับไปที่ห้องคลอดด่วน ข้าพเจ้าคิดในใจว่า คงเกิดเรื่องไม่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
จริงดั่งคาด พยาบาลห้องคลอดพูดว่า “ หมอ! มดลูกของคุณกัลยากลับมาแข็งตัวถี่ขึ้นอีกครั้ง ที่สำคัญ คือ มีมูกเลือดออกมาทางช่องคลอดด้วย หมอรีบมาดูหน่อย ”
“ สงสัยปากมดลูกจะเปิด ช่วยเตรียมคนไข้ตรวจภายในที่ห้องผ่าตัดให้ด้วย ผมจะเข้าไปเดี๋ยวนี้ ” ข้าพเจ้าพูดตอบทางโทรศัพท์
คุณกัลยาถูกส่งไปยังห้องผ่าตัดและอยู่ในท่าขึ้นขาหยั่งรอตรวจ ข้าพเจ้าใช้เครื่องมือถ่างขยายปากช่องคลอด ( Speculum ) พบว่า มีเลือดอยู่ภายในช่องคลอดไม่มากนัก และเห็นปากมดลูกเปิดเล็กน้อย ข้าพเจ้าใช้มือตรวจภายใน พบว่า ปากมดลูกเปิด 3 เซนติเมตร ความบาง 100 % ข้าพเจ้าคะเนว่า หากปากมดลูกเปิดเพียง 6-7 เซนติเมตร เด็กคงจะคลอดออกมา เพราะอายุครรภ์ขณะนี้ 29 สัปดาห์ ทารกน่าจะมีน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัมเศษๆ
ข้าพเจ้าตัดสินใจบอกกับคุณกัลยาและสามีว่า “ ปากมดลูกเปิดมากขนาดนี้และมดลูกแข็งตัวทุก 3 นาที เราคงไม่สามารถจะยับยั้งการคลอดต่อไปได้อีก หากปล่อยไว้เช่นนี้อีกสัก 2-3 ชั่วโมง ปากมดลูกเปิดเพียง 6-7 เซนติเมตร คุณกัลยาคงคลอดบุตรออกมาทางช่องคลอดแน่ เพราะ เด็กตัวเล็กมาก ปัญหาคือ รกที่เกาะต่ำลงมาบริเวณขอบรก ( Placenta marginalis ) นั้น จะทำให้มีการฉีกขาดของมดลูกส่วนล่างบริเวณที่รกเกาะ เนื่องจากรกที่เกาะแน่นตรงนั้นจะลากเอาเนื้อมดลูกบางส่วนลอกออกมาด้วย ประกอบกับมดลูกส่วนล่างมีการหดรัดตัวได้ไม่ดีเท่ากับมดลูกส่วนบน ผลคือ เลือดจะออกไม่หยุด และเนื่องจากหลังคลอดมดลูกจะหดตัวเล็กลงเหลือขนาดเท่าลูกส้มโอ ซึ่งเราไม่สามารถผ่าตัดเข้าไปเปิดมดลูกส่วนล่างเพื่อเย็บจุดเลือดออกได้ เมื่อถึงเวลานั้น วิธีเดียวที่จะหยุดเลือด คือ ตัดมดลูก ผมจึงอยากแนะนำว่า ผ่าตัดคลอดเดี๋ยวนี้เลย จะได้ประโยชน์มากกว่า สำหรับเรื่องเด็กคงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกุมารแพทย์ ”
ที่ห้องผ่าตัด ข้าพเจ้าทำการผ่าตัดคลอดด้วยความระมัดระวัง พอเข้าสู่ตัวมดลูก ก็ทำคลอดเอาเด็กออกมาอย่างนุ่มนวล สังเกตว่า น้ำคร่ำมีสีเขียวอ่อนๆ แสดงว่า ทารกเริ่มมีการขาดออกซิเจน ลูกคุณกัลยาเป็นเพศหญิง ตัวค่อนข้างเล็ก แต่ร้องทันทีที่คลอดออกมา ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจและรีบส่งเด็กต่อให้กับกุมารแพทย์
จากนั้น ข้าพเจ้าค่อยๆทำคลอดรกที่อยู่ทางด้านล่างของมดลูก ซึ่งเกาะตั้งแต่บริเวณกลางๆเรื่อยลงมาจนถึงขอบมดลูกส่วนล่างพอรกคลอดเรียบร้อย ข้าพเจ้าได้สำรวจดูมดลูกส่วนล่าง พบว่า มีจุดเลือดออกที่รุนแรงอยู่ 2 ตำแหน่ง จึงเย็บเป็นลักษณะรูปเลขแปดเพื่อรัดเส้นเลือดทั้งสองตำแหน่งและได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ทุกสิ่งทุกอย่างของการผ่าตัดผ่านไปด้วยความเรียบร้อยโดยไม่มีปัญหา แต่…ยามที่คนเรามีเคราะห์ร้าย ใช่ว่าเคราะห์ร้ายมันจะหยุดลงง่ายๆ ……………….
17 นาฬิกาเศษของวันนั้น ขณะที่ข้าพเจ้าอยู่บ้าน พยาบาลที่ห้องสังเกตอาการได้โทรศัพท์ติดต่อบอกกับข้าพเจ้าว่า “ คุณกัลยาท้องอืดมาก ไม่รู้ว่าเป็นจากอะไร หมอจะให้ทำยังไง ”
“ หมอดมยาที่นั่นว่ายังไง? สงสัยอะไร? แต่ผมคิดว่า ไม่น่าจะมีเลือดออกในช่องท้อง เพราะผมผ่าตัดด้วยความระมัดระวังอย่างมาก ” ข้าพเจ้าตอบกลับ
“ คิดว่า ไม่ใช่เลือดออกในช่องท้องหรอกคะ คงเป็นลมมากกว่า เพราะท้องอืดมากๆเลย แต่ความดันโลหิตปกติ ” พยาบาลคนดังกล่าวพูดต่อ
“ อ๋อ อย่างนั้นคงเป็น Acute gastric dilatation ช่วยบอกหมอดมยาให้ใส่ท่อระบายก๊าซและของเหลวทางรูจมูก ( Naso-gastric tube; NG tube ) เดี๋ยวนี้เลย เออ! คุณกัลยาเพิ่งกินข้าวไปตอน 10 โมงเช้า ช่วยแจ้งให้หมอดมยาทราบด้วยนะ ” ข้าพเจ้าชี้แจงถึงสาเหตุที่น่าจะเป็น เพื่อแจ้งให้วิสัญญีแพทย์ช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาข้างต้น
เวลาผ่านไปประมาณครึ่งชั่วโมง ข้าพเจ้าโทรศัพท์กลับไปถาม ได้รับคำตอบว่า อาการต่างๆของคุณกัลยาดีขึ้นแล้ว ดังนั้นข้าพเจ้าจึงบอกกับพยาบาลว่า “ ผมคงจะเข้าไปดูคุณกัลยาอีกที ตอน 3 ทุ่ม ”
ประมาณ 20 นาฬิกา ข้าพเจ้าได้รับเรียกผ่านวิทยุติดตามตัวให้โทรศัพท์กลับไปยังห้อง ไอ. ซี. ยู. ทารกแรกเกิด ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจและสังหรณ์ว่า จะมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นจริงดังคาด เพราะประโยคแรกที่กุมารแพทย์พูด คือ “ หมอ! ลูกคุณกัลยาได้เสียชีวิตแล้วเมื่อสักครู่นี้เอง ”
“ อะไรนะ!……. ลูกคุณกัลยาเสียแล้วจริงๆหรือครับ? สาเหตุเพราะอะไรครับ? ” ข้าพเจ้าทวนคำพูดและถาม
“ เด็กมีเลือดออกในปอด พวกเราพยายามช่วยกันอย่างเต็มที่ ตั้งแต่เด็กคลอดออกจากห้องผ่าตัด ถึงตอนนี้ดิฉันยังไม่ได้รับประทานข้าวเลย บางที เด็กอาจมีเลือดออกในสมองร่วมด้วยซ้ำ ” กุมารแพทย์พูดเหตุผล
“ โอ้โห! ผมนึกไม่ถึงจริงๆว่าจะเป็นแบบนี้ ตอนที่คลอดออกมาก็เห็นเด็กร้องดี เฮ่อ! ( ถอนหายใจ )..ผมตกใจมากจริงๆนะครับยังงันเดี๋ยวผมจะรีบเข้าไปโรงพยาบาล รอผมสักครู่นะครับ ผมอยากทราบรายละเอียด ” ข้าพเจ้าผละออกจากงานที่ทำอยู่ รีบเดินทางเข้าไปโรงพยาบาลเพื่อพูดคุยกับกุมารแพทย์และคุณกัลยา
พอไปถึงและได้พูดคุยกับกุมารแพทย์ จึงได้ทราบว่า ลูกคุณกัลยามีปัญหาเรื่องการหายใจและมีเลือดออกจากสายดูดเสมหะตั้งแต่แรก กุมารแพทย์ได้ใส่ท่อช่วยหายใจและบีบลมช่วยเหลือการหายใจมาตลอด ลูกคุณกัลยามีอาการแย่ลง ความดันโลหิตต่ำและหยุดหายใจไป 3- 4 ครั้ง จนกระทั่งครั้งสุดท้ายเมื่อเวลาประมาณ 20 นาฬิกา การเต้นหัวใจของลูกคุณกัลยาก็ไม่สามารถกลับคืนมาได้
จากนั้น ข้าพเจ้าได้เข้าไปเยี่ยมคุณกัลยาด้วยจิตใจที่หดหู่อย่างมาก พูดจาแต่ละประโยคเหมือนลิ้นจุกปาก ข้าพเจ้าแสดงความเสียใจต่อการจากไปของลูกคุณกัลยา แต่ไม่เท่านั้น….ยังมีปัญหาหนักที่รออยู่อีก คือ 1. คุณกัลยามีไข้สูงกว่า 39 องศา และสูงลอยลักษณะเป็นฟันปลาแม้จะฉีดยาลดไข้ให้ 2. ปัญหาท้องอืด จากการที่กระเพาะลำไส้โป่งพอง จนต้องใส่ท่อระบายของเหลวและก๊าซอยู่ตลอดเวลา
ปัญหาแรก ข้าพเจ้าได้ปรึกษาอายุรแพทย์ให้มาช่วยดูแล โดยให้ข้อมูลในเรื่องที่คุณกัลยารับประทานอาหารก่อนผ่าตัดเพียง 3 ชั่วโมง อันอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคปอดอักเสบจากการสำลัก ( Aspirated pneumonia ) แต่อายุรแพทย์สงสัยว่าน่าจะเกิดภาวะปอดแฟบ ( Atelectasis ) จึงได้ให้ยาฆ่าเชื้ออย่างเต็มที่ พร้อมกับแนะนำให้คุณกัลยาเป่าลมเพื่อขยายปอด ไข้สูงลอยอยู่2 วันก็ค่อยๆลงจนกลับสู่ปกติในวันที่ 4 หลังผ่าตัด
สำหรับปัญหาเรื่องท้องอืด ข้าพเจ้าได้ปรึกษาศัลยแพทย์มาช่วยดูแล ศัลยแพทย์วินิจฉัยเป็นภาวะลำไส้หยุดทำงานและโป่งพอง( Paralytic Ileus ) การรักษาที่ให้ คือ ยังคงให้คาท่อระบาย ( NG tube )ในกระเพาะเหมือนเดิมจนกว่า ของเหลวที่ออกมาจะน้อยกว่า 150 มิลลิลิตรต่อวัน นอกจากนั้น ยังใส่เพิ่มเติมโปรแตสเซี่ยม ( KCL ) ด้วยปริมาณที่เหมาะสม เข้าไปในน้ำเกลือ เพื่อช่วยให้ลำไส้กลับมาทำงานเร็วขึ้น ซึ่งคุณกัลยาสามารถฟื้นตัวจนถอดท่อระบาย ( NG tube )ได้ในวันที่ 4 หลังผ่าตัด
คุณกัลยาพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 7 วัน ข้าพเจ้าจึงอนุญาติให้กลับบ้านได้ อีก 1 สัปดาห์ต่อมา เธอได้มาตรวจแผลผ่าตัดกับข้าพเจ้า ซึ่งไม่พบมีปัญหาใดๆหลังผ่าตัด คุณกัลยา บอกว่า “ หนูกลัวว่า จะเกิดแบบนี้อีก ”
“ ภาวะรกเกาะต่ำอาจเกิดซ้ำได้ แต่ไม่บ่อยนัก คิดเป็นอัตราร้อยละ 4 - 8 เท่านั้น การตั้งครรภ์แต่ละครั้งย่อมแตกต่างกัน อย่ากลัวเลย รอให้เวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งก่อนประมาณสักปี แล้วค่อยตั้งครรภ์ใหม่ คิดว่า ไม่น่าจะเป็นอะไร เราไม่ควรมองโลกในแง่ร้าย ” ข้าพเจ้าพูดอธิบายถึงอุบัติการณ์การเกิดซ้ำของภาวะรกเกาะต่ำให้ฟัง
เมื่อครบกำหนดตรวจหลังคลอด คุณกัลยาได้มาตรวจร่างกายตามนัด ซึ่งก็ไม่มีความผิดปกติอะไร ข้าพเจ้ายังคงให้กำลังใจและสนับสนุนให้เธอตั้งครรภ์ใหม่ แต่…คงต้องรอให้เมฆหมอกแห่งความโศกเศร้าสลายไปเสียก่อน ใช่แล้ว! การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักย่อมเป็นทุกข์ ดังนั้น ทุกวันเวลา เราจึงไม่ควรตกอยู่ในความประมาท………..
หรือว่า เรื่องราวต่างๆในชีวิตของคนเรา ได้ถูกลิขิตไว้แล้ว…………….
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น