03 ธันวาคม 2559

ภาวะน้ำคร่ำเกิน

ภาวะน้ำคร่ำเกิน ( Polyhydramnios )

การเดินทางเยือนยุโรปของข้าพเจ้าเมื่อเดือนก่อน ทำให้ข้าพเจ้าเกิดจินตนาการหลากหลาย มนุษย์เรานี้ ช่างมีความสามารถพิเศษอย่างหาที่สุดมิได้ แต่ก็มีความโหดร้ายอย่างมากมาย เช่นกัน หากใครได้ไปเห็นสิ่งปลูกสร้างที่มหานครเวียนนา กรุงปรากและเมืองบูดาเปสแล้ว ก็จะเห็นด้วยว่า จินตนาการในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมต่างๆนั้น ช่างวิจิตรบรรจงจริงๆ   แต่....สิ่งสิ่งปลูกสร้างที่เห็นนี้ เป็นเพียง ซากแห่งอริยธรรมที่หลงเหลือจากการทำลายด้วยน้ำมือมนุษย์เท่านั้น คงไม่มีวัน ที่คนยุคปัจจุบันจะเนรมิตขึ้นมาได้อีก

วันนี้ คุณศศิธร มาตรวจหลังคลอด  พอเห็นหน้า  ข้าพเจ้าก็นึกถึงเรื่องราวของภาวะน้ำคร่ำเกิน ( Polyhydramnios ) ที่เกิดขึ้นกับเธอ  ความหมายของภาวะน้ำคร่ำเกิน คือ การที่คนท้องมีน้ำคร่ำมากกว่า 2-3 ลิตร  ซึ่งมีอุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 1 ของสตรีตั้งครรภ์  แต่จากประสบการณ์ของข้าพเจ้า  เราไม่พบจำนวนมากขนาดนั้น  นานๆจะพบสักรายหนึ่ง ที่สำคัญ คือ จำนวน 1 ใน 3 มีความสัมพันธ์กับทารกพิการ, โรคเบาหวานในมารดา และ ครรภ์แฝด

 คุณศศิธร อายุ 41 ปี ตั้งครรภ์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2  หลังจากแท้งบุตรเองเมื่อ 1 ปีก่อนขณะท้องได้ 3 เดือน  ประวัติการฝากครรภ์ของเธอนั้นมีมากมาย เนื่องจากคุณศศิธรมาฝากครรภ์ตั้งแต่ 7 สัปดาห์ และมาตรวจตามนัดทุกครั้ง ตอนอายุครรภ์ 14 สัปดาห์ เธอได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์ พบว่า ทารกมีขนาดเท่ากับอายุครรภ์  มีรกเกาะทางด้านหลังและปริมาณน้ำคร่ำปกติ พออายุครรภ์ 16 สัปดาห์ คนไข้ได้รับการแนะนำให้เจาะน้ำคร่ำ เนื่องจากอายุเกิน 35 ปี แต่เธอปฏิเสธ

การปฏิเสธการเจาะน้ำคร่ำครั้งนี้ ส่งผลให้คุณศศิธรต้องพบกับเหตุการณ์อันไม่น่าพิสมัยในช่วงปลายของการตั้งครรภ์และหลังคลอด ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า การเจาะน้ำคร่ำนั้น  คุ้มค่ากับการเสี่ยงหรือไม่?  

การเจาะน้ำคร่ำ ( Amniocentesis ) คือการใช้เข็มขนาดยาวประมาณ 5  นิ้วเจาะผ่านผนังหน้าท้องทะลุเข้าไปในมดลูกและถุงน้ำคร่ำ แล้วดูดนำเอาน้ำคร่ำประมาณ 20 มิลลิลิตร ออกมาส่งตรวจเพื่อเพาะเลี้ยงและศึกษาโครโมโซม ( หน่วยพันธุกรรมของมนุษย์ ) ว่า มีความผิดปกติหรือไม่ หากผิดปกติ  ก็ทำแท้งเอาทารกพิการออกมาแต่เนิ่นๆ โดยไม่ต้องรอให้ความพิการปรากฏแล้วค่อยมาแก้ไข ซึ่งจะเกิดความยุ่งยากค่อนข้างมาก  การเจาะน้ำคร่ำ ใช่จะมีแต่ข้อดี ข้อเสียก็มีไม่ใช่น้อย เช่น แท้งบุตร  มดลูกติดเชื้อ  ถุงน้ำคร่ำรั่ว  ปลายเข็มแทงถูกร่างกายทารก หรือแม้กระทั่งทารกตาย ก็มีมาแล้ว  ซึ่งอัตราการตายของทารกจากการเจาะน้ำคร่ำพบได้ประมาณ 1 ต่อ 260  หรือ 0.5%   

คุณศศิธรปฏิเสธการเจาะน้ำคร่ำ Amniocentesis ) หลังจากได้รับทราบข้อดีข้อเสียของการเจาะน้ำคร่ำ  ซึ่ง....เธอยินยอมที่จะเสี่ยงกับผลเสียที่อาจเกิดขึ้น การเติบโตของครรภ์คุณศศิธรเป็นตามปกติ น้ำหนักของเธอขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ตอนอายุครรภ์ 27 สัปดาห์  คุณศศิธรได้รับการเจาะเลือดทดสอบภาวะเบาหวานด้วยการให้กินน้ำตาล 50 กรัม แล้วเจาะเลือดหลังจากนั้น 2 ชั่วโมง ผลปรากฏว่า เธอไม่มีความเสี่ยงต่อภาวะเบาหวาน 

เหตุการณ์ที่น่าสนใจเริ่มขึ้นตอนอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ เมื่อพยาบาลห้องฝากครรภ์ตรวจพบว่า ยอดมดลูกของคุณศศิธรอยู่สูงถึงยอดอก ( 4/4 เหนือระดับสะดือ )  แต่เนื่องจากตอนนั้น ไม่ได้มีการปรึกษาสูติแพทย์  ทุกสิ่งทุกอย่างจึงผ่านไป โดยไร้การสืบค้นถึงสาเหตุ  พออายุครรภ์ 37 สัปดาห์  คนไข้มีอาการอึดอัดแน่นท้องมาก จึงมาตรวจที่แผนกฉุกเฉิน แพทย์เวรได้ตรวจอัลตราซาวนด์ และได้ให้การวินิจฉัยเบื้องต้นว่า  เธอเป็นภาวะน้ำคร่ำเกิน ( polyhydramnios ) หลังจากอธิบายให้คนไข้เข้าใจแล้ว  ก็ให้คนไข้กลับบ้าน

เวลายังคงผ่านไป หลังจากนั้น คุณศศิธรก็ได้รับคำแนะนำจากสูติแพทย์ที่แผนกฝากครรภ์มาโดยตลอดว่า ทารกอาจมีปัญหาความพิการ ซึ่งคณะแพทย์ผู้ดูแลกำลังปรึกษากันว่า จะทำอย่างไรต่อไปดี พออายุครรภ์ได้ 42 สัปดาห์ คุณศศิธรได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์เป็นครั้งที่ 5... ระหว่างที่ดูอัลตราซาวนด์  สูติแพทย์ 3 ท่านพยายามตรวจอย่างช้าๆ เพื่อค้นหาความผิดปกติจากตัวทารก และปรึกษาหารือกันเพื่อหาทางออก 

“ ส่วนหัวของลูกคุณศศิธรโตไปตามปกติ ( ครบกำหนด ) แต่อายุครรภ์เมื่อเทียบกับกระดูกขา ( Femur) และเส้นผ่าศูนย์กลางรอบท้อง ( Abdominal circumference) เทียบได้เพียงอายุครรภ์ 33 สัปดาห์ กระเพาะปัสสาวะของลูกคุณมีน้ำปัสสาวะอยู่ภายใน แสดงว่า ไตทำงานได้ดี  แต่..ที่พวกเราพยายามสังเกต คือ ส่วนกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งพบว่า มีอากาศและเศษอาหารอยู่ภายใน แสดงว่า  หลอดอาหาร ซึ่งติดต่อกับกระเพาะ และลำไส้ น่าจะไม่ตัน หรือหากจะตัน ก็เป็นเพียงบางส่วน ( partial obstruction )  อย่างไรก็ตาม การที่มีน้ำคร่ำจำนวนมากเช่นนี้ อาจหมายถึงลูกของคุณมีความพิการแต่กำเนิด พรุ่งนี้ เราจะทำการผ่าตัดคลอดให้ หากมีสิ่งที่เกินความคาดหมาย คุณก็ต้องเตรียมใจไว้ด้วย ”  ข้าพเจ้าและสูติแพทย์อีก 2 ท่านช่วยกันพูดกับคุณศศิธร ซึ่ง นั่นคือ ความจำเป็นที่จะต้องบอกกับคนไข้ตั้งครรภ์ทุกคนให้ทราบ ก่อนเวลาที่คาดว่า จะเกิดเรื่องเลวร้ายขึ้นเสมอ วันนั้น คุณศศิธรได้รับการตรวจสภาพทารกด้วยการวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจเด็กโดยไม่ได้รับกระตุ้นใดๆ ( Non stress  test   ซึ่งลูกคุณศศิธรตอบสนองได้ดี ไม่มีปัญหา ( Reactive)  สำหรับข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดครั้งนี้ คือ แม่อายุมากตั้งครรภ์แรก อายุครรภ์เกินกำหนดและภาวะน้ำคร่ำเกิน ( Old age pregnancy with postterm and  polyhydramnios 

ที่ห้องผ่าตัด  ทุกคนทั้งพยาบาลและกุมารแพทย์ได้เตรียมการณ์อย่างเต็มที่ ข้าพเจ้าผ่าตัดลงมีดผ่านชั้นต่างๆของผนังหน้าท้องคนไข้ไปอย่างช้าๆ  พอถึงตัวมดลูก ก็กรีดมีดที่มดลูกส่วนล่างตามแนวขวางเหมือนการผ่าตัดคลอดทั่วๆไป  แต่...พอถุงน้ำคร่ำแตก  น้ำคร่ำก็ไหล เอ่อล้นออกมาอย่างมากมาย เหมือนน้ำที่ไหลหลากจากอุทกภัย ข้าพเจ้าใช้มือขวาล้วงเข้าไปในโพรงมดลูกและรีบคว้าจับขาข้างหนึ่งของลูกคุณศศิธรทันที  เพราะช่วงนั้นเด็กจะมีการเปลี่ยนแปลงท่าทางอยู่เรื่อยๆ  หากไม่รีบจับขาเด็กไว้ก่อน  เด็กอาจหมุนตัวจนกลายเป็นท่าขวางที่มีแผ่นหลังเป็นส่วนนำ Dorso- inferior ) ซึ่งเป็นอุปสรรคในการทำคลอดอย่างมาก  อย่างไรก็ตาม  ทารกน้อยได้รับการทำคลอดแบบท่าก้นอย่างปลอดภัย เมื่อข้าพเจ้าเห็นทารกน้อย และพิจารณาจากลักษณะภายนอก ก็นึกว่าปกติ จึงพูดออกมาด้วยความดีใจว่า “ โชคดีเหลือเกิน เด็กไม่พิการ ............”

แต่สักครู่หนึ่ง กุมารแพทย์ได้หันมาบอกกับข้าพเจ้าว่า “ ส่วนท้องของเด็กค่อนข้างแฟบ ( แบนราบ )  พอใส่สาย NG- tube เข้าไปในรูจมูก ปรากฏว่า สาย NG- tube เข้าไปในหลอดลม แสดงว่า เด็กมี T-E fistula เดี๋ยวผมจะส่งไปที่ ไอ. ซี. ยู. ทารกแรกเกิดนะครับ   ข้าพเจ้าพยักหน้า ตอบรับด้วยไม่สบายใจอย่างยิ่ง      

 ความผิดปกติที่หลอดอาหาร T – E fistula ) ของลูกคุณศศิธรตามที่กุมารแพทย์ว่านั้น เป็นความผิดปกติที่เกิดจาก หลอดอาหารส่วนล่างต่อเชื่อมกับท่อทางเดินหายใจเพียงบางส่วน ( Trecheo -Esophageal fistula , partial type 

ทำไม ข้าพเจ้าจึงบอกว่า หลอดอาหารต่อเชื่อมกับท่อทางเดินหายใจเพียงบางส่วน ทั้งนี้ก็เนื่องจากในกระเพาะอาหารของลูกคุณศศิธร มีอากาศ และลำไส้ก็มีของเสียอยู่ภายใน ( เห็นจากการดูด้วยอัลตราซาวนด์ )  หากหลอดอาหารต่อเชื่อมกับท่อทางเดินหายใจทั้งหมด ( complete type)  กระเพาะอาหารจะไม่มีอากาศ และลำไส้จะไม่มีของเสียอยู่ภายใน

3 วันถัดมา ลูกคุณศศิธรได้รับการผ่าตัดปิดรอยเชื่อมต่อระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะ โดยศัลยแพทย์  ข้าพเจ้าช่วยได้ก็แต่ภาวนาให้ทารกน้อยปลอดภัยเท่านั้น

ไม่น่าเชื่อ!! บัดนี้ เวลาผ่านไปกว่า 2 เดือนแล้ว  ทารกน้อยยังมีชีวิตอยู่ โดยไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ แต่ต้องได้รับน้ำเกลือและออกซิเจนทางจมูกตลอดเวลา ทารกมักนอนอยู่ในท่าขดตัว และมีการเคลื่อนไหวน้อยมาก  นัยน์ตาของหนูน้อยไร้แววแห่งความสดใส รูปร่างผอม ตัวเล็ก  มีน้ำหนักเพียง 2030 กรัม น้อยกว่าตอนแรกคลอด ( 2060 กรัม) เสียอีก 

สิ่งหนึ่ง ที่ทำให้ข้าพเจ้าไม่สบายใจอย่างยิ่งสำหรับลูกคุณศศิธร  คือ โครโมโซมของหนูน้อยจากการตรวจเลือดหลังคลอด เป็น Trisomy 18  นั่นหมายถึงว่า ลูกคุณศศิธร จะเติบโตเป็นเด็กปัญญาอ่อน และมีความผิดปกติอีกหลายอย่าง  ที่สำคัญ คือ อายุของเขาจะไม่ยืนยาว... หรืออาจยืนยาวได้ถึง 30 ปีหากไม่มีภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจเกิดขึ้นเลย ทั้งนี้ทั้งนั้นล้วนสร้างความลำบากใจอย่างมากให้กับพ่อแม่ผู้ดูแล 

หากว่า คุณศศิธรได้รับการเจาะน้ำคร่ำเมื่ออายุครรภ์ 16 สัปดาห์ เพื่อไปตรวจโครโมโซมของลูก  เรื่องราววันนี้คงไม่เกิดขึ้น  เพราะ...คุณศศิธรคงได้รับการทำให้ครรภ์สิ้นสุดไปแล้วด้วยวิธีการใด วิธีการหนึ่ง   

ธรรมชาติได้สร้างสิ่งมหัศจรรย์อย่างมากมาย  แต่ก็ซ่อนความเลวร้ายแทรกอยู่  มนุษย์เป็นสิ่งวิจิตรบรรจงที่สุดเท่าที่มีอยู่ในโลก แต่ก็มีความบกพร่องซ่อนไว้ หากมนุษย์มีญาณรู้ล่วงหน้าว่า  ใครจะเป็นคนพิการหรือชั่วร้ายโหดเหี้ยม  ก็คงมีการทำลายไปแล้วตั้งแต่อยู่ในครรภ์  แต่เมื่อเราให้เขากำเนิดมา  เราสมควรยอมเสียเวลาอบรมบ่มนิสัย เพื่อให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นสิ่งล้ำค่า  มิฉะนั้น เขาก็อาจกลายเป็นซากเดนของสังคม.........ด้วยเหตุที่.......สภาพแวดล้อมในปัจจุบันนั้น มีสิ่งเลวร้ายปนเปื้อนอยู่ค่อนข้างมาก............................

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เดินทางไปต่างประเทศ

เรียนท่านผู้อ่านที่เคารพรัก วันที่ 7 มีนาคม 2553 ข้าพเจ้าจะออกเดินทางไประเทศอินเดีย โดยมีกำหนดในเบื้องต้น 4 วัน คือจะกลับในวันที่ 10 ม...