3 เดือนแรกแห่งการตั้งครรภ์
ความคิดฝันอย่างหนึ่งของผู้หญิง คือ การได้เป็นแม่คน แต่จะมีผู้หญิงสักกี่คนที่รู้เรื่องการตั้งครรภ์อย่างเข้าใจ โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ว่าสำคัญอย่างไร 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ถือเป็นช่วงระยะเวลาที่สำคัญมาก เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ทารกสร้างอวัยวะใหญ่ๆ เมื่อพ้นจากอายุครรภ์ 3 เดือนไปแล้ว ทารกก็ยังมีการสร้างเสริมเพิ่มเติมอีกในส่วนรายละเอียดของอวัยวะ
หลายวันมานี้ มีกรณีคนไข้ตั้งครรภ์หลายคนที่มีปัญหาในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งจริงๆแล้ว ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นจนเคยชินสำหรับสูติแพทย์ แต่เป็นสิ่งที่สร้างความสะเทือนใจและเรื่องใหญ่สำหรับคนไข้ทีเดียว รายหนึ่ง มาโรงพยาบาลด้วยเรื่องปวดท้องน้อย คล้ายกับปวดระดู พอสอบถามถึงระดูครั้งสุดท้าย คนไข้บอกจำไม่ได้ แต่คาดว่า น่าจะขาดไปประมาณ 1 สัปดาห์ คนไข้ได้รับประทานยาขับเลือดไปมากพอสมควร โดยไม่รู้ว่า เธอตั้งครรภ์ เมื่อทานยาครบ 7 วันปรากฏว่า ระดูยังไม่มา เธอจึงมาปรึกษาแพทย์ พอได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอด ก็พบว่า เธอตั้งครรภ์ได้ 6 สัปดาห์เศษ คนไข้ถามว่า “ลูกจะเป็นอะไรไหม?” ข้าพเจ้าไม่รู้จะตอบอย่างไรดี และยังไม่ได้ให้การรักษาอะไร เพราะคนไข้ขอเวลาไปปรึกษากับสามีก่อน นี่คือ ตัวอย่างหนึ่งของคนไข้สตรีที่ไม่เคยวางแผนมาก่อนว่า จะตั้งครรภ์
อีกรายหนึ่ง ขาดระดูไป 3 เดือน เธอมาโรงพยาบาลด้วยเรื่องปวดเต้านมข้างซ้ายและคล้ายกับว่ามีก้อนเนื้ออยู่ข้างใน ก่อนหน้านั้น เธอได้ไปตรวจที่โรงพยาบาลอื่น หมอที่นั่นบอกว่า ต้องกินยาเพื่อให้ระดูมา เพราะตรวจปัสสาวะแล้วไม่พบมีการตั้งครรภ์ (negative pregnancy test) แต่คนไข้ยังไม่เชื่อ จึงขอมาตรวจการตั้งครรภ์ซ้ำที่โรงพยาบาลตำรวจ ผลปรากฏว่า เธอตั้งครรภ์จริงๆ (weekly positive) เมื่อตรวจดูด้วยอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ ก็พบเพียงเยื่อบุมดลูกหนาตัวขึ้นมา 1.8 เซนติเมตร หมายถึงว่า เธอเพิ่งจะเริ่มตั้งครรภ์ ไม่ใช่ 3 เดือนตามที่ขาดระดู นี่คือ ตัวอย่างหนึ่งของความสับสนเกี่ยวกับการตั้งครรภ์
นอกจากนั้น ยังมีคนไข้สตรีอีกหลายคนที่ตั้งครรภ์แล้วไม่มีตัวเด็กหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไข่ลม” หมายถึงส่วนที่จะเจริญเป็นตัวเด็กหยุดการเติบโตโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ส่วนที่จะเจริญเป็นรกยังเจริญเติบโตต่อไป เมื่อได้รับการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอด ก็เห็นเพียงถุงการตั้งครรภ์เปล่าๆ โดยไม่มีเงาเด็ก (Blighted ovum) อยู่ข้างใน นี่คือ ตัวอย่างหนึ่งของความโชคร้ายที่เกิดขึ้นได้ในช่วงการตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก
ค่ำวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีคนไข้สตรีรายหนึ่ง น่าสนใจมาก เธออายุ 21ปี เป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ชื่อ มิสซิส ลี คนไข้มาตรวจกับข้าพเจ้าด้วยเรื่องเลือดออกมากทางช่องคลอดขณะตั้งครรภ์ประมาณ 2 เดือน มิสซิส ลีจำระดูครั้งสุดท้ายไม่ได้แน่ชัด แต่เธอเพิ่งไปโรงพยาบาลเอกชนก่อนหน้านี้เพียงวันเดียว ด้วยเรื่องมีเลือดออกกะปิดกะปรอยมาหลายวัน หมอเอกซเรย์ได้ตรวจดูด้วยอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดให้กับเธอ พบว่า มิสซิส ลีตั้งครรภ์ โดยวัดเงาทารกได้เท่ากับขนาดอายุครรภ์ 7สัปดาห์ หัวใจเต้นดี ด้วยความเร็ว 140 ครั้งต่อนาที ตอนนั้น ข้าพเจ้าได้บอกกับมิสซิส ลีว่า จำเป็นต้องตรวจดูอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดอีกครั้ง เพราะไม่แน่ใจว่า ทารกยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งคนไข้ก็ยินยอม ผลปรากฏว่า ทารกได้เสียชีวิตแล้ว
ข้าพเจ้าอธิบายให้มิสซิส ลีและญาติที่มาด้วยกันฟังว่า คนไข้จำเป็นต้องได้รับการขูดมดลูกทันที มิฉะนั้น จะตกเลือดอย่างรุนแรงในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้ ญาติคนไข้บอกข้าพเจ้าว่า พวกเธอกำลังจะบินกลับไปประเทศมาเลเซียในวันถัดไปตอนหัวค่ำ จึงอยากให้ทำการขูดมดลูกเลย
ที่ห้องผ่าตัด ข้าพเจ้าไม่ได้คาดคิดว่า จะมีอะไรเกิดขึ้น เมื่อปูสะอาดผ้าคลุมที่ตัวคนไข้เรียบร้อย ข้าพเจ้าก็ให้พยาบาลช่วยสวนปัสสาวะทิ้งให้กับคนไข้ ตอนนั้น วิสัญญีแพทย์แย้งว่า “คนไข้เพิ่งถ่ายปัสสาวะมา” แต่ข้าพเจ้ายังคงยืนยันให้ทำตามที่สั่ง ผลคือ มีปัสสาวะค้างอยู่จริงๆจำนวนมาก ถึงแม้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ก็เป็นเรื่องที่ควรระมัดระวัง มิฉะนั้น อาจก่อปัญหาระหว่างที่ทำการขูดมดลูก เพราะกระเพาะปัสสาวะที่โป่งพองจะดันมดลูกจนสูงลอยขึ้นไป ทำให้ขูดมดลูกยากและเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการทำได้ง่าย
เมื่อทำความสะอาดช่องคลอดด้วยน้ำยาแล้ว ข้าพเจ้าลองใช้ก้านเหล็กเพื่อวัดความยาวของมดลูก ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณหลอดกาแฟแหย่เข้าไปในปากมดลูก ปรากฏว่า ก้านเหล็กนั้นไม่สามารถผ่านไปได้ ข้าพเจ้าเริ่มกังวลใจว่า จะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้
ข้าพเจ้าเริ่มสั่งการ “ขอเหล็กถ่างปากมดลูก (Hegar dilators)หน่อย” พยาบาลส่งเหล็กถ่างเบอร์ 8 ให้ พอลงมือปฏิบัติการ ข้าพเจ้าเริ่มอุทาน “ อุ๊ย!...ตายแล้ว.....ขอเบอร์เล็กกว่านี้อีก” และได้ขอเหล็กถ่างปากมดลูกเบอร์เล็กลงมาเรื่อยๆจนถึงเบอร์เล็กสุด หลังจากนั้น ข้าพเจ้าก็พูดอย่างท้อใจกับวิสัญญีแพทย์และพยาบาลรอบข้างว่า “ คงทำต่อไปไม่ไหว เพราะถ่างปากมดลูกไม่ได้”
ตอนนั้น ข้าพเจ้ายังไม่รู้จะทำอย่างไรดี การยกเลิกถือเป็นสิ่งที่ควรทำมากที่สุด ถ้าคนไข้เป็นคนไทย.....คงไม่เป็นไร เว้นแต่ต้องฟังคำบ่นติพ้อต่อว่า “รู้ว่าขูดไม่ได้ ทำไมถึงให้มาขูดมดลูก” ซึ่ง...เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ กรณีที่ปากมดลูกไม่เปิดเมื่อทารกเพิ่งเสียชีวิตใหม่ๆ ในคนไข้ท้อง 3 เดือนแรก สำหรับกรณีของมิสซิส ลี นั้น เธอเป็นคนต่างชาติและจะต้องขึ้นเครื่องบินโดยสารวันรุ่งขึ้น หากมีการตกเลือดบนเครื่องบิน คงไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่ ข้าพเจ้าลองใช้เหล็กถ่างปากมดลูกอยู่นานพอสมควร ก็ไม่สามารถผ่านปากมดลูกที่แข็งไปได้ ขณะที่กำลังจะยกเลิก ข้าพเจ้าก็ดันเหล็กถ่างปากมดลูกขนาดเบอร์เล็กที่สุดเข้าไปได้ จนเผลอพูดตะโกนออกมาว่า “Hegar(เหล็กถ่าง) เข้าได้แล้ว!!!.....ไม่ต้องยกเลิก” จากนั้น ก็ใช้เหล็กถ่างเบอร์ใหญ่ขึ้นๆขยายปากมดลูกต่อไปจนถึงเบอร์ 8 ข้าพเจ้าพูดกับพยาบาลผู้ช่วยเป็นเชิงอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “อันนี้แสดงว่า เกิดปากมดลูกหดเกร็ง(Cervical clamp) จึงสอดใส่เหล็กถ่างไม่ได้ นานๆจะเจอสักทีหนึ่ง แต่พอดมยาสักพัก...ปากมดลูกก็จะคลายตัวได้เอง ซึ่งต่างจากปากมดลูกตีบ เพราะจะถ่างปากมดลูกยากกว่านี้อย่างมาก และส่วนใหญ่จะถ่างไม่สำเร็จ กรณีอย่างนั้น ต้องยกเลิกการขูดลูกอย่างแน่นอน” คราวนี้ ข้าพเจ้าจึงขูดลูกของคนไข้อย่างง่ายดายและได้ชิ้นเนื้อออกมามากพอสมควร
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้นำมาประยุกต์ใช้กับครรภ์ “ไข่ลม” (Blighted ovum) ซึ่งพบบ่อยๆได้ ดังนี้ เมื่อวินิจฉัยได้ในครั้งแรกตอนอายุครรภ์ประมาณ 7 – 10 สัปดาห์ ข้าพเจ้าจะนัดคนไข้มาอีก 2 สัปดาห์ เพื่อมารับการตรวจดูด้วยอัลตราซาวนด์ซ้ำอีกครั้ง
ทำไมหรือ? ทำไมข้าพเจ้าไม่ทำการขูดมดลูกทันทีเหมือนกรณีมิสซิส ลี เหตุผล ก็คือ หนึ่ง ปากมดลูกมักจะยังแข็งและตีบอยู่ (Cervical stenosis) สอง คนไข้บางคนยังไม่แน่ใจว่า ลูกของเธอเสียชีวิตแล้ว หรือเป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่มีตัวเด็กเหมือนที่หมอวินิจฉัย คนไข้หลายคนจึงแวะเวียนไปตรวจกับสูติแพทย์ท่านอื่นอีกจนแน่ใจว่า เธอตั้งครรภ์“ไข่ลม” หรือทารกตายในครรภ์ คนไข้จึงยินยอมให้ขูดมดลูก สรุปแล้ว การเลื่อนเวลาออกไปและนัดมาตรวจซ้ำในอีก 2 สัปดาห์เป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะเมื่อถึงเวลานั้น ปากมดลูกมักอ่อนนุ่มและขยายเปิดออกได้ง่าย เนื่องจากเป็นธรรมชาติที่จะต้องขับเอาการตั้งครรภ์ที่ไม่สมบูรณ์ออกมา
ยังมีตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรกที่สำคัญและอันตราย นั่นคือ ภาวะ“ท้องนอกมดลูก” ในวันนี้ มีคนไข้สตรี 2 รายมาตรวจหลังได้รับการผ่าตัดในวันเดียวกันเมื่อเดือนก่อน ซึ่ง...รายหนึ่งถึงกับช็อกจากการเสียเลือดอย่างรุนแรงเข้าไปภายในช่องท้อง ส่วนอีกรายหนึ่งต้องผ่านการตรวจจากสูติแพทย์ถึง 4 โรงพยาบาลกว่าจะวินิจฉัยได้ว่า เป็นท้องนอกมดลูกและได้รับการผ่าตัดรักษาที่นี่
3 เดือนแรกแห่งการตั้งครรภ์ น่าจะเป็นช่วงเวลาสุขสันต์ที่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ แต่ก็อาจกลายเป็นฝันร้ายหากมีเรื่องไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น เช่น ทารกตายในครรภ์, ท้องนอกมดลูก, ท้อง”ไข่ลม” (Blighted ovum), ภาวะแทรกซ้อนจากการขูดมดลูก เช่น มดลุกทะลุ หรือแม้กระทั่งภาวะทารกพิการแต่กำเนิดจากการเผลอรับประทานยาที่เป็นอันตรายเข้าไป สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะสตรีเหล่านั้นโชคร้าย หรือ..ไม่ได้เอาใจใส่ตัวเองดีพอ หรือ..ขาดการวางแผนที่จะตั้งครรภ์ ดังนั้น เมื่อมีครอบครัว ทุกคนควรต้องเริ่มต้นศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ โปรดอย่ามองว่า การตั้งครรภ์เป็นเรื่องธรรมชาติ ที่ไม่จำเป็นต้องใส่ใจ โดยคิดว่า สิ่งที่เกิดแทรกซ้อนขึ้นมามักเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือ เราคงจะไม่โชคร้าย......
ขึ้นชื่อว่า มนุษย์ ย่อมถือว่า เป็นที่สุดแห่งสัตว์ทั้งหลาย และเป็นปฏิมากรเอกของโลกที่สรรสร้างมนุษย์รุ่นลูกหลานขึ้นมาได้อย่างวิจิตรพิสดาร สามเดือนแรกแห่งการตั้งครรภ์ก็เปรียบเสมือนกับสามเดือนแรกแห่งการสร้างประติมากรรมอันยิ่งใหญ่ หากไม่เตรียมการหรือวางแผนให้ดี ก็อาจทำให้ต้องยุ่งยาก ลำบากใจ และพร่ำบ่นด้วยความเสียดาย............
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น