03 ธันวาคม 2559

หมอไม่ใช่เทวดา

หมอไม่ใช่เทวดา

ช่วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ภายในโรงพยาบาลตำรวจ ได้เกิดเรื่องราวเกี่ยวกับคนไข้มากมาย ที่เหนือความคาดหมายและความสามารถของสูติแพทย์ หลายเรื่องได้สร้างความขุ่นเคืองให้กับคนไข้และญาติ   แต่หลายเรื่องก็จบลงด้วยดี….เรื่องราวเหล่านี้ได้ช่วยสะท้อนความเป็นจริงที่ว่า  ความสามารถของมนุษย์ มีขีดจำกัด  ไม่มีใครฝืนชะตาแห่งชีวิตได้

คุณสุธาทิพย์ คือคนไข้รายแรกที่อยากจะเล่า  เรื่องราวของคุณสุธาทิพย์ เริ่มต้นในวันหนึ่งของเดือนมกราคม  ขณะนั้น เธอมีอายุครรภ์เพียง 18 สัปดาห์ นับว่า น้อยมากเมื่อเทียบกับปัญหาของเธอ นั่นคือ การที่เธอมีถุงน้ำคร่ำรั่วและมีน้ำเดินออกมาทางช่องคลอด ข้าพเจ้าได้ตรวจคุณสุธาทิพย์ ด้วยการดูอัลตราซาวนด์ พบว่า ลูกของเธอมีขนาดเท่ากับอายุครรภ์ แต่น้ำคร่ำเหลืออยู่ภายในมดลูกน้อยมาก ( Severe oligohydramnios ) ซึ่งอาจมีผลให้สายสะดือถูกกดทับจนเด็กขาดก๊าซออกซิเจนและตายได้  ตอนนั้น ข้าพเจ้าบอกกับคุณสุธาทิพย์ว่า “ คุณต้องนอนพักที่โรงพยาบาลนานเป็นเดือนๆ ตราบใดที่ลูกของคุณยังมีชีวิตอยู่  จนกว่าลูกคุณจะคลอดออกมา ”

คุณสุธาทิพย์นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจประมาณ  สัปดาห์ ก็ขอกลับไปนอนพักที่โรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้าน ซึ่งเธอทำประกันสังคมคุ้มครองอยู่ ข้าพเจ้าเห็นด้วยและอนุญาติให้เป็นไปตามนั้น เพราะหลักการรักษาที่สำคัญ คือ นอนพักอยู่บนเตียงเฉยๆตลอดเวลาและห้ามลุกออกไปไหนโดยไม่จำเป็น ( Absolute bed  rest )  คุณสุธาทิพย์ได้รับการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์จากข้าพเจ้าซ้ำเพื่อติดตามอีก 2 ครั้ง คือ ตอนอายุครรภ์ 23 และ 27 สัปดาห์ ซึ่งพบว่า ทารกน้อยมีการเจริญเติบโตอย่างสมส่วน แม้น้ำคร่ำจะน้อย  

ข้าพเจ้าเองเคยคิดในใจแต่แรกพบคุณสุธาทิพย์ว่า “ ปัญหาครั้งนี้รุนแรงเกินไป ไหนเลยทารกน้อยจะทนมีชีวิตอยู่รอดได้นานเพราะถุงน้ำคร่ำรั่วค่อนข้างมากและปริมาณน้ำคร่ำมีเหลืออยู่น้อยเต็มที  สักวันหนึ่ง สายสะดือคงถูกกดทับจนเด็กเสียชีวิต ”

3-4 วันก่อน ข้าพเจ้าได้ขึ้นมาหอผู้ป่วยชั้น 6 เพื่อดูคนไข้สตรีรายหนึ่งที่ผ่าตัดไว้  ข้าพเจ้าต้องตกใจ เพราะทราบข่าวว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา คุณสุธาทิพย์ได้มาคลอดลูกที่โรงพยาบาลตำรวจ  ลูกของเธอเสียชีวิตหลังคลอด ส่วนตัวเธอเองถูกตัดมดลูก  ข้าพเจ้าได้นำประวัติการรักษาของคุณสุธาทิพย์มาดูและสอบถามเพิ่มเติมจากพยาบาลที่รู้เหตุการณ์ ก็พบว่า คุณสุธาทิพย์ตั้งครรภ์ประมาณ 31 สัปดาห์ เธอถูกส่งตัวจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้น เมื่อมาถึงที่ห้องคลอด  ปรากฏว่า ปากมดลูกเปิดหมด  ลูกของเธอซึ่งอยู่ในท่าก้น ได้คลอดออกมาและเสียชีวิตในทันที

ปัญหาไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่นั้น หลังคลอดลูก เธอมีรกค้าง ซึ่งหมายถึงรกเกาะฝังแน่นยึดติดกับตัวมดลูก คุณหมอเวรพยายามล้วงรกอย่างสุดความสามารถ แต่ก็ไม่สำเร็จ สุดท้ายจึงตัดสินใจตัดมดลูกให้กับคุณสุธาทิพย์ เพื่อป้องกันภาวะตกเลือดหลังคลอด ข้าพเจ้าปลอบโยนคุณสุธาทิพย์ และถามเธอว่า “    นี่เป็นท้องที่ 2 ใช่ไหม ? ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง? ” 

คุณสุธาทิพย์ตอบว่า “ ใช่เป็นท้องที่ 2  ลูกคนแรกอายุ 5 ขวบแล้ว  คุณหมอคะถ้าหนูเดินทางมาถึงที่นี่เร็วกว่านี้  ลูกของหนูคงปลอดภัย  ใช่ไหมคะ? ”

ข้าพเจ้าตอบเธอว่า “ อืมก็อาจเป็นไปได้  คือ คงต้องขึ้นอยู่กับหมอเด็กว่า จะดูแลเด็กได้ดีแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ  คุณคงไม่ต้องถูกตัดมดลูก เพราะ การผ่าตัดคลอดบุตรนั้น เราจะสามารถเอารกออกได้ทั้งหมด จึงมักไม่เกิดรกค้าง ซึ่งเป็นสาเหตุให้คุณต้องถูกตัดมดลูก ”  

ข้าพเจ้าพูดให้กำลังใจเธอและสามี รวมทั้งญาติที่มาเยี่ยม แล้วขอตัวไปดูคนไข้ที่ข้าพเจ้าเพิ่งผ่าตัดไป คนไข้รายถัดมานี้ชื่อ คุณลำใย อายุ 21 ปี ตั้งครรภ์แรก ข้าพเจ้าสังเกตว่า หน้าตาของเธอค่อนข้างซีดและท่าทางอ่อนเพลียมาก   อย่างไรก็ตาม  ตอนนี้ถือว่า  ปลอดภัยแล้ว  

เรื่องราวของคุณลำใยมีความน่าสนใจไม่แพ้ของคุณสุธาทิพย์เลย เหตุการณ์เริ่มขึ้นในตอนเช้าของวันนั้น  ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังออกตรวจคนไข้ที่แผนกนรีเวช พยาบาลห้องคลอดได้โทรศัพท์มาแจ้งว่า  “ หมอมีคนไข้ท้องแรกรายหนึ่ง เพิ่งมาถึงห้องคลอดอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ขณะที่กำลังเปลี่ยนเสื้อผ้าอยู่  ก็มีเลือดสดๆไหลออกจากช่องคลอดจำนวนมากเลย ประมาณ 300- 400 ซี.ซีคุณหมอจะให้ทำยังไง? ”

“ อย่างนั้น  ผมขอผ่าตัดคนไข้เดี๋ยวนี้เลยนะ ” ข้าพเจ้าสั่งการทันที ในฐานะแพทย์เวร ตอนนั้น ข้าพเจ้าสังหรณ์ใจว่า น่าจะมีเหตุการณ์ไม่ค่อยดีเกิดขึ้น แม้จะวินิจฉัยเบื้องต้น ว่าสงสัยภาวะรกเกาะต่ำ เท่านั้น  

ที่ห้องผ่าตัด พอข้าพเจ้าผ่าตัดคุณลำใยเปิดมดลูกเข้าไป ก็พบน้ำคร่ำสีใสปกติ ข้าพเจ้าทำคลอดเด็กออกมาอย่างนุ่มนวล ตอนที่ลูกคุณลำใยคลอดออกมาใหม่ๆ  เด็กแสดงอาการเกร็งตัว  ทำท่าคล้ายจะดิ้นหรือขยับแขนขา  ทำให้ข้าพเจ้าคิดว่า ทารกน้อยน่าจะแข็งแรงดี  แต่….

ที่ไหนได้ไม่นานหลังจากนั้น เด็กไม่ส่งเสียงร้อง ตัวมีสีเขียว แขนขาอ่อนแรง ส่วนหัวใจเด็ก ก็เต้นในอัตราที่ต่ำกว่าปกติ คือ ต่ำกว่า 80 ครั้งต่อนาที กุมารแพทย์และทีมงานต่างช่วยเหลืออย่างขะมักเขม้น  โดยนวดเฟ้นหัวใจทารกน้อย นอกจากนั้นยังสอดใส่ท่อช่วยหายใจ และบีบพ่นก๊าซออกซิเจนเข้าทางจมูกปากเด็ก ปัญหาใหญ่ตอนนี้ คือ สายท่อปลาสติกที่ใช้ดูดจากทางเดินหายใจและกระเพาะลูกคุณลำใย   เต็มไปด้วยเลือดสดๆ

หลังจากคลอดลูกคุณลำใย ข้าพเจ้าค่อยๆใช้มือคลำไประหว่างรกกับมดลูก เพื่อล้วงเอารกออก ปรากฏว่า ก้อนเลือดจำนวนมากประมาณ 300 ซี.ซีทะลักออกมาจากทางด้านใต้ของรกบริเวณแถวมดลูกส่วนล่าง  ข้าพเจ้าบอกกับแพทย์ฝึกหัดทันทีเลยว่า “ นี่คือ ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ( Abruptio placenta ) คุณมองเห็นก้อนเลือดจำนวนมากหลังรกนี้ไหม?  ขอให้จดจำภาพนี้ไว้ให้ดี เพื่อเป็นประสบการณ์  ภายภาคหน้า อาจมีโอกาสรักษาภาวะนี้  

พอล้วงรกเข้าไปใกล้จะถึงยอดมดลูก ก็มีก้อนเลือดอีกก้อนหนึ่ง ขนาดประมาณ 100 มิลลิลิตร หลุดลอดทะลักออกมา ข้าพเจ้าจึงพูดย้ำซ้ำกับแพทย์ฝึกหัด ถึงลักษณะการลอกตัวของรกในภาวะนี้ว่า “ การลอกตัวของรก จะดึงเอาปัจจัยการแข็งตัวของเลือดไปใช้อย่างมาก ทำให้คนไข้ทุกคนที่รกลอกตัวก่อนกำหนด  อาจเกิดภาวะเลือดไม่แข็งตัวตามปกติ ”

  หลังจากเสร็จสิ้นการผ่าตัด ข้าพเจ้าได้โทรศัพท์คุยกับกุมารแพทย์เจ้าของไข้ เพื่อติดตามความเป็นไปของทารกน้อย ปรากฏว่า“ ลูกของคุณลำใยมีเลือดออกทั้งในปอดและทางเดินอาหาร เด็กน้อยอาการอยู่ในขั้นโคม่า แม้ผลเลือดที่แสดงถึงปริมาณออกซิเจนจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ ”  ลักษณะอาการเช่นนี้ คงทำให้ความหวังที่ลูกของคุณลำใยจะฟื้นคืนสู่สภาพปกติ แทบจะหมดไปเลย  

ข้าพเจ้าได้พูดปลอบใจคุณลำใยเช่นเดียวกับคุณสุธาทิพย์ โดยหวังว่า คุณลำใยจะมีกำลังใจที่จะสู้ต่อไป เธอยังอายุน้อย  เวลาและหนทางของเธอในภายภาคหน้า ยังมีอีกยาวไกล

สำหรับคนไข้รายที่ 3 นี้ ก็มีความแตกต่างไปอีกแบบ คนไข้รายนี้ ชื่อ คุณสุวรรณา อายุ 34 ปี ครรภ์นี้เป็นครรภ์ที่ 3   ลูกสองคนแรก  อายุ 11 และ 6 ปี ตามลำดับ ลูกทั้งสองคนแข็งแรงดี    คุณสุวรรณามาฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์เพียง 8 สัปดาห์ และมาฝากครรภ์ตามนัดทุกครั้ง  เธอคงคาดไม่ถึงว่า  วันข้างหน้า เธอจะประสบกับโชคชะตาที่เลวร้าย

  คุณสุวรรณามาฝากครรภ์ทุก 4 สัปดาห์ ตอนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ข้าพเจ้าเคยตรวจอัลตราซาวนด์ทางหน้าท้องให้กับคุณสุวรรณาครั้งหนึ่ง เนื่องจากมดลูกมีขนาดใหญ่กว่าอายุครรภ์ การตรวจอัลตราซาวนด์ครั้งนั้น ข้าพเจ้าไม่ได้เขียนข้อสังเกตอะไรไว้เพราะทารกน้อยมีขนาดใกล้เคียงกับอายุครรภ์ 20 สัปดาห์  หัวใจเต้นดี น้ำคร่ำมีปริมาณปกติ

หลังจากนั้น เพียงแค่เดือนเดียว ขณะอายุครรภ์ 24 สัปดาห์  ผนังหน้าท้องของคุณสุวรรณาก็ขยายใหญ่ขึ้นอย่างมาก พยาบาลผู้ตรวจครรภ์วัดขนาดมดลูกจากขอบกระดูกหัวเหน่าจนถึงยอดมดลูกได้ยาว 34 เซนติเมตร  แทนที่จะเป็น 24 เซนติเมตร  อย่างไรก็ตาม คุณสุวรรณาเป็นคนที่รูปร่างอ้วน จึงทำให้เข้าใจผิดว่า อาจจะเป็นจากความอ้วน  หาได้เกิดจากความผิดปกติไม่

สัปดาห์ต่อมา คุณสุวรรณามีอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ คราวนี้ มีปัญหาชัดเจน คือ ผนังหน้าขยายใหญ่ขึ้นไปอีก จนเต็มพื้นที่ยอดอก ( 43 เซนติเมตร ) ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นจากครั้งก่อน 110/80  เป็น 130 / 90 มิลลิเมตรปรอท  คุณสุวรรณามีอาการจุกแน่นหน้าอก  และหายใจลำบากมาก ข้าพเจ้าได้มีโอกาสพบคุณสุวรรณาในช่วงนี้พอดี จึงให้การวินิจฉัยเบื้องต้นว่าเป็น ภาวะน้ำคร่ำมากเกินผิดปกติ ( Polyhydramnios ) และตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อหาความผิดปกติ

ภาพที่ปรากฏบนจอเครื่องอัลตราซาวนด์ คือ ลูกคุณสุวรรณามีขนาดศีรษะเท่ากับอายุครรภ์  แต่….ที่ส่วนคอด้านหลังมีถุงน้ำขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 เซนติเมตร ซึ่งเหมือนกับในตำราแพทย์ว่า ลูกคุณสุวรรณาเป็นโรคถุงน้ำซิสติกไฮโกรมาหรือถุงน้ำบริเวณท้ายทอย ที่เกิดจากระบบท่อน้ำเหลืองอุดตัน ( cystic hygroma )  ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจ เพราะไม่เคยเห็นทารกจริงๆที่เป็นโรคนี้มาก่อนเลย แต่ภาพดังกล่าวมีให้เห็นในตำรา ซึ่งข้าพเจ้าจำติดตามาตั้งแต่สมัยศึกษาเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางสูติ-นรีเวชกรรม ตอนนั้น ข้าพเจ้ายังไม่มั่นใจนักในการวินิจฉัย จึงชักชวนคุณสุวรรณาและสามีให้เดินทางไปตรวจซ้ำที่แผนกผู้เชี่ยวชาญด้านคลื่นเสียงความถี่สูงของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่พวกเราไปพบครั้งนี้ ได้ตรวจอัลตราซาวนด์คุณสุวรรณาซ้ำและให้การวินิจฉัยเช่นเดิม ปัญหา คือ โรคซิสติกไฮโกรมา ( cystic hygroma ) ของลูกคุณสุวรรณานี้ได้ส่งผลกระทบหรือภาวะแทรกซ้อนต่อคุณสุวรรณาและลูกหลายอย่าง เช่น ภาวะน้ำคร่ำมากเกินปกติ ( Polyhydramnios ) ทารกพิการท้องมาน ( Hydrop fetalis ) และ ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ครรภ์พิษ

โรคซิสติกไฮโกรมา (cystic hygroma) เป็นความพิการแต่กำเนิดของระบบท่อน้ำเหลือง ที่ปรากฏเป็นถุงน้ำขนาดใหญ่ ยื่นออกมาบริเวณแผ่นหลังหรือส่วนคอด้านท้ายทอยของทารก ( fetal neck )  โดยปกติ ทารกในครรภ์ตอนอายุ 40 วัน น้ำเหลืองจากส่วนหัวจะไหลถ่ายเทเข้าเส้นเลือดดำขนาดใหญ่บริเวณคอ( jugular vein ) เพื่อลงสู่หัวใจ หากท่อน้ำเหลืองเกิดการอุดตันก็จะเกิดถุงน้ำซิสติกไฮโกรม่า ( cystic hygroma) บริเวณท้ายทอย นอกจากนั้น ยังก่อให้เกิดความพิการของหัวใจทารก เช่นหัวใจด้านซ้ายฝ่อตัว ( hypoplastic left heart) และอื่นๆอีกหลายอย่าง

ทารกที่มีถุงน้ำซิสติกไฮโกรมา (cystic hygroma)แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งถุงน้ำมีผนังกั้นหลายชั้นซ้อนๆกันอยู่ภายใน ( multiseptate ) ทารกกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์กับโครโมโซมที่ผิดปกติ อีกกลุ่มหนึ่งถุงน้ำไม่มีผนังกั้น ( non-septate ) ทารกกลุ่มนี้ไม่มีความสัมพันธ์กับโครโมโซมที่ผิดปกติ ซึ่งเมื่อคลอดออกมาแล้ว สามารถมีชีวิตถึง 94% 

สำหรับกรณีของลูกคุณสุวรรณา พบว่า ภายในถุงน้ำซิสติกไฮโกรมา (cystic hygroma) มีผนังกั้นแทรกอยู่ภายใน เมื่อประกอบกับที่คุณสุวรรณา และลูกมีภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างเกิดร่วมด้วย จึงคาดว่า น่าจะมีโครโมโซมผิดปกติ ดังนั้นแนวทางที่ทางกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลจุฬาฯแนะนำ คือ เจาะดูดเลือดทารกจากสายสะดือเพื่อนำมาเพาะเลี้ยงโครโมโซม ซึ่งคุณสุวรรณาและสามียอมรับ

บ่ายวันนั้นเอง คุณสุวรรณาได้รับการเจาะผ่านถุงน้ำคร่ำไปที่สายสะดือเด็กเพื่อนำเอาเลือดมาตรวจโครโมโซม  ตกตอนกลางคืน คุณสุวรรณาก็เจ็บครรภ์และคลอดทารกออกมาทางช่องคลอด ด้วยความปลอดภัย สำหรับทารกนั้น มีน้ำหนักแรกคลอด1700 กรัมและได้เสียชีวิตทันทีหลังคลอด

เรื่องราวของคนไข้สตรีที่เล่ามานี้ มีให้พบเห็นอยู่ทั่วทุกมุมโลก เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว ก็นำพาความเสียใจมาสู่ผู้เกี่ยวข้อง ข้าพเจ้าอยากให้ทารกทุกคน คลอดออกมาอย่างปลอดภัยและมีสมองที่แจ่มใส  แต่ความเป็นจริง คือ เป็นไปไม่ได้ เพราะโรคหรือภาวะแทรกซ้อนของสตรีตั้งครรภ์มีมากมายเหลือเกิน มีบ่อยครั้ง ที่ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ฉุดกระชากลากชีวิตของคนไข้และลูกน้อยไปสู่อุ้งมือมัจจุราช ซึ่งหมอไม่สามารถช่วยเหลือได้เลย ……….จบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เดินทางไปต่างประเทศ

เรียนท่านผู้อ่านที่เคารพรัก วันที่ 7 มีนาคม 2553 ข้าพเจ้าจะออกเดินทางไประเทศอินเดีย โดยมีกำหนดในเบื้องต้น 4 วัน คือจะกลับในวันที่ 10 ม...