ขึ้นชื่อว่า “แม่” ย่อมเป็นที่รู้กันว่า ‘รักลูกยิ่งกว่าชีวิตตน’ ซึ่งปรากฏในใจของแม่ทุกๆคนอย่างไม่มีข้อยกเว้น แม้ว่า วันเวลาจะล่วงไปนานสักเท่าใดก็ตาม หลายวันที่ผ่านมา จิตใจของข้าพเจ้าเศร้าหมองมาก ไม่ว่า จะมองไปทางไหน โลกก็ดูไม่สดใส ข้าพเจ้ามักคิดอยู่เสมอว่า ‘เราเกิดมาทำไม?’ และ ‘จะทำยังไง จึงจะทำให้เราไม่ต้องกลับมาเกิดอีก’ เรื่องราวที่จะเล่าต่อไป ข้าพเจ้าไม่ได้มีเจตนาใดๆแฝงอยู่ ข้าพเจ้าเพียงแค่อยากระบายความในใจเท่านั้น
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าเดินทางกลับไปจังหวัดสุพรรณบุรี ถิ่นฐานบ้านเกิดของข้าพเจ้า จุดมุ่งหมายคือ เยี่ยมเยียนคุณพ่อคุณแม่ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า ก็คือ เยี่ยมพี่สาวที่กำลังป่วยหนักที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง
มีใครในโลกนี้ไหม ที่รู้ตัวว่า กำลังจะเสียชีวิต แล้วไม่คิดโศกเศร้าใจ ข้าพเจ้าคิดว่า ทุกคนในโลกนี้รักชีวิตของตนเป็นที่สุด ดุจดังพระพุทธพจน์ที่ทรงกล่าวไว้ ความรู้สึกใดๆของคนผู้นั้น ย่อมถ่ายทอดออกไปและเหนี่ยวนำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องพลอยเศร้าหมองไปด้วย
ข้าพเจ้าอยากจะเล่าเรื่องราวของพี่สาวสลับกับคนท้องในห้องคลอดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เพื่อว่า จะได้ไม่สลดหดหู่ใจมากนัก และไม่ขัดกับเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับแม่&เด็ก ซึ่งเป็นหลักของการดำเนินเรื่อง
วันอังคารที่ผ่านมา ข้าพเจ้ามาเข้าเวรตามปกติตอน 8 โมงเช้า ภาระหนักของสูติแพทย์ที่จะคอยปกป้องดูแลคนท้องและบุตรในห้องคลอด ดูจะเป็นเรื่องธรรมดาเสียแล้วสำหรับแพทย์เวร ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยประมาทในหน้าที่ดังกล่าวเลย อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ ข้าพเจ้ามักจะวางแผนให้ตัวเองใช้เวลาให้ผ่านไปอย่างไม่น่าเบื่อกับชีวิตในห้องคลอดด้วย เพราะบ่อยครั้ง..ที่คนท้องในห้องรอคลอดมีไม่มากและยังไม่เข้าสู่กระบวนการคลอด
“มีปัญหาอะไรไหม?” เป็นคำถามหลักของข้าพเจ้าในตอนเช้าวันนั้นเหมือนทุกครั้งที่อยู่เวร
“เตียง 6 เป็นคนไข้อายุครรภ์เกินกำหนดที่หมอนัดมาเร่งคลอด... เตียง 5 ปากมดลูกเปิด 1 เซนติเมตร คนไข้มาเมื่อคืน ไม่ค่อยเจ็บครรภ์... หมอจะให้ทานข้าวหรือเปล่า?” พยาบาลห้องคลอดรายงานคนไข้ในห้องคลอดแบบสรุปๆ ข้าพเจ้ามองกราดไปรอบๆ ก็เห็นคนท้องเพียง 2 – 3 คน จึงไม่ได้สังเกตพบความผิดปกติอะไร
“ให้ทานข้าวไปเถอะ ” ข้าพเจ้าพูดโดยไม่ได้ดูรายละเอียดของบันทึกผู้ป่วย
เวลาค่อยๆผ่านไป โดยไม่มีอะไรผิดสังเกต คนท้องเตียงที่ 6 เป็นคนท้องอายุ 30 ปี ครรภ์ที่ 2 อายุครรภ์ 41 สัปดาห์ 4 วัน ในครรภ์แรกนั้น เธอคลอดบุตรเองตามธรรมชาติ บุตรหนัก 2800 กรัม ข้าพเจ้านัดมาเร่งคลอดครั้งนี้ โดยคิดว่า น่าจะคลอดเองได้โดยไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม ก็ต้องให้คนไข้อดอาหารและน้ำเผื่อไว้กรณีต้องเข้ารับการผ่าตัดคลอด
หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีคนท้องมาใหม่อีกคนหนึ่ง อายุ 25 ปี ตั้งครรภ์ได้ 30 สัปดาห์ มาด้วยเรื่องมดลูกแข็งตัวและปากมดลูกเปิด 2 เซนติเมตร ข้าพเจ้าสั่งการรักษาโดยให้ยาหยุดการแข็งตัวของมดลูกและยาเร่งพัฒนาปอดไปพร้อมๆกัน เผื่อไว้กรณีคนไข้คลอดฉุกเฉิน หลังจากนั้นข้าพเจ้าก็ยังคงเดินเตร็ดเตร่ไปมาในห้องคลอด เมื่อเห็นไม่มีปัญหาอะไร ก็จะเข้าไปที่ห้องพักผ่อนด้านหลังของพยาบาล กินกาแฟบ้าง พูดคุยกับพยาบาลบางคนที่มาพักบ้าง ตอนเที่ยง คนไข้เตียง 6 ที่มาเร่งคลอด ปากมดลูกยังคงเปิดเช่นเดิมและลักษณะค่อนข้างแข็ง ข้าพเจ้าประเมินว่า คงจะใช้เวลาอีกนานมาก..กว่าจะคลอด จนทารกอาจเกิดภาวะอันตราย จึงตัดสินใจให้ผ่าตัดคลอดตอนเที่ยงเศษ การผ่าตัดไม่พบมีปัญหา และทารกก็ปกติ แข็งแรงดี
ตอนบ่าย ข้าพเจ้ายังคงว่างงาน และไม่ได้ทำอะไรมาก นอกจากพูดคุยกับพยาบาลและนักศึกษาแพทย์ฝึกหัด รวมทั้งนอนพักในห้องพักแพทย์ ตอนเย็น พยาบาลห้องคลอดได้มาเปลี่ยนเวร คนไข้ในห้องยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง เมื่อเห็นว่า ไม่มีกรณีเร่งด่วน ข้าพเจ้าจึ่งกลับบ้าน ไปพักผ่อน นี่คือ ภารกิจภาคกลางวันที่ข้าพเจ้าทำ
ตอนกลางคืน ประมาณ 3 นาฬิกาของเช้าวันใหม่ นักศึกษาแพทย์ฝึกหัดที่อยู่เวรโทรศัพท์มารายงานว่า “ คนไข้เตียง 5 ครรภ์แรก ปากมดลูกเปิดหมด 2 ชั่วโมง แล้วยังไม่คลอด อาจารย์จะให้ทำยังไง?” ข้าพเจ้ายังคงมึนๆและง่วงนอน จึงพูดอะไรออกไปบางอย่าง ซึ่งจับใจความไม่ได้ นักศึกษาแพทย์คนนั้นถามซ้ำ พอตั้งสติได้ ข้าพเจ้าก็ให้นักศึกษาแพทย์คนนั้นเล่าประวัติคนไข้ซ้ำ โดยเธอได้เล่าว่า “ คนไข้เตียง 5 ท้องแรก ปากมดลูกเปิดหมดเป็นเวลา 2 ชั่วโมงแล้ว ยังไม่คลอดค่ะ ” ข้าพเจ้าฟังแล้วรู้สึกแปลกๆ คล้ายมีลางสังหรณ์ รีบลุกขึ้นล้างหน้าแปรงฟันและเดินทางไปโรงพยาบาลตำรวจทันที ในระหว่างทาง ข้าพเจ้าได้โทรศัพท์เข้าไปที่ห้องคลอดเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โดยกะจะถามจากพยาบาลที่อยู่เวร แต่ กลับเป็นนักศึกษาแพทย์รับโทรศัพท์
“ ผมจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 – 25 นาที น้องคิดว่า คนไข้รายนี้จะคลอดได้ไหม?” ข้าพเจ้าถามนักศึกษาแพทย์ฝึกหัด
“หนูก็ไม่แน่ใจ ” เธอตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้
“คนไข้มีส่วนสูงเท่าไหร่? เด็กหนักประมาณเท่าไหร่? หัวเด็กลงมามากน้อยแค่ไหน? มีอะไรที่คิดว่าจะเป็นปัญหาบ้าง?” ข้าพเจ้าถามต่อ
“ คนไข้สูง 153 เซนติเมตร เด็กตัวไม่ค่อยใหญ่ ส่วนนำ(หัว) ลงมาประมาณ + 1 แต่พี่พยาบาลบอกว่า station 0 หัวใจเด็กเต้นดีมาตลอด คิดว่า ไม่น่ามีปัญหาอะไร?” นักศึกษาแพทย์ฝึกหัดรายงานต่อ
ข้าพเจ้าคิดไปคิดมา โดยตั้งสมมติฐานว่า “นักศึกษาแพทย์มักจะประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าความเป็นจริงเสมอและมองโลกในแง่ดีเกินไป ” ข้าพเจ้าคิดว่า ‘สถานการณ์ตอนนี้ คนไข้ท้องแรกเบ่งคลอดมา 2 ชั่วโมง ข้าพเจ้าต้องใช้เวลาเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมง หากให้เตรียมใช้เครื่องดูดที่ศีรษะ (vacuum) พอไปถึงแล้วตัดสินใจให้ผ่าตัดคลอด กว่าจะเตรียมเครื่องมือ กว่าพยาบาลดมยาจะมาถึงห้องผ่าตัด สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ในตอนนั้น ถ้าเด็กอยู่ในภาวะอันตราย เวลาที่ผ่านไป จะทำให้เด็กแย่ลงและเสียชีวิตได้’ คิดดังนั้น ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจโทรศัพท์สั่งการไปที่พยาบาลห้องคลอดว่า จะให้ผ่าตัดคลอดฉุกเฉินกับคนไข้รายนี้
พอมาถึงห้องคลอด ซึ่งเวลานั้น คนไข้กำลังถูกส่งไปที่ห้องผ่าตัดพอดี คนไข้แสดงอาการดิ้นไปมาด้วยความเจ็บปวดบนเตียงเข็น ข้าพเจ้าได้พูดคุยกับพยาบาลที่อยู่เวรว่า “ ขอดูประวัติคนไข้หน่อยว่าเป็นมายังไง?” พยาบาลห้องคลอดที่กำลังง่วนทำประวัติสรุปเพื่อส่งต่อให้กับห้องผ่าตัด เงยหน้าขึ้น พร้อมกับพูดว่า “เด็กหญิงศศิธร(ชื่อคนไข้) รายนี้อายุ 14 ปี มาตั้งแต่เมื่อคืนตอนตี 3 หนูเป็นคนรับคนไข้เอง หนูยังแปลกใจเลยว่า ทำไมหมอไม่ผ่าตัดคลอดให้ เพราะปกติ คนท้องที่อายุอยู่ในวัยรุ่น หมอจะทำผ่าตัดคลอดให้ทุกคน ”
“ อ่าว!!! ทำไมไม่บอกอายุคนไข้ให้ทราบ” ข้าพเจ้าหันไปถามนักศึกษาแพทย์ฝึกหัด เธอตอบแบบตะกุกตะกักว่า “ หนูบอกอาจารย์ไปแล้วตอนต้น ไม่เห็นอาจารย์พูดว่า อะไร........ ” ข้าพเจ้าไม่อยากพูดเติมเสริมต่อมาก เพียงแต่บ่นว่า “ก็ตอนนั้นกำลังง่วงนอน สะลึมสะลืออยู่ เลยไม่รู้ว่า เธอรายงานอะไรไปบ้าง รู้หรือเปล่าว่า ‘นี่เป็นจุดสำคัญอันหนึ่ง’ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นตอนต้นหรือในเด็กอย่างรายนี้ แม้ไม่เจ็บท้อง พี่ก็จะผ่าตัดให้” จากนั้น ก็หันไปคุยพยาบาลห้องคลอดต่อ..ว่า “ ตอนเช้า ไม่เห็นมีใครบอกเลยว่า เป็นคนท้องอายุน้อย ยิ่งอายุแค่ 14 ปี ผมต้องทำผ่าตัดคลอดให้ทันทีอย่างแน่นอน... ทั้งช่วงเช้าและบ่าย ผมอยู่ห้องคลอดตลอดวัน ไม่ได้ทำอะไรเลย ตอนเย็นรับเวร พวกเธอก็ไม่บอกผม พวกเธอทุกคน ถือว่า เป็นพยาบาลอาวุโสแล้วนะ ประสบการณ์ก็มาก”
พยาบาลคนหนึ่งพูดขึ้นบ้างว่า “ ช่วงรับเวรตอนเย็น หนูก็ตกใจ เพราะเห็นเด็กหญิงศศิธรยังอยู่ แต่ก็คิดว่า หมออยู่ห้องคลอดมาตลอดทั้งวัน ย่อมต้องทราบแล้ว หมอไม่ผ่าตัดคลอดให้ คงมีเหตุผลของหมอเอง” นอกจากนั้น พยาบาลยังรายงานต่อว่า “ ลูกของเด็กหญิงศศิธรตัวค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับตัวแม่ คิดว่า คงคลอดเองไม่ได้หรอก แล้วก็ยังมี moderate meconium stain (เด็กถ่ายขี้เทา) ด้วย” ข้าพเจ้าไม่อยากพูดอะไรอีก เพราะประสบการณ์ของนักศึกษาแพทย์ย่อมมีไม่มากนัก และถือว่า เป็นเรื่องธรรมดา แต่ข้าพเจ้าควรจะต้องเข้าใจนักศึกษาแพทย์เหล่านี้และประเมินสถานการณ์ให้รุนแรงกว่าที่รายงาน เพื่อให้ตัดสินใจรักษาคนไข้ได้อย่างถูกต้อง
ทารกคลอดเมื่อเวลา 4 นาฬิกา 38 นาที เนื้อตัวเด็กเปรอะเปื้อนไปด้วยขี้เทา ลูกคุณศศิธรมีน้ำหนักแรกคลอด 3000 กรัม เป็นเพศชาย ตอนคลอดออกมาใหม่ๆ เด็กนิ่งไปสักพักหนึ่ง ซึ่งหลังจากกระตุ้นโดยการลูบไปที่แผ่นหลังและตามตัว 2 -3 ครั้ง ทารกก็ร้องขึ้นมา และร้องเสียงดังอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีปัญหาอะไร
จะเห็นว่า การจะเป็นแม่คนนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นง่ายๆ นอกจากนั้น แม่ยังจะต้องเลี้ยงดูลูกน้อยจนเติบใหญ่ โดยทุ่มเทแรงกายอีกหลายสิบปี คุณแม่ของข้าพเจ้านั้น ปัจจุบันอายุ 78 ปี ท่านมีสุขภาพดี และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ท่านดูแลพี่สาวข้าพเจ้าอยู่เสมอเท่าที่โอกาสจะอำนวย ความเป็นห่วงของคุณแม่มีอยู่ตลอดเวลา ยิ่งมาเห็นสภาพของพี่สาวในระยะสุดท้ายของมะเร็งรังไข่ ท่านยิ่งทำใจไม่ได้ วันเสาร์ที่ผ่านมา คุณแม่มาเยี่ยมพี่สาวตั้งแต่เที่ยงวัน ส่วนข้าพเจ้าและครอบครัวเดินทางไปถึงโรงพยาบาลตอนบ่ายสอง วันนั้น มีเพื่อนๆของพี่สาวมาเยี่ยมเยียนด้วยหลายคน ทำให้คนไข้ไม่ค่อยได้พักผ่อน บางช่วงบางตอน จึงต้องนอนหอบเหนื่อย หยุดพูด และให้ก๊าซออกซิเจน
มีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่จู่ๆ คุณแม่ก็ร้องไห้ออกมา คุณแม่ท่านเสียใจอย่างมากกับสภาพของลูกสาวที่เป็นอยู่เวลานี้ เท่าที่จำได้ ข้าพเจ้าแทบไม่เคยเห็นคุณแม่ร้องไห้เลย คุณแม่เป็นคนที่เข้มแข็งมาก ไม่ว่า จะทุกข์ยากลำบากปานใด คุณแม่ก็จะไม่เสียน้ำตา แต่มาถึงบัดนี้ ท่านไม่สามารถสะกดจิตใจไว้ได้แล้ว
ถึงแม้ว่า พี่สาวข้าพเจ้าจะยังคงมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีทุกประการ แต่สังขารคงทนอยู่ได้ไม่ถึง 3 เดือน เมื่อถึงวันหนึ่ง ก็ต้องแตกสลายดับไป ข้าพเจ้าขอให้บุญกุศลใดๆที่เธอได้ประกอบเอาไว้อย่างมากมาย จงดลบันดาลให้เธอได้ไปจุติในแดนสวรรค์ และได้ฟังพระธรรมที่นั่นจนบรรลุมรรคผลนิพพาน ไม่ต้องมากำเนิดอีกในโลกมนุษย์
เรื่องราวของพี่สาวนั้น ถ้าจะว่าไปแล้วต้องเริ่มต้นเมื่อ 20 ปีก่อน ตอนนั้น เธอได้รับการตรวจพบมะเร็งรังไข่ขณะตั้งครรภ์ได้ 20 สัปดาห์ สูติแพทย์ที่รับฝากครรภ์แนะนำว่า ‘น่าจะผ่าตัดเอาก้อนเนื้อร้ายทิ้งพร้อมกับลูก แต่เธอไม่ยินยอม และขอเอาชีวิตเข้าเสี่ยง โดยรอต่อไปจนครบกำหนด แล้วเข้ารับการผ่าตัดคลอดบุตร พร้อมทั้งเอามดลูก รวมทั้งเนื้องอกมะเร็งรังไข่ทิ้งทั้งหมดในคราวเดียวกัน’
การตัดสินใจครั้งนั้น เป็นการกำหนดชะตาชีวิตของพี่สาวข้าพเจ้าไว้แล้ว บัดนี้ บุตรชายของเธอคนนั้นอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและเป็นคนที่มีสติปัญญาดีเยี่ยม ถ้าให้มองย้อนกลับไป ข้าพเจ้าคิดว่า ‘ณ ตอนนี้ หากเธอเป็นมะเร็งรังไข่ขณะท้อง 20 สัปดาห์เช่นเมื่อ 20 ปีก่อน พี่สาวก็คงตัดสินใจเอาชีวิตเข้าแลกกับชีวิตของลูกในรูปแบบเดียวกันเช่นเดิม’ ข้าพเจ้าขอสดุดียกย่องสตรีทุกคนที่เป็นคุณแม่และทุ่มเทชีวิตให้กับลูก ไม่ว่าการทุ่มเทนั้นจะให้ผลเช่นไร ขอให้สตรีเหล่านั้น จงพ้นจากทุกข์โศกโรคภัย มีชีวิตที่ยืนยาวและมีครอบครัวที่มีความสุขตลอดอายุขัย
ข้าพเจ้าได้สอบถามเด็กหญิงศศิธรเกี่ยวกับอนาคตของเธอและลูก เธอตอบว่า จะโอนลูกให้ไปเป็นบุตรบุญธรรมของคุณแม่เธอ ส่วนเธอ..กำลังจะกลับไปเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สำหรับแฟนเธอ ซึ่งอายุ 18 ปี ตอนนี้กำลังไปทำงานอยู่ที่ต่างจังหวัดและส่งเงินมาให้เพื่อเป็นค่าเลี้ยงดูลูกน้อย
การเป็นแม่คนนั้น ไม่ใช่เรื่องที่กระทำได้ง่าย คุณแม่ทุกคน ต้องลำบากใจกายและเสียน้ำตา ไม่รู้สักเท่าไหร่ กว่าจะเลี้ยงลูกน้อยให้เติบใหญ่จนช่วยเหลือตัวเองได้ เมื่อลูกแยกไปมีครอบครัวของตัวเอง คุณแม่ก็ยังเป็นห่วงลูกอยู่เหมือนเดิม ไม่มีวันจืดจาง ยิ่งทราบว่า ลูกของตนประสบกับเคราะห์กรรมอันเลวร้าย คุณแม่ก็ยังเฝ้าเป็นทุกข์อย่างไม่เสื่อมคลาย...ดุจดังเรื่องราวของพี่สาวข้าพเจ้า....
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าเดินทางกลับไปจังหวัดสุพรรณบุรี ถิ่นฐานบ้านเกิดของข้าพเจ้า จุดมุ่งหมายคือ เยี่ยมเยียนคุณพ่อคุณแม่ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า ก็คือ เยี่ยมพี่สาวที่กำลังป่วยหนักที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง
มีใครในโลกนี้ไหม ที่รู้ตัวว่า กำลังจะเสียชีวิต แล้วไม่คิดโศกเศร้าใจ ข้าพเจ้าคิดว่า ทุกคนในโลกนี้รักชีวิตของตนเป็นที่สุด ดุจดังพระพุทธพจน์ที่ทรงกล่าวไว้ ความรู้สึกใดๆของคนผู้นั้น ย่อมถ่ายทอดออกไปและเหนี่ยวนำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องพลอยเศร้าหมองไปด้วย
ข้าพเจ้าอยากจะเล่าเรื่องราวของพี่สาวสลับกับคนท้องในห้องคลอดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เพื่อว่า จะได้ไม่สลดหดหู่ใจมากนัก และไม่ขัดกับเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับแม่&เด็ก ซึ่งเป็นหลักของการดำเนินเรื่อง
วันอังคารที่ผ่านมา ข้าพเจ้ามาเข้าเวรตามปกติตอน 8 โมงเช้า ภาระหนักของสูติแพทย์ที่จะคอยปกป้องดูแลคนท้องและบุตรในห้องคลอด ดูจะเป็นเรื่องธรรมดาเสียแล้วสำหรับแพทย์เวร ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยประมาทในหน้าที่ดังกล่าวเลย อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ ข้าพเจ้ามักจะวางแผนให้ตัวเองใช้เวลาให้ผ่านไปอย่างไม่น่าเบื่อกับชีวิตในห้องคลอดด้วย เพราะบ่อยครั้ง..ที่คนท้องในห้องรอคลอดมีไม่มากและยังไม่เข้าสู่กระบวนการคลอด
“มีปัญหาอะไรไหม?” เป็นคำถามหลักของข้าพเจ้าในตอนเช้าวันนั้นเหมือนทุกครั้งที่อยู่เวร
“เตียง 6 เป็นคนไข้อายุครรภ์เกินกำหนดที่หมอนัดมาเร่งคลอด... เตียง 5 ปากมดลูกเปิด 1 เซนติเมตร คนไข้มาเมื่อคืน ไม่ค่อยเจ็บครรภ์... หมอจะให้ทานข้าวหรือเปล่า?” พยาบาลห้องคลอดรายงานคนไข้ในห้องคลอดแบบสรุปๆ ข้าพเจ้ามองกราดไปรอบๆ ก็เห็นคนท้องเพียง 2 – 3 คน จึงไม่ได้สังเกตพบความผิดปกติอะไร
“ให้ทานข้าวไปเถอะ ” ข้าพเจ้าพูดโดยไม่ได้ดูรายละเอียดของบันทึกผู้ป่วย
เวลาค่อยๆผ่านไป โดยไม่มีอะไรผิดสังเกต คนท้องเตียงที่ 6 เป็นคนท้องอายุ 30 ปี ครรภ์ที่ 2 อายุครรภ์ 41 สัปดาห์ 4 วัน ในครรภ์แรกนั้น เธอคลอดบุตรเองตามธรรมชาติ บุตรหนัก 2800 กรัม ข้าพเจ้านัดมาเร่งคลอดครั้งนี้ โดยคิดว่า น่าจะคลอดเองได้โดยไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม ก็ต้องให้คนไข้อดอาหารและน้ำเผื่อไว้กรณีต้องเข้ารับการผ่าตัดคลอด
หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีคนท้องมาใหม่อีกคนหนึ่ง อายุ 25 ปี ตั้งครรภ์ได้ 30 สัปดาห์ มาด้วยเรื่องมดลูกแข็งตัวและปากมดลูกเปิด 2 เซนติเมตร ข้าพเจ้าสั่งการรักษาโดยให้ยาหยุดการแข็งตัวของมดลูกและยาเร่งพัฒนาปอดไปพร้อมๆกัน เผื่อไว้กรณีคนไข้คลอดฉุกเฉิน หลังจากนั้นข้าพเจ้าก็ยังคงเดินเตร็ดเตร่ไปมาในห้องคลอด เมื่อเห็นไม่มีปัญหาอะไร ก็จะเข้าไปที่ห้องพักผ่อนด้านหลังของพยาบาล กินกาแฟบ้าง พูดคุยกับพยาบาลบางคนที่มาพักบ้าง ตอนเที่ยง คนไข้เตียง 6 ที่มาเร่งคลอด ปากมดลูกยังคงเปิดเช่นเดิมและลักษณะค่อนข้างแข็ง ข้าพเจ้าประเมินว่า คงจะใช้เวลาอีกนานมาก..กว่าจะคลอด จนทารกอาจเกิดภาวะอันตราย จึงตัดสินใจให้ผ่าตัดคลอดตอนเที่ยงเศษ การผ่าตัดไม่พบมีปัญหา และทารกก็ปกติ แข็งแรงดี
ตอนบ่าย ข้าพเจ้ายังคงว่างงาน และไม่ได้ทำอะไรมาก นอกจากพูดคุยกับพยาบาลและนักศึกษาแพทย์ฝึกหัด รวมทั้งนอนพักในห้องพักแพทย์ ตอนเย็น พยาบาลห้องคลอดได้มาเปลี่ยนเวร คนไข้ในห้องยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง เมื่อเห็นว่า ไม่มีกรณีเร่งด่วน ข้าพเจ้าจึ่งกลับบ้าน ไปพักผ่อน นี่คือ ภารกิจภาคกลางวันที่ข้าพเจ้าทำ
ตอนกลางคืน ประมาณ 3 นาฬิกาของเช้าวันใหม่ นักศึกษาแพทย์ฝึกหัดที่อยู่เวรโทรศัพท์มารายงานว่า “ คนไข้เตียง 5 ครรภ์แรก ปากมดลูกเปิดหมด 2 ชั่วโมง แล้วยังไม่คลอด อาจารย์จะให้ทำยังไง?” ข้าพเจ้ายังคงมึนๆและง่วงนอน จึงพูดอะไรออกไปบางอย่าง ซึ่งจับใจความไม่ได้ นักศึกษาแพทย์คนนั้นถามซ้ำ พอตั้งสติได้ ข้าพเจ้าก็ให้นักศึกษาแพทย์คนนั้นเล่าประวัติคนไข้ซ้ำ โดยเธอได้เล่าว่า “ คนไข้เตียง 5 ท้องแรก ปากมดลูกเปิดหมดเป็นเวลา 2 ชั่วโมงแล้ว ยังไม่คลอดค่ะ ” ข้าพเจ้าฟังแล้วรู้สึกแปลกๆ คล้ายมีลางสังหรณ์ รีบลุกขึ้นล้างหน้าแปรงฟันและเดินทางไปโรงพยาบาลตำรวจทันที ในระหว่างทาง ข้าพเจ้าได้โทรศัพท์เข้าไปที่ห้องคลอดเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โดยกะจะถามจากพยาบาลที่อยู่เวร แต่ กลับเป็นนักศึกษาแพทย์รับโทรศัพท์
“ ผมจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 – 25 นาที น้องคิดว่า คนไข้รายนี้จะคลอดได้ไหม?” ข้าพเจ้าถามนักศึกษาแพทย์ฝึกหัด
“หนูก็ไม่แน่ใจ ” เธอตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้
“คนไข้มีส่วนสูงเท่าไหร่? เด็กหนักประมาณเท่าไหร่? หัวเด็กลงมามากน้อยแค่ไหน? มีอะไรที่คิดว่าจะเป็นปัญหาบ้าง?” ข้าพเจ้าถามต่อ
“ คนไข้สูง 153 เซนติเมตร เด็กตัวไม่ค่อยใหญ่ ส่วนนำ(หัว) ลงมาประมาณ + 1 แต่พี่พยาบาลบอกว่า station 0 หัวใจเด็กเต้นดีมาตลอด คิดว่า ไม่น่ามีปัญหาอะไร?” นักศึกษาแพทย์ฝึกหัดรายงานต่อ
ข้าพเจ้าคิดไปคิดมา โดยตั้งสมมติฐานว่า “นักศึกษาแพทย์มักจะประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าความเป็นจริงเสมอและมองโลกในแง่ดีเกินไป ” ข้าพเจ้าคิดว่า ‘สถานการณ์ตอนนี้ คนไข้ท้องแรกเบ่งคลอดมา 2 ชั่วโมง ข้าพเจ้าต้องใช้เวลาเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมง หากให้เตรียมใช้เครื่องดูดที่ศีรษะ (vacuum) พอไปถึงแล้วตัดสินใจให้ผ่าตัดคลอด กว่าจะเตรียมเครื่องมือ กว่าพยาบาลดมยาจะมาถึงห้องผ่าตัด สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ในตอนนั้น ถ้าเด็กอยู่ในภาวะอันตราย เวลาที่ผ่านไป จะทำให้เด็กแย่ลงและเสียชีวิตได้’ คิดดังนั้น ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจโทรศัพท์สั่งการไปที่พยาบาลห้องคลอดว่า จะให้ผ่าตัดคลอดฉุกเฉินกับคนไข้รายนี้
พอมาถึงห้องคลอด ซึ่งเวลานั้น คนไข้กำลังถูกส่งไปที่ห้องผ่าตัดพอดี คนไข้แสดงอาการดิ้นไปมาด้วยความเจ็บปวดบนเตียงเข็น ข้าพเจ้าได้พูดคุยกับพยาบาลที่อยู่เวรว่า “ ขอดูประวัติคนไข้หน่อยว่าเป็นมายังไง?” พยาบาลห้องคลอดที่กำลังง่วนทำประวัติสรุปเพื่อส่งต่อให้กับห้องผ่าตัด เงยหน้าขึ้น พร้อมกับพูดว่า “เด็กหญิงศศิธร(ชื่อคนไข้) รายนี้อายุ 14 ปี มาตั้งแต่เมื่อคืนตอนตี 3 หนูเป็นคนรับคนไข้เอง หนูยังแปลกใจเลยว่า ทำไมหมอไม่ผ่าตัดคลอดให้ เพราะปกติ คนท้องที่อายุอยู่ในวัยรุ่น หมอจะทำผ่าตัดคลอดให้ทุกคน ”
“ อ่าว!!! ทำไมไม่บอกอายุคนไข้ให้ทราบ” ข้าพเจ้าหันไปถามนักศึกษาแพทย์ฝึกหัด เธอตอบแบบตะกุกตะกักว่า “ หนูบอกอาจารย์ไปแล้วตอนต้น ไม่เห็นอาจารย์พูดว่า อะไร........ ” ข้าพเจ้าไม่อยากพูดเติมเสริมต่อมาก เพียงแต่บ่นว่า “ก็ตอนนั้นกำลังง่วงนอน สะลึมสะลืออยู่ เลยไม่รู้ว่า เธอรายงานอะไรไปบ้าง รู้หรือเปล่าว่า ‘นี่เป็นจุดสำคัญอันหนึ่ง’ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นตอนต้นหรือในเด็กอย่างรายนี้ แม้ไม่เจ็บท้อง พี่ก็จะผ่าตัดให้” จากนั้น ก็หันไปคุยพยาบาลห้องคลอดต่อ..ว่า “ ตอนเช้า ไม่เห็นมีใครบอกเลยว่า เป็นคนท้องอายุน้อย ยิ่งอายุแค่ 14 ปี ผมต้องทำผ่าตัดคลอดให้ทันทีอย่างแน่นอน... ทั้งช่วงเช้าและบ่าย ผมอยู่ห้องคลอดตลอดวัน ไม่ได้ทำอะไรเลย ตอนเย็นรับเวร พวกเธอก็ไม่บอกผม พวกเธอทุกคน ถือว่า เป็นพยาบาลอาวุโสแล้วนะ ประสบการณ์ก็มาก”
พยาบาลคนหนึ่งพูดขึ้นบ้างว่า “ ช่วงรับเวรตอนเย็น หนูก็ตกใจ เพราะเห็นเด็กหญิงศศิธรยังอยู่ แต่ก็คิดว่า หมออยู่ห้องคลอดมาตลอดทั้งวัน ย่อมต้องทราบแล้ว หมอไม่ผ่าตัดคลอดให้ คงมีเหตุผลของหมอเอง” นอกจากนั้น พยาบาลยังรายงานต่อว่า “ ลูกของเด็กหญิงศศิธรตัวค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับตัวแม่ คิดว่า คงคลอดเองไม่ได้หรอก แล้วก็ยังมี moderate meconium stain (เด็กถ่ายขี้เทา) ด้วย” ข้าพเจ้าไม่อยากพูดอะไรอีก เพราะประสบการณ์ของนักศึกษาแพทย์ย่อมมีไม่มากนัก และถือว่า เป็นเรื่องธรรมดา แต่ข้าพเจ้าควรจะต้องเข้าใจนักศึกษาแพทย์เหล่านี้และประเมินสถานการณ์ให้รุนแรงกว่าที่รายงาน เพื่อให้ตัดสินใจรักษาคนไข้ได้อย่างถูกต้อง
ทารกคลอดเมื่อเวลา 4 นาฬิกา 38 นาที เนื้อตัวเด็กเปรอะเปื้อนไปด้วยขี้เทา ลูกคุณศศิธรมีน้ำหนักแรกคลอด 3000 กรัม เป็นเพศชาย ตอนคลอดออกมาใหม่ๆ เด็กนิ่งไปสักพักหนึ่ง ซึ่งหลังจากกระตุ้นโดยการลูบไปที่แผ่นหลังและตามตัว 2 -3 ครั้ง ทารกก็ร้องขึ้นมา และร้องเสียงดังอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีปัญหาอะไร
จะเห็นว่า การจะเป็นแม่คนนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นง่ายๆ นอกจากนั้น แม่ยังจะต้องเลี้ยงดูลูกน้อยจนเติบใหญ่ โดยทุ่มเทแรงกายอีกหลายสิบปี คุณแม่ของข้าพเจ้านั้น ปัจจุบันอายุ 78 ปี ท่านมีสุขภาพดี และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ท่านดูแลพี่สาวข้าพเจ้าอยู่เสมอเท่าที่โอกาสจะอำนวย ความเป็นห่วงของคุณแม่มีอยู่ตลอดเวลา ยิ่งมาเห็นสภาพของพี่สาวในระยะสุดท้ายของมะเร็งรังไข่ ท่านยิ่งทำใจไม่ได้ วันเสาร์ที่ผ่านมา คุณแม่มาเยี่ยมพี่สาวตั้งแต่เที่ยงวัน ส่วนข้าพเจ้าและครอบครัวเดินทางไปถึงโรงพยาบาลตอนบ่ายสอง วันนั้น มีเพื่อนๆของพี่สาวมาเยี่ยมเยียนด้วยหลายคน ทำให้คนไข้ไม่ค่อยได้พักผ่อน บางช่วงบางตอน จึงต้องนอนหอบเหนื่อย หยุดพูด และให้ก๊าซออกซิเจน
มีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่จู่ๆ คุณแม่ก็ร้องไห้ออกมา คุณแม่ท่านเสียใจอย่างมากกับสภาพของลูกสาวที่เป็นอยู่เวลานี้ เท่าที่จำได้ ข้าพเจ้าแทบไม่เคยเห็นคุณแม่ร้องไห้เลย คุณแม่เป็นคนที่เข้มแข็งมาก ไม่ว่า จะทุกข์ยากลำบากปานใด คุณแม่ก็จะไม่เสียน้ำตา แต่มาถึงบัดนี้ ท่านไม่สามารถสะกดจิตใจไว้ได้แล้ว
ถึงแม้ว่า พี่สาวข้าพเจ้าจะยังคงมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีทุกประการ แต่สังขารคงทนอยู่ได้ไม่ถึง 3 เดือน เมื่อถึงวันหนึ่ง ก็ต้องแตกสลายดับไป ข้าพเจ้าขอให้บุญกุศลใดๆที่เธอได้ประกอบเอาไว้อย่างมากมาย จงดลบันดาลให้เธอได้ไปจุติในแดนสวรรค์ และได้ฟังพระธรรมที่นั่นจนบรรลุมรรคผลนิพพาน ไม่ต้องมากำเนิดอีกในโลกมนุษย์
เรื่องราวของพี่สาวนั้น ถ้าจะว่าไปแล้วต้องเริ่มต้นเมื่อ 20 ปีก่อน ตอนนั้น เธอได้รับการตรวจพบมะเร็งรังไข่ขณะตั้งครรภ์ได้ 20 สัปดาห์ สูติแพทย์ที่รับฝากครรภ์แนะนำว่า ‘น่าจะผ่าตัดเอาก้อนเนื้อร้ายทิ้งพร้อมกับลูก แต่เธอไม่ยินยอม และขอเอาชีวิตเข้าเสี่ยง โดยรอต่อไปจนครบกำหนด แล้วเข้ารับการผ่าตัดคลอดบุตร พร้อมทั้งเอามดลูก รวมทั้งเนื้องอกมะเร็งรังไข่ทิ้งทั้งหมดในคราวเดียวกัน’
การตัดสินใจครั้งนั้น เป็นการกำหนดชะตาชีวิตของพี่สาวข้าพเจ้าไว้แล้ว บัดนี้ บุตรชายของเธอคนนั้นอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและเป็นคนที่มีสติปัญญาดีเยี่ยม ถ้าให้มองย้อนกลับไป ข้าพเจ้าคิดว่า ‘ณ ตอนนี้ หากเธอเป็นมะเร็งรังไข่ขณะท้อง 20 สัปดาห์เช่นเมื่อ 20 ปีก่อน พี่สาวก็คงตัดสินใจเอาชีวิตเข้าแลกกับชีวิตของลูกในรูปแบบเดียวกันเช่นเดิม’ ข้าพเจ้าขอสดุดียกย่องสตรีทุกคนที่เป็นคุณแม่และทุ่มเทชีวิตให้กับลูก ไม่ว่าการทุ่มเทนั้นจะให้ผลเช่นไร ขอให้สตรีเหล่านั้น จงพ้นจากทุกข์โศกโรคภัย มีชีวิตที่ยืนยาวและมีครอบครัวที่มีความสุขตลอดอายุขัย
ข้าพเจ้าได้สอบถามเด็กหญิงศศิธรเกี่ยวกับอนาคตของเธอและลูก เธอตอบว่า จะโอนลูกให้ไปเป็นบุตรบุญธรรมของคุณแม่เธอ ส่วนเธอ..กำลังจะกลับไปเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สำหรับแฟนเธอ ซึ่งอายุ 18 ปี ตอนนี้กำลังไปทำงานอยู่ที่ต่างจังหวัดและส่งเงินมาให้เพื่อเป็นค่าเลี้ยงดูลูกน้อย
การเป็นแม่คนนั้น ไม่ใช่เรื่องที่กระทำได้ง่าย คุณแม่ทุกคน ต้องลำบากใจกายและเสียน้ำตา ไม่รู้สักเท่าไหร่ กว่าจะเลี้ยงลูกน้อยให้เติบใหญ่จนช่วยเหลือตัวเองได้ เมื่อลูกแยกไปมีครอบครัวของตัวเอง คุณแม่ก็ยังเป็นห่วงลูกอยู่เหมือนเดิม ไม่มีวันจืดจาง ยิ่งทราบว่า ลูกของตนประสบกับเคราะห์กรรมอันเลวร้าย คุณแม่ก็ยังเฝ้าเป็นทุกข์อย่างไม่เสื่อมคลาย...ดุจดังเรื่องราวของพี่สาวข้าพเจ้า....
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น