ความสุขของข้าพเจ้าอยู่ที่การนอน
เรื่องราวที่จะเล่าต่อไปนี้เกิดขึ้นกว่า 10 ปีมาแล้ว แต่ความตื่นเต้นระทึกใจทำให้คล้ายกับว่า มันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ข้าพเจ้าได้เขียนบันทึกเหตุการณ์ต่างๆไว้อย่างละเอียดในหนังสือ " อนุสรณ์เปิดตึกอุบัติเหตุ " ของโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 สุพรรณบุรีเมื่อ ปี พ.ศ. 2530 เมื่อลองเปิดย้อนกลับไปอ่านดู รู้สึกว่ามีคุณค่าน่าสนใจ จึงขอนำมาเล่าต่ออีกครั้ง
ข้าพเจ้าเป็นคนหนึ่งที่ชอบนอน พอถึงหัวถึงหมอน ก็นอนหลับได้ทันที แต่ก่อนมักมีเพื่อน ๆ คอยค่อนแคะว่า " ชอบนอนหลับในเวลาเรียน " ฟังแล้วให้รู้สึกเจ็บใจยิ่งนัก แต่..ถ้าทุกคนรู้ถึง ที่มาของการเป็นคนหลับง่ายของข้าพเจ้า ก็คงจะเห็นใจ โดยเฉพาะต่อเหตุการณ์อุบัติเหตุที่ เกิดขึ้น
ระหว่างทางที่จะไปโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17สุพรรณบุรี
ใครๆ ที่ผ่านชีวิตนักศึกษาแพทย์มา ย่อมตระหนักได้เลยว่า เวลานอนนั้นหายากจริงๆ แต่สำหรับข้าพเจ้า เวลานอนหาได้ไม่ยากนัก เพียงแค่หลับตาลง ในเวลาเพียงชั่วพริบตา ประสาทสัมผัสก็ไม่ยอมรับรู้เรื่องราวใด ๆ แล้ว
สมัยเด็ก ๆ ข้าพเจ้าไม่เคยที่แม้จะคิด หรือให้ความสำคัญเรื่องการนอนเลย เพียงแค่นอนหลับได้ไม่ฟุ้งซ่าน ก็พอใจ ข้าพเจ้ามารู้ซึ่ง ถึงความสำคัญของการนอน ก็เมื่อตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยนี่เอง
ก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัยฯ ได้ มีเวลาว่างอยู่หนึ่งปี ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ปีก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัยฯ ไม่ได้นะสิ
เศร้าใจ ก็เศร้าใจ แต่ข้าพเจ้าไม่เคยยอมให้ความเศร้าโศกเสียใจมาเป็นเครื่องกีดขวางความทะเยอทะยาน
เพราะเหตุที่มีความทะเยอทะยานอยากเป็นหมอ ข้าพเจ้าจึงต้องขยันอย่างเป็นบ้าเป็นหลังต้องอ่านหนังสืออย่างหนัก ทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้นอนไม่พอ หลายต่อหลายครั้งต้องนั่งฟุบหลับบนโต๊ะ หลังจากทนอ่านหนังสือไม่ไหว บ่อยครั้งที่ตกใจตื่นขึ้นมา แล้วรีบถ่างเปลือกตา
ดูหนังสือต่อไป ข้าพเจ้าอยู่ในอาการของคนครึ่งหลับครึ่งตื่นอยู่ 1 ปี ผลกรรมที่ทำจึงหนุนนำให้สอบเข้าแพทย์ได้ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ความดีใจหลั่งไหลทะลักเข้ามาหาข้าพเจ้า เพราะได้เรียนแพทย์สมใจ ครั้งแรกที่ย่างก้าวเท้าเข้าไปมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งใจจะเอาเกียรตินิยมกลับมาอวดพ่อแม่ คิดว่า หากขยันและอดหลับอดนอนเหมือนตอนเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยฯ คงจะคว้าเกียรตินิยมได้ แต่อยู่ ๆ ไป ขอแค่ให้จบการศึกษาได้ปริญญา ก็จำต้องขยันและอดหลับอดนอนแทบตาย! ข้าพเจ้าอยู่ในอาการของคนครึ่งหลับครึ่งตื่น 6 ปีเต็มของชีวิต นักศึกษาแพทย์ ในที่สุด ก็สามารถเรียบจบและเดินออกจากรั้วของมหาวิทยาลัยฯ ด้วยอาการของคนเพิ่งตื่นจากหลับ
ตอนนั้น ข้าพเจ้าคิดในใจว่า " จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ได้ โดยจะใช้เวลาทำงานให้มากขึ้น และไม่นอนหลับในเวลาทำงาน "
ในปีแรกที่ทำงานหลังรับปริญญา ข้าพเจ้าทำงานได้มากจริงๆ ที่โรงพยาบาลจังหวัดพัทลุง จนได้รับคำชมจากผู้บังคับบัญชาอยู่บ่อยๆ แต่ก็ยังไม่เคยลืมนิสัยชอบนอนช่วงเวลากลางวัน ซึ่งติดมาจากสมัยเป็นนักศึกษาแพทย์
ในปีที่สองของการจบแพทย์ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น คือ ถูกย้ายไปประจำโรงพยาบาลอำเภอเล็กๆ แห่งหนึ่ง ในจังหวัดเดียวกัน ชื่อ "โรงพยาบาลปากพะยูน " พร้อมกับตำแหน่งผู้อำนวยการ ที่นั่น งานตรวจรักษามีน้อยมาก ข้าพเจ้ายังคงปฏิบัติเหมือนเดิม คือ ช่วงเวลากลางวันจะนอนวันละประมาณหนึ่งชั่วโมง พวกลูกน้องได้เขียนหยอกล้อข้าพเจ้าในข่าวสังคมซุบซิบของโรงพยาบาลว่า เป็น " เจ้าชายนิทรา " ..การนอนหลับยามกลางวันได้กลายเป็นความเคยชิน เสียแล้ว
ในปีถัดมา ข้าพเจ้าขอย้ายกลับถิ่นบ้านเกิด มาประจำยังโรงพยาบาลอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี นามว่า "โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 สุพรรณบุรี " ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากบ้านข้าพเจ้าในตัวจังหวัดประมาณ 70 กิโลเมตร แต่ยังดี มีทางลัดระยะทางห่างเพียง 20 กว่า กิโลเมตรเท่านั้น
เส้นทางลัดนี้ ถนนเกือบครึ่งหนึ่งยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงและเป็นถนนลูกรัง แนวถนนส่วนใหญ่ทอดขนานกับคลองชลประทาน คือ มีลักษณะเป็นคลองชลประทานขนาบอยู่ทั้งสองข้างของถนน ข้าพเจ้ามักใช้เส้นทางลัดนี้กลับบ้านบ่อยๆเพราะใกล้ ประกอบกับใช้รถกระบะเก่าจึงไม่ต้องห่วงหรือกลัวรถพัง
ถนนทางลัดสายนี้ เป็นถนนสายมรณะเส้นหนึ่ง เกือบทุกเดือนจะมีรถตกลงไปในคูคลองที่ขนานสองข้างทาง หลายชีวิตจบลงที่นี่อย่างน่าอนาถ คนที่รอดชีวิตมักมีปาฏิหาริย์มาช่วย
ด้วยนิสัยชอบนอนหลับเล็กน้อยตอนบ่าย เกือบทำให้ข้าพเจ้าต้องนอบหลับไปชั่วนิรันดร์ เพราะว่า วันหนึ่ง ข้าพเจ้าขับรถกระบะคันเก่ากลับบ้านในตัวเมืองจังหวัด พอถึงบ้านและพักผ่อนสักครู่หนึ่ง ข้าพเจ้าพลันนึกขึ้นได้ว่า ตอนดึกประมาณตีสองคืนนั้น มีการแข่งขันฟุตบอลโลก ระหว่างทีมชาติบราซิล กับ ทีมชาติฝรั่งเศส ข้าพเจ้ารู้สึกเกรงใจคนในบ้านไม่อยากรบกวนให้ตื่นขึ้นมาตอนดึก จึงขับรถย้อนกลับโรงพยาบาลในเส้นทางลัดเดิม เพื่อชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกนัดนี้
วันนั้น ข้าพเจ้าอ่อนเพลียมาก เพราะขับรถกลับไปกลับมาเป็นระยะทางยาว ข้าพเจ้ารู้สึกว่าหนังตาหนักกว่าปกติ แต่ไม่มีลางสังหรณ์อะไรพิเศษว่า จะมีเหตุร้าย ขณะที่ขับรถเพลินๆ เหลือระยะทางอีกประมาณ 3-4 กิโลเมตรจะถึงโรงพยาบาล ด้วยความเคยชินกับการหลับง่าย นัยน์ตาฉับพลันก็ปิดลง การปิดม่านตาครั้งนี้ เกือบปิดม่านชีวิตของข้าพเจ้าไปด้วย
ขณะนั้นข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่า รถสั่นสะเทือนผิดปกติ แท้ที่จริง รถกำลังไต่ข้างทางอยู่ในขณะที่ข้าพเจ้าหักพวงมาลัย เพื่อพยายามให้รถเลี้ยวขึ้นมาบนถนน รถก็หยุดการเคลื่อนไหว และพลิกตัว ตลบหนึ่งรอบลงไปแช่อยู่ในน้ำ ลักษณะเหมือนรถที่จอดคว่ำธรรมดา แต่ล้อทั้งสี่จมอยู่ในน้ำครึ่งล้อ
ข้าพเจ้าตื่นขึ้นมาจาก "หลับใน" อยู่ในสภาพคล้ายตื่นจากภวังค์ พยายามตั้งสติ เพื่อหาทางเอาชีวิตรอด ภายในรถตอนนั้น มีสิ่งของที่มีค่าเพียงวิทยุเทปอย่างดีหนึ่งเครื่อง วางอยู่ข้างตัวบนเบาะด้านซ้าย ใจนึกเป็นห่วงวิทยุ คิดจะยกเอาออกไปด้วย ข้าพเจ้าขยับไปขยับมา ก็เห็นว่าวิทยุ
เครื่องใหญ่เกะกะเกินไป ขืนห่วงพะวงมาก คงจมลงไปพร้อมกัน
น้ำค่อย ๆ ซึมไหลเข้าสู่ภายในรถทางพื้นล่างอย่างช้า ๆ เพราะรถติดแอร์และกระจกปิดอยู่......จึงยังพอมีเวลา ใจวิงวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก " ขอให้ช่วยลูกช้างด้วย ถ้ารอดตายไปได้ ข้าพเจ้าสัญญาว่า จะช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาสและคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ในภายภาคหน้า "
หรือว่า……. ข้าพเจ้าจะเอาชีวิตมาทิ้งไว้ในคลองชลประทานตื้น ๆ แห่งนี้ซะแล้ว!
สัญชาติญาณของการเอาชีวิตรอด ทำให้ข้าพเจ้าเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่เลวร้าย เริ่มต้นด้วยการสำรวจล็อคที่ประตูด้านคนขับ พบว่า ล็อคปลดเรียบร้อยแล้ว จากนั้น ก็พยายามมองหาวัสดุที่จะมาทุบกระจก แต่ก็หาไม่พบ รถค่อย ๆ จมลง การที่จะดันประตูรถออกไป ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะแรงดันน้ำภายนอกมากเหลือเกิน ข้าพเจ้าตัดสินใจเอามือขวาจับง้างที่เปิดประตู
ข้างคนขับและเอาหัวไหล่ยันที่ประตูพร้อมที่จะดันออกไป แล้วเอามือซ้ายมาไขกระจกลง เผื่อว่าจะลอดออกทางหน้าต่างได้ ไม่ทราบเป็นเพราะอะไร หลังจากไขหน้าต่างลงได้ครึ่งหนึ่ง หน้าต่างก็มีอันไขต่อไปอีกไม่ได้แล้ว
น้ำทะลักเข้ามาทางหน้าต่างที่เปิดออกเหมือนน้ำล้นเขื่อน รถจมลงอย่างรวดเร็วและน้ำท่วมในทันที เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลาไม่กี่วินาที แปล๊บเดียว! น้ำท่วมเกือบมิดหลังคารถ ข้าพเจ้าดิ้นรน กระเสือกกระสนอย่างทุรนทุราย เพื่อหายใจ ช้าไปอีกสักครึ่งนาที ข้าพเจ้าคงกลายเป็นศพที่น่าสงสาร
ขณะที่เกือบจะกลั้นลมหายใจไม่ไหวแล้วนั้น ฉับพลันประตูรถก็เปิดออก...ศีรษะและตัวของข้าพเจ้าคล้ายถูกแรงดูด ดึงให้โผล่พ้นน้ำพอดี ข้าพเจ้าสูดลมหายใจเข้าเต็มปอดเฮือกใหญ่ๆได้เฮือกหนึ่ง ทำให้สติที่เกือบจะหายไป หวนกลับคืนมาอีกครั้ง ลมหายใจเฮือกนี้ มีความหมายมากทีเดียว ข้าพเจ้าเกือบจะหลับไปชั่วนิรันดร์เสียแล้ว
ความจริง ก่อนหน้าที่รถจะตกลงไปในน้ำ มีรถจักรยานยนต์คันหนึ่งขับอยู่ข้างหน้า ห่างจากรถข้าพเจ้าออกไปราว 20 เมตร ชายหญิงคู่หนึ่งนั่งซ้อนกันขับช้า ๆ กำลังจะกลับบ้าน เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง คือ รถกระบะคันหนึ่งที่ขับตามมาข้างหลัง ส่ายไปมาในลักษณะเหมือนคนขับเมาหรือหลับใน เมื่อถึงทางโค้งแทนที่จะเลี้ยว กลับขับตรงไป จึงเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันดังกล่าว
เขาทั้งสองเห็นเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนรถจมลง จึงขับรถจักรยานยนต์ย้อนกลับมา ณ ตำแหน่งที่รถกระบะจมลง โชคดีที่น้ำตื้น ท่านผู้ใจบุญ คุณผู้ชาย จึงเดินลงไปในน้ำ พอเดินลงไปได้ครึ่งลำตัว ก็ถึงรถพอดี จากนั้น เขาได้ใช้เท้ายันตัวรถ และมือทั้งสองดึงประตูรถให้เปิดออก ศีรษะข้าพเจ้าจึงโผล่พ้นน้ำได้ ถ้าไม่มีชายหญิงคู่นี้ ข้าพเจ้าคงตายไปแล้ว
ด้วยความสำนึกในพระคุณ หลังจากยกมือขึ้นกราบไหว้ผู้มีพระคุณทั้งสองแล้ว ข้าพเจ้า เกิดความคิดขึ้นมาในจิตว่า " เขากับเรา ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เขายังบากบั่น ช่วยเหลือชีวิตของเราอย่างสุดความสามารถ ตัวเราเป็นหมอ โอกาสช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์มีมากอยู่แล้ว ต่อแต่นี้ ข้าพเจ้า
จะทุ่มเทช่วยเหลือผู้คนให้มากกว่าที่เคยทำมา ยิ่งเป็นคนพิการและคนด้อยโอกาส ยิ่งจะพยายามช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ "
เหตุการณ์ครั้งนี้ ได้ปลุกวิญญาณของข้าพเจ้าให้ตื่นอยู่เสมอ เดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้ารู้แล้วว่า " การตื่นอยู่ ให้ความสุขกับเรา ไม่แพ้การนอนหลับเลย "
ทุกครั้งที่ถูกปลุกให้ไปดูคนไข้ ข้าพเจ้าจะนึกถึงเหตุการณ์ครั้งนี้และไม่รีรอ รีบเร่งไปดูทันที โดยเฉพาะคนไข้หนัก เพราะหมอมีค่าสำหรับคนไข้อย่างมาก ถ้าหมอไม่รับผิดชอบแล้ว คนไข้อาจจะหลับไปชั่วนิรันดร์ได้ ชีวิตใคร ใครก็รัก.....
เดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้ายังคงนอนหลับง่ายเหมือนเดิม แต่..ไม่ถึงกับ ง่วงหงาวหาวนอนเหมือนแต่ก่อน เพราะไม่ต้องอดหลับอดนอน ทำงาน หามรุ่งหามค่ำเหมือนสมัยหนุ่มๆ ภรรยาของข้าพเจ้าพูดเสมอว่า " คนอื่นไม่รู้อะไร คนนอนหลับง่ายเป็นคนมีบุญ สำหรับข้าพเจ้า ยิ่งมีบุญมาก พอหัวถึงหมอน ก็นอนหลับแล้ว ปลุกยากด้วย ช่างมีความสุข น่าอิจฉามากจริง ๆ "
เพราะ.....เธอ....เป็นโรคนอนไม่หลับ!
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น