03 ธันวาคม 2559

ตกเลือดหลังคลอด

วันหนึ่ง ข้าพเจ้าได้รับเชิญจากสถาบันการศึกษาฝ่ายพยาบาลแห่งหนึ่ง  เพื่อให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการตายของคนไข้สตรีรายหนึ่ง   เนื่องจากตกเลือดหลังคลอด ว่า เกิดจากสาเหตุใดบ้าง และภาวะนี้จะป้องกันแก้ไขได้หรือไม่ ข้าพเจ้าตอบรับด้วยความยินดี เพราะความรู้และประสบการณ์ของข้าพเจ้า  อาจเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษา,เจ้าหน้าที่พยาบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องในวันหน้าต่อไป

หลังจากแนะนำตัวคร่าว ๆ ในที่ประชุม     ข้าพเจ้าได้ขอให้ผู้ดำเนินรายการเล่าประวัติโดยย่อของคนไข้   ผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า "ก่อนอื่น ดิฉันจะไม่ขอกล่าวถึงสถาบันที่ให้การรักษาคนไข้รายนี้ เพราะไม่มีประโยชน์อะไรในแง่การศึกษา

คนไข้สตรีรายนี้อายุ 30 ปี เคยมีบุตรมาแล้ว คน และแท้งบุตร ครั้ง มาคราวนี้ ได้คลอดบุตรเองตามธรรมชาติเมื่อครรภ์ครบกำหนด ทารกแข็งแรงดี    แต่ตัวคนไข้เองมีการตกเลือดหลังคลอดอย่างรุนแรง  ภายหลังจากได้รับการรักษาเบื้องต้น ปรากฏว่า เลือดยังคงไหลออกจากช่องคลอดตลอดเวลา     90 นาทีหลังคลอด คนไข้ได้รับการผ่าตัดเอามดลูกออกไปเพื่อหยุดเลือด หลังผ่าตัด คนไข้สตรีรายนี้ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมาไม่นานนัก"          

เนื่องจากประวัติของคนไข้ไม่สมบูรณ์  ข้าพเจ้าได้ให้ความคิดเห็นว่า "การตกเลือดหลังคลอดมี กรณี คือ กรณีแรก  ตกเลือดหลังคลอดเฉียบพลันทันที   และอีกกรณีหนึ่ง ตกเลือดหลังคลอดเกินกว่า 24 ชั่วโมงไปแล้ว   สำหรับคนไข้รายนี้ แน่นอน เป็นกรณีแรก    ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่กว่า 90% เกิดจากมดลูกหดรัดตัวไม่ดี (UTERINE ATONY)   การรักษา คือ ต้องทำให้มดลูกหดรัดตัวในลักษณะแข็งเกร็งตลอดเวลา (TETANIC CONTRACTION) เพราะกลไกการห้ามเลือดหลังคลอดนั้น การหดรัดตัวของมดลูกเป็นกลไกสำคัญที่สุด

ข้าพเจ้าอยากจะเล่าประสบการณ์สั้น ๆ ของตัวเองให้ฟัง     เพื่อจะได้รู้ถึงความรุนแรงและอันตรายของภาวะมดลูกรัดตัวไม่ดี (UTERINE ATONY)      ภายหลังคลอดบุตรตามธรรมชาติของคนไข้สตรีรายหนึ่ง  ข้าพเจ้าเป็นคนเย็บแผลให้เอง  ซึ่งคิดว่า กินเวลาไม่เกิน 10 นาที    เพียงแค่ลุกเดินจากเก้าอี้ไปล้างมือที่เปรอะเปื้อนคราบเลือดเท่านั้นแหละ เสียงพยาบาลตะโกนไล่หลังมาว่า "คนไข้ตกเลือดและทำท่าเหมือนหายใจไม่ออก  จากนั้น ก็เกิดความชุลมุนวุ่นวาย  ผู้เกี่ยวข้องหลายคนชุลมุนช่วยเหลือคนไข้ด้วยการนวดมดลูก   ฉีดยาเข้าเส้นเลือดหลายขนาน,ให้เลือด,ให้ออกซิเจน จนถึงขั้นใส่ท่อช่วยหายใจ     ผลสุดท้ายลงเอยด้วยการผ่าตัดเอามดลูกออกไปเพื่อหยุดเลือด แม้คนไข้จะรอดชีวิต แต่ต้องอยู่ ไอ.ซี.ยู เกือบ อาทิตย์   และให้เลือดไปทั้งหมด 16 ถุง

ที่เล่ามาข้างต้น ก็เพื่อให้ทุกคนทราบถึง ความรุนแรงอันตรายของภาวะนี้  ซึ่งเวลาทุกนาทีขณะนั้น ถือว่า มีค่ามาก หากผิดพลาดหรือล่าช้าในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง  อาจหมายถึงการสูญเสียชีวิตคนไข้

ผู้ดำเนินรายการ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "คนไข้รายนี้  ต่อมาได้มีการผ่าชันสูตรศพ พบว่า อวัยวะส่วนต่าง ๆ ไม่มีความผิดปรกติใด ๆ   สำหรับตัวมดลูกนั้น มีร่องรอยขรุขระไม่มากนักบริเวณปากมดลูกส่วนล่าง     เออ!...คุณหมอคิดว่า เป็นไปได้ไหมคะ ที่คนไข้รายนี้ตกเลือดเนื่องจากรกเกาะต่ำ"

ข้าพเจ้าแสดงความคิดเห็นว่า "เป็นไปได้น้อยมาก ถ้าเป็นรกเกาะต่ำจริง จะต้องมีภาวะตกเลือดก่อนคลอด (ANTEPARTUM HEMORRHAGE) นำมาก่อน 1-2 ครั้ง    แต่เราไม่พบลักษณะดังกล่าวในคนไข้รายนี้  สำหรับภาวะรกเกาะต่ำที่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้ ต้องเป็นชนิดที่รกเกาะไม่คลุมปากมดลูกหรือคลุมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  และหลังคลอดปากมดลูกน่าจะมีการฉีดขาดมากกว่าที่พบในรายนี้

สรุปว่า สาเหตุการตายของคนไข้รายนี้   น่าจะเกิดจาก การเสียเลือดจำนวนมากจากภาวะมดลูกหดรัดตัวไม่ดี (UTERINE ATONY) ซึ่งแพทย์ไม่สามารถหยุดเลือดได้ทัน"

          ผู้ดำเนินรายการถามว่า "จะมีวิธีป้องกันหรือแก้ไขภาวะตกเลือดหลังคลอดเฉียบพลันนี้ได้อย่างไร"

ข้าพเจ้าตอบว่า "ภาวะนี้จริง ๆ แล้ว สามารถป้องกันและเตรียมพร้อมอุปกรณ์แก้ไขไว้ก่อนได้   โดยสังเกตจากประวัติการฝากครรภ์ และการดำเนินการคลอด ซึ่งคนไข้สตรีที่มีแนวโน้มจะตกเลือดหลังคลอดมักมีลักษณะ ดังนี้

          1. มีประวัติเคยตกเลือดหลังคลอดในครรภ์ก่อน

          2. เคยคลอดบุตรมาแล้วหลายคน โดยเฉพาะมากกว่า คน

          3. ครรภ์นี้ท้องใหญ่มากจากภาวะครรภ์แฝด,  ครรภ์แฝดน้ำ,  หรือทารกเบาหวาน 

            เป็นต้น

          4. คนไข้ที่นัดมาทำการเร่งคลอด การดำเนินการคลอดเป็นไปอย่างเชื่องช้า  กว่า

             จะคลอดกินเวลานานมาก

เมื่อพบคนไข้สตรีที่มาคลอดเป็นดั่งข้างต้นนี้ ทีมงานควรเตรียมพร้อมอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์และห้องผ่าตัดเอาไว้   เมื่อเกิดภาวะตกเลือดหลังคลอดเฉียบพลันขึ้นเมื่อไร จะได้ดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนอย่างรวดเร็ว วิธีการแก้ไขแบ่งออกเป็น ทาง คือ 

          1. โดยใช้ยา

          2. โดยการผ่าตัด

วิธีการใช้ยาช่วยหดรัดตัวมดลูก จะต้องใช้ร่วมกับการนวดมดลูก ด้วย   ยาที่ใช้ คือ ยากลุ่มพรอสตาแกลนดิน (PROSTAGLANDIN)  ยาชนิดนี้เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายจะมีผลให้กล้ามเนื้อมดลูกหดรัดตัวอย่างรุนแรงและตลอดเวลา (TETANIC CONTRACTION)   ดังนั้น ก่อนที่จะใช้ยา จึงควรตรวจภายในและนำเอาก้อนเลือดหรือเศษรกออกจากโพรงมดลูกให้หมดเสียก่อน  จะได้ไม่เป็นอุปสรรคในการหดรัดตัวของมดลูก

สำหรับการนวดมดลูก (UTERINE MASSAGE) ควรใช้ มือร่วมกัน มือหนึ่งอยู่ภายในช่องคลอดคอยดันมดลูกจากด้านล่าง อีกมือหนึ่งวางบนหน้าท้อง กดยอดมดลูกและนวดคลึง  เพื่อช่วยการหดรัดตัว วิธีการนี้ก็เช่นเดียวกัน ต้องเอาก้อนเลือดและเศษรกออกจากโพรงมดลูกให้หมดเสียก่อนดำเนินการ

สำหรับวิธีการผ่าตัดเอามดลูกออกนั้น เป็นขั้นตอนสุดท้ายจริง ๆ  เมื่อวิธีการข้างต้นใช้ไม่ได้ผล  สำหรับระยะเวลาของการช่วยเหลือเบื้องต้นว่า นานเท่าใดจึงจะเรียกว่า ไม่ได้ผล ให้ขึ้นกับดุลยพินิจของหมอที่รักษา แต่อย่าให้นานมากเกินไป เพราะคนไข้อาจช็อคจนไม่สามารถฟื้นกลับคืนมาได้อีก

ขอสรุปอีกครั้งว่า คนไข้สตรีรายนี้  เสียชีวิตเนื่องจากสูญเสียเลือดอย่างมากจนช็อค จากภาวะมดลูกหดรัดตัวไม่ดี (UTERINE ATONY)     สำหรับการช่วยเหลือแก้ไขที่ได้ทำไป จะบกพร่องหรือไม่ คงบอกยาก    เอาเป็นว่า ส่วนใหญ่คนไข้เหล่านี้ มักจะรอดพ้นจากความตายได้ ด้วยยากระตุ้นการหดรัดตัวมดลูกซึ่งมีหลายชนิด    และทีมงานซึ่งประกอบด้วยแพทย์และเจ้าหน้าที่พยาบาล ที่ทำงานประสานกันอย่างดี   อย่างไรก็ตาม ย่อมจะมีคนไข้บางส่วนต้องจบชีวิตลงแม้จะได้รับการช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้วก็ตาม

          วันนั้น บรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างดี   เจ้าหน้าที่พยาบาลและนักศึกษาทุกคน

กลับออกจากที่ประชุมด้วยความพอใจ วันข้างหน้าพยาบาลหลายต่อหลายคนอาจจะต้องผจญกับภาวะนี้ การเตรียมพร้อมที่ดีจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ยกเว้นเหตุการณ์ที่ว่านั้น เกิดขึ้นเป็นกรณีฉุกเฉิน

          วันต่อมา ในช่วงเวลาเช้าประมาณ นาฬิกา  ข้าพเจ้าเดินผ่านและแวะเข้าไปในห้องคลอดโรงพยาบาลตำรวจ   พยาบาลห้องคลอดท่านหนึ่งเอ่ยทักทายขึ้นว่า "หมออยากทำบุญไหม?"  ข้าพเจ้าตอบไปว่า "กฐินวัดไหนเหรอและจะให้ทำเท่าไหร่ดีละ"

พยาบาลคนดังกล่าว  บอกว่า "เชิญทางโน้น ที่เตียงคลอดเลย....มีคนไข้ตกเลือดหลังคลอดรายหนึ่ง เนื่องจากรกค้างมาประมาณชั่วโมงหนึ่งแล้ว     ตอนนี้ความดันโลหิต 70/40 มิลลิเมตรปรอทเท่านั้น หมอเวรกำลังเดินทางมา   แต่แจ้งล่วงหน้าเข้ามาว่า รถติดมาก คงต้องใช้เวลาประมาณ 20 นาที กว่าจะถึงข้าพเจ้ารีบเดินไปดูคนไข้ทันที พอไปถึงที่เตียงคลอดเตียงนั้น พยาบาลที่กำลังดูแลคนไข้อยู่บอกว่า "ความดันโลหิตลดลงเหลือ 29/20 เท่านั้น"

ไม่รอช้า ขณะที่กำลังสั่งการเกี่ยวกับการให้น้ำเกลือ,เลือด   และยาหดรัดตัวมดลูก  ข้าพเจ้าก็ใส่ถุงมือล้วงรกและทำการล้วงรกไปด้วยพร้อม ๆ กัน    มือข้างหนึ่งล้วงเข้าไปในช่องคลอดและทำการขยายปากมดลูก มืออีกข้างหนึ่งกดที่ยอดมดลูกบนหน้าท้อง ข้าพเจ้าบอกกับพยาบาลว่า 

"ปากมดลูก รายนี้หดรัดตัวแข็งเกร็ง (CERVICAL CLAMP)  ช่วยฉีดยากลุ่มมอร์ฟีน(PETHIDINE) และแวลเลี่ยม (VALIUM) ให้ด้วย"

พอขยายปากมดลูกได้ ข้าพเจ้าจึงล้วงรกออกมาได้ ความดันโลหิตของคนไข้ขยับเพิ่มขึ้นตามลำดับ จาก 29/20 เพิ่มเป็น 70/40 และ 100/60 มิลลิเมตรปรอท

"คนไข้ปลอดภัยแล้ว เลือดหยุดไหล มดลูกหดรัดตัวดี   อย่างไรก็ตาม ต้องคอยดูว่า คนไข้จะปัสสาวะออกหรือไม่    เพราะคนไข้ที่ช็อคไป อาจเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันตามมาได้ข้าพเจ้าบอกกับพยาบาลที่มาช่วยเหลือ พร้อมกับสั่งการให้ยาฆ่าเชื้อเนื่องจากอาจมีเชื้อโรคเข้าไปร่างกายคนไข้ขณะปฏิบัติการล้วงรกได้

วันรุ่งขึ้น คนไข้ไม่มีปัญหาใด ๆ ลุกขึ้นเดินได้ดี ปัสสาวะปกติ ข้าพเจ้า ได้แจ้งให้คนไข้ทราบว่า เธอมีปัญหาเรื่องภาวะตกเลือดหลังคลอดจากรกค้าง ครรภ์ต่อไปก่อนจะคลอด ขอให้แจ้งกับหมอหรือพยาบาลล่วงหน้า  เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับปัญหารกค้างและตกเลือดที่อาจเกิดตามมา   คนไข้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล วัน และกลับบ้านอย่างปลอดภัย

คนไข้สตรีที่เดินทางไปคลอดตามโรงพยาบาลต่าง ๆ  มีใครรู้บ้างว่า หลังคลอดอาจมีการตกเลือดและตายได้  การไปคลอดยังสถานีอนามัยที่ห่างไกลความเจริญ ย่อมมีความเสี่ยงต่อ ภาวะนี้   ทางที่ดี คนไข้สตรีครบกำหนดคลอด ควรเลือกสถานที่คลอดซึ่งประกอบด้วย อุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ที่พร้อมครบครัน   มิฉะนั้น ท่านอาจมิได้มีโอกาสเห็นหน้าลูกน้อยที่เพิ่งคลอดออกมา เพราะ...ภาวะตกเลือดหลังคลอดชนิดเฉียบพลันนั้น น่ากลัวจริง ๆ

                               พ.ต.อ. นพ.เสรี  ธีรพงษ์  ผู้เขียน

          

                         @@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เดินทางไปต่างประเทศ

เรียนท่านผู้อ่านที่เคารพรัก วันที่ 7 มีนาคม 2553 ข้าพเจ้าจะออกเดินทางไประเทศอินเดีย โดยมีกำหนดในเบื้องต้น 4 วัน คือจะกลับในวันที่ 10 ม...