แพทย์..ต่างจากคนธรรมดาทั่วไป ก็ตรงที่ต้องตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา การตัดสินใจของแพทย์แต่ละครั้ง มีความสำคัญต่อชีวิตคนไข้และผู้คนที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่แพทย์ทุกท่านจะต้องสั่งสมประสบการณ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้การตัดสินใจแต่ละครั้ง ผิดพลาดน้อยที่สุด
วันก่อน พี่สาวข้าพเจ้าโทรศัพท์มาบอกว่า ‘คุณพ่อข้าพเจ้ามีอาการช็อกจากภาวะน้ำตาลต่ำและได้รับการรักษาอยู่ที่ห้อง ไอ. ซี. ยู. ของโรงพยาบาลจังหวัดสุพรรณบุรี’ ข้าพเจ้าจึงรีบรุดออกจากที่ทำงานทันที ตอนนั้นยังเป็นเวลาหัวค่ำ พอขับรถออกเดินทางไปได้ไม่นานนัก คุณหมอสูติรุ่นพี่ของโรงพยาบาลเอกชนที่ข้าพเจ้าทำงานออกตรวจ ได้โทรศัพท์มาบอกว่า “คุณหมอมีคนไข้มาคนหนึ่ง ชื่อ คุณนวพร ครรภ์แรก อายุครรภ์ 31 สัปดาห์ เป็นครรภ์พิษ มีความดันโลหิตสูงมากเลย 210/120 มิลลิเมตรปรอท ตัวบวมมาก น้ำหนักเพิ่ม 8 กิโลกรัมใน 3 สัปดาห์ เดี๋ยวพี่จะให้การรักษาเบื้องต้นไปก่อน แล้วพรุ่งนี้ คุณหมอรีบมาดูคนไข้หน่อยนะ!” ข้าพเจ้าฟังแล้วตกใจมาก และคิดว่า ‘การรอนานถึงหนึ่งวันแล้วค่อยมาดูอาการของคนไข้ครรภ์พิษ ย่อมจะช้าเนินนานจนเกินไป’ ข้าพเจ้าจึงได้โทรศัพท์กลับไปถามอาการของคุณพ่ออีกครั้ง ปรากฏว่า ‘อาการดีขึ้นมาก และพี่ชายที่เป็นอายุรแพทย์ก็เดินทางไปถึงแล้ว’ ไม่รอช้า..... ข้าพเจ้าตัดสินใจขับรถย้อนกลับไปดูคุณนวพรที่ห้องคลอดของโรงพยาบาลฯทันที เพราะคุณนวพรกำลังตกอยู่ในภาวะที่อันตรายมาก ซึ่งน่าจะต้องผ่าตัดคลอดฉุกเฉิน
ก่อนหน้านั้น ก็มีคนไข้ท้อง 2 คนที่ข้าพเจ้าตัดสินใจให้คลอดแบบฉุกเฉิน ชื่อคุณดำรงและคุณสมพิศ กรณีของคนไข้ท้องทั้งสองและของคุณนวพรล้วนมีความน่าสนใจอย่างมาก ชวนให้ข้าพเจ้าคิดไปต่างๆนานา แต่สุดท้าย ก็พอจะสรุปเป็นหัวข้อธรรมะว่า “การเกิดนั้นเป็นทุกข์”
สำหรับกรณีของคุณดำรงนั้น ถือว่า ตื่นเต้นและน่ากลัวมากทีเดียว วันนั้น เป็นวันจันทร์และเป็นวันหยุดราชการ ข้าพเจ้ามาเข้าเวรประจำการที่โรงพยาบาลตำรวจตอนเช้า แต่มีเหตุให้ต้องออกไปข้างนอก
เวลา 9 นาฬิกา 30 นาที นักศึกษาแพทย์ฝึกหัดได้โทรมารายงานว่า ‘มีคนไข้รายหนึ่ง ชื่อ คุณดำรง อายุ 28 ปี มีปัญหา คือ หัวใจเด็กเต้นผิดปกติอย่างเลวร้าย 2 ครั้ง (Late Deceleration) คุณดำรงตั้งครรภ์เป็นครั้งที่ 2 อายุครรภ์ 38 สัปดาห์ ปากมดลูกเปิด 3 เซนติเมตร ความบาง 75% ตอนนี้ มดลูกมีการแข็งตัวทุกๆ 3 นาที’ ข้าพเจ้าได้ขอให้นักศึกษาแพทย์ฝึกหัดคนนั้นเจาะถุงน้ำคร่ำให้กับคุณดำรง เพื่อตรวจสภาพของทารก โดยดูจากสีของน้ำคร่ำ จากนั้น ข้าพเจ้าก็รีบขับรถกลับมาดูคนไข้รายนี้ทันที เพราะคิดว่า น่าจะต้องมีการตัดสินใจทำอะไรซักอย่าง เวลาผ่านไปประมาณ 15 นาที นักศึกษาแพทย์ฝึกหัดคนเดิมได้โทรศัพท์มาบอกอีกครั้งว่า ‘เจาะได้น้ำคร่ำสีเขียว (moderate meconium)’ ข้าพเจ้าจึงสั่งการให้ผ่าตัดฉุกเฉินระหว่างนั้น พยาบาลห้องคลอดได้โทรศัพท์มาบอกอีก 2 ครั้งว่า ‘เสียงหัวใจของทารกเต้นค่อนข้างช้าอย่างน่ากลัวและกินเวลาครั้งหนึ่งค่อนข้างนาน’ ข้าพเจ้ารู้เลยว่า ‘เวลาทุกวินาทีมีค่ายิ่งกว่าทอง ซึ่งเราต้องรีบเก็บเกี่ยว ก่อนที่ความหายนะจะเกิดขึ้น’ ข้าพเจ้าขับรถด้วยความเร็วสูงและสวดคาถา ‘ชินนะบัญชร’ ไปด้วย ในใจคิด ‘ขอให้ทารกในครรภ์ของคนไข้รอดชีวิต’ โชคดี ที่คราวนั้นไม่เจอกับสภาพรถติด ข้าพเจ้าจึงใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมง ก็สามารถมาถึงห้องผ่าตัดและเข้าทำการผ่าตัดทันที เพราะทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมอยู่แล้ว ลูกคุณดำรงคลอดหลังจากลงมีดเพียงแค่ 5 นาที ซึ่งเด็กออกมาในลักษณะ ตัวอ่อนปวกเปียก หายใจไม่ค่อยดี ข้าพเจ้ารีบส่งลูกคุณดำรงให้กับหมอเด็กทันที โชคดีเหลือเกิน ภายในเวลา 1 นาที ทารกก็กลับมามีสภาพที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีคะแนนศักยภาพแรกเกิด 9 ใน 10 และคะแนนเต็ม 10 เมื่อเวลาผ่านไป 5 นาที ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงว่า “การเกิดนั้นเป็นทุกข์”
สำหรับกรณีของคุณสมพิศ เป็นเรื่องของภาวะรกเกาะต่ำ คุณสมพิศอายุ 32 ปี ตั้งครรภ์แรก ฝากครรภ์ที่ศูนย์อนามัยใกล้บ้านตั้งแต่อายุครรภ์ 8 สัปดาห์ และมาฝากครรภ์ต่อที่โรงพยาบาลตำรวจตอนอายุครรภ์ 21 สัปดาห์ ระหว่างฝากครรภ์ ไม่พบว่ามีปัญหาใดๆ จวบจนเธอตั้งครรภ์ได้ 34 สัปดาห์ เธอก็มาโรงพยาบาลด้วยเรื่องมีเลือดสดๆจำนวนหนึ่งออกจากช่องคลอด ข้าพเจ้าได้ตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้อง ก็พบว่า คุณสมพิศมีรกเกาะต่ำ(placenta previa totalis) นอกจากนั้น ยังมีมดลูกแข็งตัวร่วมด้วย ซึ่งข้าพเจ้าสามารถยับยั้งการเจ็บครรภ์ได้เป็นเวลา 7 วันด้วยการให้ยาคลายกล้ามเนื้อมดลูกผ่านทางเครื่องหยดน้ำเกลืออัตโนมัติ
ก่อนหน้าวันผ่าตัดคลอด 1 วัน ปรากฏว่า เครื่องหยดน้ำเกลืออัตโนมัติมีปัญหาหยุดทำงานเนื่องจากปลั๊กเสียบเคลื่อนจนไฟฟ้าไม่เข้า พยาบาลก็ไม่ได้สังเกต ทำให้คุณสมพิศกลับมาเจ็บครรภ์อีกเป็นเวลานานถึง 2 ชั่วโมง โชคดี ที่ยังสามารถยับยั้งการแข็งตัวของมดลูกได้อีกครั้ง แต่พอวันถัดมา มดลูกคุณสมพิศก็กลับแข็งตัวขึ้นมาใหม่ ถึงแม้จะไม่รุนแรง แต่ถือว่า ไม่เหมาะที่ยับยั้งอีกต่อไป เพราะลูกคุณสมพิศมีขนาดโตพอสมควร โดยคาดคะเนน้ำหนักได้ประมาณ 2000 กรัม
การผ่าตัดคลอดครั้งนั้น แม้จะเป็นการฉุกเฉิน แต่ก็ได้มีการเตรียมการไว้ก่อน โดยให้คุณสมพิศงดน้ำ งดอาหาร ระหว่างมื้อ และได้รับยาเร่งการพัฒนาปอดทารกในครรภ์(steroid) ตอนนั้น ข้าพเจ้าคิดว่า การผ่าตัดคลอดคงไม่น่าจะมีปัญหาภาวะแทรกซ้อนเนื่องจากมีประสบการณ์เรื่องนี้มากพอสมควร ดังนั้นจึงไม่ได้ตรวจอัลตราซาวนด์ซ้ำอีกครั้งเพื่อดูตำแหน่งของรกให้ชัดเจน อันจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนผ่าตัด ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดถนัด
พอลงมีดกรีดผ่านมดลูกส่วนล่าง(lower uterine segment) ก็ต้องพบกับความยุ่งยากทันที เพราะมีส่วนรกมาบังทางเข้า ข้าพเจ้าค่อยๆเลื่อนตำแหน่งเจาะผ่านรกโดยพยายามใช้มือคลำหาส่วนของรกที่บางที่สุด เพื่อจะทะลวงและเอาเด็กออกมาทางนั้น แต่ก็กระทำด้วยความยากลำบาก เนื่องจากรกมีการลอกตัวบางส่วน โชคดี ที่ข้าพเจ้าใช้มือเลาะส่วนของรกขึ้นไปทางด้านบนและเจอถุงน้ำคร่ำ พอเจาะถุงน้ำคร่ำได้ ปรากฏว่า รกส่วนที่เกาะพื้นมดลูกด้านล่าง(posterior)กินพื้นที่ค่อนข้างมาก ขัดขวางทางออกของทารก ประกอบกับทารกอยู่ในท่าขวางและเอาส่วนหลังขึ้น ข้าพเจ้าจึงไม่สามารถทำคลอดทารกได้ ตอนนั้น ข้าพเจ้าใจเต้นระทึกอย่างรุนแรง พยายามพูดกับนักศึกษาแพทย์ผู้ช่วยว่า ‘เราต้องใจเย็นๆ ไม่เช่นนั้น แขนเด็กจะหัก’ ข้าพเจ้าค่อยๆจับมือเด็กข้างหนึ่งจับยัดเข้าไปอย่างนุ่มนวลถึง 2 ครั้ง 2 ครา เพราะมือข้างนั้นโผล่นำออกมาจากแผลผ่าตัด ทำให้ไม่สามารถจับขาเด็กได้ เนื่องจากช่องแผลผ่าตัดแคบเกินไป วิธีการแก้ไข คือ ต้องใช้กรรไกรตัดเปิดแผลเพิ่มในลักษณะinverted Tที่บริเวณกึ่งกลางแผลเดิมจากล่างขึ้นบนจนมีพื้นที่พอจากนั้น ข้าพเจ้าก็พยายามควานหาขาของเด็ก ข้าพเจ้าใช้เวลาอยู่นานพอสมควร พร้อมๆกันนั้น ในใจก็นึกถึงคาถา‘ชินนะบัญชร’ ข้าพเจ้าภาวนาขอให้จับขาของลูกคุณสมพิศได้ ในที่สุด..ข้าพเจ้าก็สามารถจับขาลูกคุณสมพิศได้และทำคลอดอย่างช้าๆด้วยความระมัดระวังแบบการทำคลอดท่าก้น พอเด็กคลอดออกมา ข้าพเจ้ารีบตัดสายสะดือและส่งให้หมอเด็กทันที ตอนนั้น ข้าพเจ้าสังเกตว่า ‘รกมีการลอกตัวจากมดลูกเกือบหมดแล้ว’ ช้าไปอีกนิดเดียว ลูกคุณสมพิศต้องตายแน่! ... นี่แหละ..ที่ว่า “การเกิดนั้นเป็นทุกข์”
ย้อนกลับมากรณีของคุณนวพร เมื่อข้าพเจ้าพบเธอในห้องคลอดตอนประมาณ 2 ทุ่ม ข้าพเจ้าก็ต้องตกใจเพราะคุณนวพรตัวบวมมาก เธอมีสีหน้าไม่สู้ดี ด้วยรู้ว่า เธอจะต้องถูกผ่าตัดคลอดแบบฉุกเฉินอย่างแน่นอน ตอนนั้น คุณนวพรได้รับยาลดความดันโลหิตชนิดให้ผลเร็วไปแล้ว แต่ผลของยาย่อมอยู่ได้ไม่นาน ข้าพเจ้าได้อธิบายให้เธอและญาติๆฟังว่า การรักษาโรคนี้มี 3 ข้อ คือ 1.ลดความดันโลหิต 2. ป้องกันชัก 3. ทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลง สำหรับการป้องกันชัก ข้าพเจ้าได้ฉีดยาแมกนีเซี่ยมตามขนาดที่กำหนดให้เช่นกัน ส่วนการทำให้ครรภ์สิ้นสุดลง นั้นหมายถึง ‘จะต้องผ่าตัดคลอดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้’ เพื่อให้ลูกเกิดรอดและแม่ปลอดภัยจริงๆแล้ว ข้าพเจ้าไม่แน่ใจเลยว่า จะได้ผลตามที่หวัง จึงต้องมีการวางแผนสำรองไว้ ด้วยการให้ยาเร่งการพัฒนาปอดทารกและปรึกษาอายุรแพทย์ให้ช่วยมาดูแลเรื่องความดันโลหิตของคนไข้ ขณะเดียวกันก็ตามหากุมารแพทย์ที่เชี่ยวชาญอย่างยิ่งเรื่องทารกน้ำหนักน้อย ซึ่งเผอิญ ขณะนั้นท่านไม่ว่าง แต่จะว่างในวันถัดไปช่วงตอนเย็น ข้าพเจ้าไม่มีทางเลือก ต้องนอนเฝ้าคุณนวพรทั้งคืนเพราะหากมีปัญหาเรื่องความดันโลหิตควบคุมไม่ได้ ก็จะผ่าตัดให้ทันทีโดยไม่คำนึงถึงตัวทารก ซึ่งเรื่องราวต่างๆเหล่านี้ ข้าพเจ้าได้อธิบายให้คุณนวพรและสามี รวมทั้งญาติๆฟังอย่างแจ่มแจ้ง เพราะ ‘แม่ย่อมสำคัญกว่าลูกเสมอในสภาพการณ์เช่นนี้’
เวลาผ่านไปอย่างช้าๆ ตอนนั้น คุณนวพรขอร้องให้เอาสายสวนปัสสาวะที่ใส่ไว้ออก เพราะมันทำความรำคาญให้อย่างมากจนไม่สามารถนอนหลับได้ ถ้าเป็นสถานพยาบาลอื่นที่เคร่งครัด คุณหมอคงไม่ยอมเพราะมันช่วยบอกถึงอันตรายของยากันชักได้ แต่ข้าพเจ้ารู้สึกเห็นใจ ประกอบกับคนไข้อยู่ในการดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนั้น คุณนวพรจึงได้รับการยกเว้นในเรื่องนี้
วันรุ่งขึ้น เวลาประมาณ 17 นาฬิกา ข้าพเจ้าได้ทำการผ่าตัดคลอดให้กับคุณนวพร ซึ่งทารกที่คลอดออกมา มีน้ำหนักเพียง 1450 กรัม พอๆกับที่คาดคะเน (1500 กรัม) เป็นเพศหญิง กุมารแพทย์ได้ช่วยเหลืออย่างดี โดยไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ อย่างไรก็ตาม ทารกน้อยจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษอยู่อีกนานนับเดือนกว่าจะสามารถได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้
เหตุการณ์ในการตัดสินใจผ่าตัดให้คุณนวพรนั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากลำบากใจสำหรับข้าพเจ้า เพราะไม่แน่ใจว่า ผลจะออกมาเลวร้ายหรือไม่ แต่จากประสบการณ์ ก็เชื่อว่า น่าจะออกมาค่อนข้างดี อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครสามารถหยั่งรู้อนาคตได้ ทารกอาจไม่รอดชีวิต หรือมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น
ใครเลยจะเข้าใจการตัดสินใจของแพทย์ที่ให้การรักษาคนไข้ที่ตกอยู่ในสภาพที่อันตรายมากๆอย่างนี้ และแพทย์ทุกคนยังคงต้องตัดสินใจในลักษณะเช่นนี้ต่อไปทุกเมื่อเชื่อวัน
ทุกสิ่งทุกอย่างได้ผ่านไปแล้ว เมื่อมองย้อนกลับไป จะพบว่า การผ่าตัดคลอดให้คุณดำรงนั้นต้องทำทันที ช้าเพียงเล็กน้อย ทารกเสียชีวิต สำหรับกรณีของคุณสมพิศ แม้จะเป็นภาวะรีบด่วน แต่เมื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้นได้ ก็สามารถรอต่อไปได้นานหลายวัน สำหรับกรณีของคุณนวพร เรารอได้เพียงระยะเวลาหนึ่งตามความจำเป็น แต่ก็ไม่นานนัก ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เราต้องยืดหยุ่นตามสถานการณ์
ช่วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ข้าพเจ้ามีจิตใจเศร้าหมองมากจากเหตุการณ์ที่เป็นกรรมเก่า พอได้มีโอกาสเข้าวัดปฏิบัติธรรม จนความศรัทธาหยั่งรากลงลึกอย่างมั่นคงแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกมีจิตใจผ่องใสขึ้นมาก จนแปลกใจว่า ‘ทำไมข้าพเจ้าและผู้คนจำนวนมากจึงได้แต่เฝ้ามองแต่ไม่เคยเข้าวัดปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ทั้งๆที่สิ่งดีวิเศษเช่นนี้อยู่ใกล้ตัวเราเพียงแค่เอื้อม...’ ดั่งบทกลอน “มีทุกข์ พบธรรม” ที่ข้าพเจ้าเขียนขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
ตัณหา กาเม การเสสรวล สิ่งยั่วยวน ชวนเสน่ห์ ดูเก๋ไก๋
ให้มนุษย์ ยึดติด ชิดกับใจ อย่างหลงใหล ไม่แจ้ง ในความจริง
พระท่านว่า ความทุกข์ มีหลายหลาก ล้วนดับยาก จากเหตุ แห่งทุกสิ่ง
อวิชชา นำมาซึ่ง การพึ่งพิง อันดียิ่ง ของกองทุกข์ ขลุกกับใจ
ความเกิด ความตาย และความแก่ ความพ่ายแพ้ พลัดพราก จากคนใกล้
ความโศกเศร้า รำพัน ด้วยอาลัย ย่อมทำให้ ไม่เป็นสุข ทุกคืนวัน
ทุกข์ของเรา บ้างก็เบา บ้างก็หนัก บ้างก็รัก บ้างก็ชัง ยังเฝ้าฝัน
บ้างก็ง่าย บ้างก็ยาก สารพัน ใจสะบั้น หวั่นไหว ในอารมณ์
ทุกปัญหา ย่อมมี ทางแก้ไข อุปสรรค ปานใด ให้ขื่นขม
เปรียบขุนเขา มากมาย สุดสายลม ไม่เกินคม ปัญญา ฟ้าประทาน
อันปัญญา ไหนเล่า เท่าธรรมะ ที่พุทธะ พระองค์ ทรงเรียกขาน
ว่านั่นคือ ศาสดา ตลอดกาล นับแต่หลัง ปรินิพพาน พ้นผ่านมา
อริยสัจ ปัจจัย ให้ดับทุกข์ ชี้ทางสุข ปลุกจิต คิดค้นหา
ถึงตัวเหตุ สมุทัย ไขปัญญา นิโรธ มรรค จักพา ฝ่าผองภัย
อย่ายึดติด อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกสิ่งเพียง ตั้งอยู่ ชั่วครู่ใหญ่
เมื่อมีเกิด ก็มีดับ ลับจากไป ของอันใด ไม่ดำรง คงถาวร
สติ หิริ โอตตัปปะ ถือเป็นข้อ ธรรมะ คำพระสอน
ช่วยปกป้อง คุ้มครอง จากนิวรณ์ เหมือนละคร ตอนจบ พบสิ่งดี
อนุโมทนา แล สาธุ ขอทุกคน บรรลุ ความสุขี
จิตสว่าง ห่างไกล อเวจี สำเร็จมี มรรคผล จนนิพพาน.
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น