03 ธันวาคม 2559

สายสะดือเกาะที่ถุงน้ำคร่ำ

สายสะดือเกาะบนถุงน้ำคร่ำ( Veramentous Insertion )

ทารกในครรภ์สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องกินอาหารและหายใจ เพราะได้สารอาหารและก๊าซออกซิเจนจากเลือดทางสายสะดือ พร้อมๆกันนั้น ทารกก็จะถ่ายเทของเสียแลกเปลี่ยนออกไปทางกระแสเลือดด้วย  สายสะดือมีเส้นเลือดอยู่ภายใน เส้น คือ เส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำ คอยทำหน้าที่ดังกล่าว ปกติสายสะดือจะเกาะอยู่บนตัวรก  แต่ก็มีอยู่บ้างเหมือนกัน ที่สายสะดือไปเกาะที่ถุงน้ำคร่ำ ( Velamentous Insertion ) เส้นเลือดทั้งสองจากสายสะดือจะแผ่กระจายไปรอบๆคลุมบนถุงน้ำคร่ำคล้ายใยแมงมุมที่ไร้ระเบียบ และเชื่อมต่อกับเส้นเลือดบนตัวรก ความผิดปกตินี้เองสามารถนำความตายมาสู่ทารกได้ในกรณีที่ถุงน้ำคร่ำเกิดฉีกขาดและไปตัดถูกเส้นเลือด เพราะเลือดที่ไหลออกมาเป็นเลือดของทารก ไม่ใช่เลือดของมารดา

สัปดาห์ที่แล้ว ข้าพเจ้าได้ผ่าตัดคลอดบุตรให้กับคนไข้สตรีรายหนึ่ง ชื่อ คุณสุจินตนา เธอตั้งครรภ์นี้เป็นครรภ์ที่ 3  ซึ่ง ท้องแรกเธอคลอดบุตรโดยการผ่าตัดคลอด ลูกทั้งสองอายุ และ ขวบตามลำดับ ครั้งนี้คุณสุจินตนา มาฝากครรภ์ทั้งหมด  10 ครั้งสม่ำเสมอตามนัดทุกครั้ง ระหว่างตั้งครรภ์ไม่พบมีภาวะแทรกซ้อนใดๆ  เมื่ออายุครรภ์ครบ 38 สัปดาห์ ข้าพเจ้าได้นัดเธอมาผ่าตัดคลอด บุตรเหมือนกับคนไข้สตรีตั้งครรภ์ครบกำหนดทั่วไป 

การผ่าตัดเปิดหน้าท้องเข้าไปในครั้งนี้ ไม่ได้พบมีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้น ทุกขั้นตอนของการผ่าตัดผ่านไปอย่างราบรื่น โดยไม่มีปัญหา  พอมีดกรีดผ่านชั้นกล้ามเนื้อมดลูกถึงถุงน้ำคร่ำ ข้าพเจ้าก็เจาะถุงน้ำคร่ำเข้าไปและล้วงเอาเด็กออกมา เด็กร้องดี ไม่มีปัญหา น้ำหนักแรกคลอด 3280 กรัม เพศชาย หน้าตาน่ารักมาก

แต่…….ระหว่างที่กำลังจะล้วงรก ข้าพเจ้าสังเกตว่า สายสะดือของเด็กไม่ได้เกาะที่ตัวรกเหมือนปกติทั่วไป สายสะดือของเด็กคนนี้เกาะอยู่ที่บริเวณถุงน้ำคร่ำ ซึ่งพบได้น้อยมาก ประมาณร้อยละ ของครรภ์เดี่ยว และมากขึ้นอีกเล็กน้อยในครรภ์แฝด ลักษณะการเกาะของสายสะดือบนถุงน้ำคร่ำนี้ มีชื่อเฉพาะว่า Velamentous Insertion of Cord การที่มันมีชื่อเฉพาะได้ แสดงว่า มันมีความสำคัญ ซึ่งความสำคัญที่ว่านั้น สามารถนำความตายมาสู่ทารกได้ 

เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ขณะที่ยังศึกษาเป็นแพทย์ฝึกหัดผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลศิริราช ได้เกิดเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัวเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าจดจำได้อย่างไม่มีวันลืม เหตุการณ์ที่ว่านั้นเกิดจากการที่สายสะดือเกาะบนถุงน้ำคร่ำเหมือนกับครั้งนี้ แต่ผลที่ได้กลับแตกต่างกันอย่างกับหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะครั้งนั้น ทารกเสียชีวิต  แต่ครั้งนี้ ทารกปลอดภัย 

ยังจำได้ คนไข้สตรีรายนั้นอายุราว 30 ปี ใบหน้าเรียบง่าย ท่าทางคงเป็นชาวชนบทที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เธอตั้งครรภ์แรกและฝากครรภ์สม่ำเสมอ เธอมาโรงพยาบาลด้วยอาการเจ็บครรภ์ ยังไม่มีน้ำเดินหรือเลือดออกจากช่องคลอด  ข้าพเจ้าจำได้ว่า เธอนอนรอคลอดอยู่ที่ชั้นล่างของตึกสูติฯ  ช่วงนั้น เป็นเวลากลางวัน แพทย์ฝึกหัดผู้เชี่ยวชาญรุ่นน้องปีที่ ได้เข้ามารายงานกับข้าพเจ้าเกี่ยวกับคนไข้สตรีรายดังกล่าวและเล่าถึงการเจาะถุงน้ำที่ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม ภายหลังเจาะถุงน้ำ ก็มีน้ำคร่ำไหลออกมาลักษณะของสีน้ำคร่ำปกติ ไม่มีเลือดปนแต่อย่างใด ข้าพเจ้าได้ตรวจภายในเพิ่มเติม เพื่อดูว่า มีปัญหาอะไรอีกหรือไม่  ข้าพเจ้าต้องรู้สึกแปลกใจ เพราะคลำได้คล้ายเส้นเลือดหยุ่นๆบนถุงน้ำคร่ำ ข้าพเจ้าสงสัยว่าน่าจะเป็น เส้นเลือดบนถุงน้ำคร่ำและวางอยู่บริเวณด้านหน้าต่อศีรษะเด็ก( Vasa Previa )   แต่ก็ไม่มั่นใจนัก จึงเรียนปรึกษาอาจารย์ผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบในวันนั้นให้มาดู ท่านอาจารย์มาตรวจภายในคนไข้ซ้ำ ก็ยังไม่แน่ใจว่า เป็นเส้นเลือดบนถุงน้ำคร่ำหรือไม่ ( Vasa Previa )  อย่างไรก็ตาม ท่านอาจารย์ได้ตัดสินใจให้ส่งคนไข้ไปยังห้องผ่าตัดด่วนเพื่อผ่าตัดเอาเด็กออกทางหน้าท้อง แต่ช้าเกินไปเสียแล้ว พยาบาลประจำการห้องรอคลอดฟังเสียงหัวใจเด็กไม่ได้ยินอีกต่อไป นั่นแสดงว่า ทารกน้อยน่าจะเสียชีวิตจากการฉีกขาดของเส้นเลือดบนถุงน้ำคร่ำ  อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าได้ผ่าตัดคลอดเอาเด็กรายนั้นออกมาทันทีที่ตัดสินให้ผ่าตัด ด้วยยังหวังว่า พยาบาลอาจผิดพลาดในการค้นหาเสียงการเต้นของหัวใจเด็กจากเครื่องจับเสียงการเต้นหัวใจไฟฟ้า  แต่โชคไม่ได้เข้าข้างเรา…. มัจจุราชได้ชิงเอาวิญญาณของหนูน้อยออกจากร่างไปสู่แดนสุขาวดีเสียแล้ว ภาพของเด็กผู้ชายผู้น่ารักซึ่งไร้วิญญาณภายในอุ้งมือข้าพเจ้าในห้องผ่าตัด ยังคงติดตาข้าพเจ้ามาตลอดจวบจนถึงทุกวันนี้  ขอให้ดวงวิญญาณของหนูน้อยจงไปสู่สุคติด้วยเถิด 

สำหรับกรณีของคุณสุจินตนา ข้าพเจ้ารู้สึกตกใจกับภาพสายสะดือที่เกาะบนถุงน้ำคร่ำอย่างมาก เพราะถ้าเจาะถุงน้ำคร่ำพลาดไปตัดเส้นเลือด เด็กคงเสียเลือดไปมากทีเดียว เด็กแรกคลอดที่เสียเลือดเกิน 100 ซี.ซี.( มิลลิลิตร มีโอกาสตายได้ทุกเมื่อ จึงนับเป็นโชคดีที่ไม่เกิดเหตุการณ์ที่น่าสะพรึงกลัวซ้ำกับที่เกิดในอดีต

หลังคลอด วัน ตอนที่เข้าไปเยี่ยมคุณสุจินตนา ข้าพเจ้าได้บอกกับเธอว่า “ ดีนะ ที่คุณยังไม่มีน้ำเดิน ถ้าคุณมีน้ำเดินออกมาละก็ แสดงว่า ถุงน้ำคร่ำได้แตกแล้ว เส้นเลือดบนถุงน้ำคร่ำ อาจฉีกขาดจนเป็นเหตุให้ทารกตกเลือดตายได้  การผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง ก็ให้ผลดีในกรณีแบบนี้แหละ .. ”

คุณสุจินตนา นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ วัน ก็ขอกลับบ้านพร้อมกับลูกชาย  ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจไปกับเธอด้วย ลองมองย้อนกลับไปที่ห้องผ่าตัด หากข้าพเจ้าไม่ได้สังเกตการเกาะของสายสะดือขณะล้วงรกออกจากมดลูกหลังคลอดเด็ก ข้าพเจ้าคงไม่รู้ว่า คนไข้รายนี้ มีสายสะดือเกาะอยู่บนถุงน้ำคร่ำ 

การคลอดโดยวิธีธรรมชาติ ต้องระวังภาวะนี้ ( Vasa previa ) ให้มาก เพราะเด็กจะตายทันทีที่ถุงน้ำคร่ำแตก การวินิจฉัยล่วงหน้าโดยเครื่องมือใดๆ  ก็ไม่สามารถตรวจพบได้ ยกเว้นการตรวจภายในด้วยมือแล้วรู้สึกหยุ่นๆบริเวณถุงน้ำคร่ำ ซึ่งในทางปฏิบัติ ถือเป็นเรื่องยากที่จะวินิจฉัยได้ก่อนล่วงหน้า  อย่างไรก็ตาม หากสงสัย ไม่แน่ใจหลังจากตรวจด้วยมือ โปรดอย่ารอช้า  ผ่าตัดคลอดไปเลย      

การคลอดทางช่องคลอด ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ละครั้งของกระบวนการคลอด หลังจากถุงน้ำคร่ำแตกแล้ว บางทีใช้เวลาเปิดขยายปากมดลูกเนิ่นนาน นับ 10 ชั่วโมง ระหว่างนั้นอาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงเกิดขึ้น เมื่อปากมดลูกเปิดหมด ก็ยังมีภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างที่เป็นอันตรายต่อทารกเกิดขึ้นได้อีก เช่น คลอดติดไหล่ ( Shoulder Dystocia ) ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของทารก จึงควรคลอดบุตรโดยการผ่าตัดเอาเด็กออกทางหน้าท้อง ในกรณีที่แม่หรือบุตรมีข้อบ่งชี้บางอย่างที่สมควรผ่าตัดคลอด แม้จะยังไม่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป อาทิเช่น แม่ตัวเตี้ยต่ำกว่า 145 เซนติเมตร คุณแม่วัยรุ่น ลูกตัวใหญ่เกินไปเมื่อเทียบกับแม่ เป็นต้น

เกิดเป็นคน ไม่ใช่เรื่องง่าย  ควรรักและเสียดายชีวิตตน  อย่าคิดตื้นๆ ด้วยการทำลายตัวเองด้วยวิธีใด วิธีหนึ่ง เพราะบุคคลซึ่งเสียใจมากกว่าเรา ก็คือ พ่อแม่ …………..

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เดินทางไปต่างประเทศ

เรียนท่านผู้อ่านที่เคารพรัก วันที่ 7 มีนาคม 2553 ข้าพเจ้าจะออกเดินทางไประเทศอินเดีย โดยมีกำหนดในเบื้องต้น 4 วัน คือจะกลับในวันที่ 10 ม...