ถุงน้ำดีอักเสบในคนท้อง
ลูก คือสิ่งที่มีค่ามากที่สุดในครอบครัว แต่..กว่าลูกน้อยจะเกิดมา ใครจะรู้ถึงหัวอกของคุณแม่ว่า ต้องพานพบกับปัญหาอะไรบ้าง เพราะภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์นั้นมีมากมาย โดยไม่มีสัญญาณบอกล่วงหน้า หากท่านกำลังตั้งครรภ์อยู่ ก็ขออวยพรให้ท่านพบแต่สิ่งดีๆต่อแต่นี้จนถึงวันคลอดและลูกน้อยเกิดรอดปลอดภัย
ตอนเช้า มีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงอย่างหนึ่งเกิดขึ้น คือ คนไข้ท้องสาม เจ็บครรภ์มาคลอด ตอนที่กำลังจะส่งคนไข้ขึ้นไปยังห้องคลอดชั้น 2 ของโรงพยาบาล ปรากฏว่า ลิฟต์เกิดใช้การไม่ได้ขึ้นมาอย่างฉุกเฉิน ทางพยาบาลจึงต้องเรียกนายช่างมาซ่อมเป็นการด่วน ส่วนคนไข้รายนี้ ก็จำเป็นต้องใช้วิธีให้คนงานแบกหามเปลขนส่ง พอแบกเปลไปได้ครึ่งทาง คนไข้เกิดรู้สึกอยากเบ่งคลอด คราวนี้เลยเดือดร้อน คนงานต้องขนคนไข้กลับมาคลอดที่ห้องตรวจโรค โดยอาศัยเครื่องมือและเจ้าหน้าที่จากห้องคลอดมาดำเนินการ พอคลอดเสร็จและคนงานขนส่งคนไข้ด้วยเปลขึ้นไปจนถึงห้องคลอด ลิฟต์ก็ได้รับการแก้ไขและใช้การได้พอดี เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงแบบนี้มีปรากฏให้เห็นอยู่พอสมควรทีเดียว
ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าเข้าเวรประจำการโรงพยาบาล มักเจอะเจอปัญหามากมายเกี่ยวกับคนท้องที่กำลังจะคลอด หลายรายลงท้ายด้วยการผ่าตัด แต่สิ่งหนึ่งที่ช่วยเหลือในการตัดสินใจให้การรักษาคนท้องขณะนั้น คือ การรายงานของเจ้าหน้าที่พยาบาล ถ้าเป็นพยาบาลจบใหม่หรือแพทย์ฝึกหัด ส่วนใหญ่จะรายงานคลาดเคลื่อน เรื่องรุนแรงก็รายงานเสมือนว่า เรื่องนั้นเป็นเหตุการณ์ธรรมดา แต่เรื่องธรรมดาๆของคนท้องใกล้คลอดกลับรายงานอย่างน่าตื่นเต้น ดังเรื่องที่จะเล่าต่อไป
วันนั้นเป็นวันเสาร์ เวลาประมาณ 9 นาฬิกา คุณสมพร เจ็บท้องแถวลิ้นปี่ จากนั้น อาการเจ็บก็ร้าวลงมาทางด้านล่างและที่ตัวมดลูก คุณสมพรเริ่มโทรศัพท์มาปรึกษาข้าพเจ้าแต่แรกเลยว่า “ไม่รู้เป็นอะไร รู้สึกเจ็บท้อง เจ็บทั่วไปหมด หมอจะให้ทำยังไงดี?”
ข้าพเจ้าถามเธอว่า “คุณสมพรมีมดลูกแข็งตัวร่วมด้วยไหม?”
เธอตอบว่า “ไม่รู้เหมือนกัน แต่อาการเจ็บครั้งนี้ ไม่เหมือนครั้งก่อนๆ เจ็บแปลกๆแถวลิ้นปี่และตัวมดลูก เจ็บมากขึ้นเรื่อยๆ พยายามสังเกตตัวเองว่า อาการเจ็บจะลดลงไหม ก็ไม่มีทีท่าว่า จะลดลง จึงต้องโทรศัพท์มารบกวนหมอ”
“อึม....ผมว่า คุณสมพรลองรับประทานยาคลายกล้ามเนื้อมดลูก (Bricanyl) ที่ให้ไปและเฝ้าสังเกตอาการดูสักพักหนึ่ง ถ้าไม่ดีขึ้น ก็โทรมาปรึกษาผมอีกที”
เรื่องราวของคุณสมพร เริ่มต้นเหมือนกับว่า ไม่มีอะไรน่าสนใจ คือ คล้ายๆกับคนท้องอื่นทั่วๆไป ที่ไม่เคยคิดว่า จะมีปัญหาระหว่างตั้งครรภ์และช่วงรอคลอด หากสังคมเราเป็นเช่นนั้น คือ มีแต่เรื่องธรรมดาๆเกิดขึ้นทุกวัน ป่านนี้ ก็คงไม่มีปัญหารุมเร้าจนแผ่นดินแทบจะลุกเป็นไฟ หากคนท้องทุกคนคลอดง่าย เหมือนกับสัตว์โลกที่คลอดลูกออกมาแล้ว ทั้งลูกและแม่ต่างก็ ดำเนินชีวิตต่อไปได้ตามปกติ ก็คงไม่จำเป็นต้องมีคุณหมอหรือโรงพยาบาลไว้คอยรองรับคนท้องเหล่านั้น ตรงกันข้าม คนท้องทุกคนล้วนเสี่ยงอันตรายอย่างมากต่อภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์และช่วงรอคลอด อันตรายที่ว่านั้นมีมากถึงขั้นพิการเสียชีวิตได้ทั้งแม่และลูก เช่น ลูกสมองพิการเนื่องจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยงเพราะรกลอกตัวก่อนกำหนด หรือแม่เสียชีวิตจากการตกเลือด
คุณสมพรตอนนี้มีอายุ 34 ปี ตั้งครรภ์เป็นครั้งที่2 บุตรชายคนแรกคลอดโดยการผ่าตัดเอาเด็กออกทางหน้าท้องเมื่อปี พ.ศ. 2540 คุณสมพรเริ่มฝากครรภ์ครั้งแรกเดือนเมษายน 2547 โดยมีอายุครรภ์เพียง 7 สัปดาห์ ผลการตรวจเลือดทั่วไปและทดสอบเบาหวาน ไม่พบความผิดปกติ
ปลายเดือนสิงหาคม ขณะตั้งครรภ์ 25 สัปดาห์ คุณสมพรได้รับการเจาะตรวจเลือดสำหรับโรคเบาหวานอีกครั้ง (Oral Glucose tolerance test) เนื่องจากการทดสอบเพื่อกรองภาวะเบาหวานในครั้งแรกให้ผลบวก
ปลายเดือนกันยายน ขณะตั้งครรภ์ได้ 30 สัปดาห์ คนไข้เริ่มมีปัญหามดลูกแข็งตัวผิดปกติ ข้าพเจ้าได้ให้ยาคลายกล้ามเนื้อมดลูก (Bricanyl) แต่นั้นเป็นต้นมา
วันที่ 6 พฤศจิกายน คุณสมพร ซึ่งมีอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ มีอาการเจ็บท้องบริเวณลิ้นปี่และมดลูกดังได้กล่าวมา เมื่อโทรศัพท์มาหาข้าพเจ้าอีกครั้ง เธอก็ต้องเข้ามานอนพักในห้องคลอด เพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด รวมความว่า ตั้งแต่ต้น คนไข้มาตามนัดทุกครั้ง และมาฝากครรภ์เป็นจำนวนถึง 11 ครั้ง ก็ยังมีปัญหาจนได้
บ่ายโมง คุณสมพรมาถึงที่ห้องคลอด ข้าพเจ้าได้รับการรายงานเบื้องต้นว่า “คนไข้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ตอนนี้ให้ติดเครื่อง NST ( Non- stress test )เพื่อดูการแข็งตัวของมดลูกและการเต้นของหัวใจเด็กอยู่ ” พยาบาลท่านหนึ่งของห้องคลอดโทรศัพท์มารายงานข้าพเจ้า
“ลองสังเกตอาการของคนไข้ไปสักพักหนึ่งก่อน ก็แล้วกัน” ข้าพเจ้าตอบโทรศัพท์กลับไป โดยยังไม่ค่อยสบายใจอยู่ดี เนื่องจากคุณสมพรพูดกับข้าพเจ้าด้วยน้ำเสียงที่วิตกกังวลกับอาการปวดท้องอย่างมาก
เวลาผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง พยาบาลผู้มากประสบการณ์ท่านหนึ่งซึ่งมีชื่อเล่นว่า ‘พี่โม่ง’ได้โทรศัพท์มาหาข้าพเจ้าด้วยความห่วงใยว่า “ หมอ!....หมอ!... พี่ว่านะ คนไข้หมอยังมีอาการปวดบริเวณยอดมดลูก และลิ้นปี่ตลอดเวลา ไม่มีช่วงหายปวดสนิท พี่ลองใช้มือคลำมดลูกดู รู้สึกว่า มดลูกคนไข้มีการแข็งตัวเบาๆจากการสัมผัสด้วยมือ แต่เครื่องตรวจNSTไม่แสดงออกมาเป็นกราฟ มดลูกมีการแข็งตัวบ่อยมากพอสมควร!!! แข็งตัวครั้งหนึ่งนานประมาณ 15 วินาที และคนไข้มีอาการปวดท้องค่อนข้างมาก หมอจะให้ทำอะไรไหม?”
“เออ! พี่โม่ง ลองเฝ้าดูคนไข้อย่างใกล้ชิดไปอีกสักพักหนึ่งก็แล้วกัน และช่วยฉีดยา(Bricanyl) 1/2 หลอดให้คนไข้ตอนนี้เลยนะ ถ้ามีความผิดปกติอะไร! พี่ช่วยโทรบอกผมด้วย ตอนนี้ผมอยู่(โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง)ข้างนอก ยังเข้าไปไม่สะดวก บางทีผมอาจตัดสินใจผ่าตัดคลอดให้กับคนไข้เลยก็ได้ เพราะอายุครรภ์ 36 สัปดาห์แล้ว เด็กคงรอด หากจำเป็นต้องเอาออกมาอยู่ข้างนอก ” ข้าพเจ้าตอบกลับไปทางโทรศัพท์
ในเบื้องต้นนี้ ข้าพเจ้าให้การวินิจฉัยว่าเป็น “การเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด (Preterm labor)” แต่ก็ยังมีความไม่สบายใจอยู่ เพราะข้าพเจ้ายังคงติดพันคนไข้อยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ไกลออกไปมากพอสมควร ไม่สามารถเข้าไปที่โรงพยาบาลตำรวจได้ในทันที
เวลาผ่านไปอีกครึ่งชั่วโมง พี่โม่งโทรศัพท์มาบอกข้าพเจ้าว่า “หมอ!....พี่ว่านะ รู้สึกว่ามดลูกของคนไข้มีการแข็งตัวบ่อยขึ้น บ่อยมากๆเลย เรียกว่า เกือบตลอดเวลาก็ว่าได้ หมอรีบมาดูหน่อยสิ!” ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ไม่นาน ข้าพเจ้าเพิ่งโทรศัพท์ไปถามที่ห้องคลอดและมีพยาบาลคนหนึ่งบอกว่า “ไม่มีอะไร คนไข้ยังเหมือนเดิม”
คราวนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกใจไม่ดีเลย เพราะนึกถึงว่า คนไข้น่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เรียกว่า รกลอกตัวก่อนกำหนด (Abruptio placenta) เกิดขึ้น จากนั้น ก็รีบออกจากโรงพยาบาลเอกชนในทันที ข้าพเจ้าบ่นพึมพำกับตัวเองขณะขับรถมุ่งหน้าไปโรงพยาบาลตำรวจ “โอ้ย! แย่แน่แล้ว คราวนี้ เพราะถ้าเป็นจริงดังคาด เด็กมีโอกาสพิการทางสมองหรือเสียชีวิตค่อนข้างสูง ไม่น่าเลย ทำไมนึกไม่ถึงโรคนี้!!!!” ข้าพเจ้าขับรถบนทางด่วนด้วยความเร็วสูง ใจมุ่งหน้าไปที่ห้องคลอดอย่างเดียว สักพักหนึ่ง...ก็โทรศัพท์ไปถามพยาบาลที่ห้องคลอดว่า “คนไข้เป็นยังไงบ้าง หัวใจเด็กยังเต้นสม่ำเสมอไหม?”
“ตอนนี้มดลูกของคนไข้แข็งตัวรุนแรงค่อนข้างมาก แข็งตัวทุก 2 นาที แต่หัวใจเด็กยังเต้นสม่ำเสมออยู่” พยาบาลคนนั้นตอบ
ใจข้าพเจ้าตอนนั้น บอกไม่ถูกเหมือนกันว่า เป็นยังไง! ข้าพเจ้าเฝ้าแต่ภาวนาในใจว่า “ขออย่าให้คนไข้และเด็กเป็นอะไรเลย” และหวังว่า ข้าพเจ้าจะวินิจฉัยผิด คือ คุณสมพรไม่ได้เกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด เมื่อใกล้ถึงโรงพยาบาล ข้าพเจ้าขอให้ช่วยรีบส่งคนไข้ไปที่ห้องผ่าตัดและเตรียมพร้อมที่จะลงมีดได้เลย โดยมีพยาบาลวิสัญญีและหมอเด็กอยู่พร้อมหน้า
พอลงมีด และเห็นตัวมดลูก ข้าพเจ้าก็สบายใจเพราะ สีผิวของตัวมดลูกไม่มีเลือดแทรกอยู่ จนมองดูเป็นสีคล้ำ จากนั้น ก็ผ่าตัดเอาทารกออกมาตามปกติ ทารกเป็นเพศหญิง น้ำหนักแรกคลอด 2800 กรัม ตัวใหญ่พอๆกับทารกคลอดกำหนด และร้องดี ไม่มีปัญหาใดๆ ข้าพเจ้าอธิบายให้กับแพทย์ฝึกหัดที่มาช่วยฟังว่า “ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด อาจไม่จำเป็นต้องมีเลือดออกที่เนื้อมดลูกและทางช่องคลอดตามทฤษฎีก็ได้ เราไม่จำเป็นต้องเชื่อตามตำราทฤษฎีทุกอย่างไป ต้องอาศัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นหลักและตัดสินใจไปตามนั้น”
พยาบาลห้องผ่าตัดถามข้าพเจ้าก่อนออกจากห้องผ่าตัดว่า “ตกลง... หมอจะให้การวินิจฉัยสุดท้ายว่าอะไร?” ข้าพเจ้าตอบว่า “คนท้องเคยผ่าคลอดเจ็บครรภ์ (Previous C/S in labor)”
2 วันแรกหลังผ่าตัด คุณสมพรก็ยังเหมือนคนไข้หลังผ่าตัดทั่วไป แต่พอวันที่ 3 หลังผ่าตัด เธอเริ่มมีอาการท้องอืด ใบหน้าซีดเหลือง และ เลือดจางมาก (ความเข้มข้นของเลือด หรือ Hematocrit/Hct = 24.3%) โดยไม่ทราบสาเหตุ เพราะคนไข้ไม่ได้เสียเลือดมากในระหว่างผ่าตัด คุณสมพรได้รับเลือด 2 ถุง ก็ดีขึ้น (Hct =27.5%) แต่ลักษณะตัวเหลืองตาเหลืองกลับมากขึ้น พร้อมกับมีไข้สูงและเจ็บบริเวณลิ้นปี่ ข้าพเจ้าคิดว่า เธออาจเป็นโรคตับอักเสบ จึงปรึกษาอายุรแพทย์ไป ปรากฏว่า คุณสมพรกลายเป็นโรคถุงน้ำดีอักเสบ ผลจากมีนิ่วจำนวนมากในถุงน้ำดีและมีการอุดตันกะทันหัน ซึ่งต้องเข้ารับการผ่าตัดอีกครั้ง
“ทำไมหนูถึงโชคร้ายอย่างนี้” คุณสมพรบ่นด้วยความน้อยใจในตัวเอง
“ใจเย็นๆ.....ตอนนี้ อายุรแพทย์ลองให้ยาฆ่าเชื้ออย่างดีดูก่อน ถ้าไม่ดีขึ้น คุณถึงต้องเข้ารับการผ่าตัด” ข้าพเจ้าพยายามพูดปลอบโยนคุณสมพร
โชคดีที่วันรุ่งขึ้น อาการปวดท้องและตัวเหลืองตาเหลืองของคุณสมพรดีขึ้น พร้อมกับไข้ลดลง ศัลยแพทย์ลงความเห็นว่า ถุงน้ำดีอักเสบน้อยลง และน้ำดีสามารถไหลออกได้บางส่วน(Acute cholecystitis with partially treatment and clinical subside) โดยอนุญาตให้เลื่อนการผ่าตัดออกไปอีก 6 เดือน
ม่านหมอกแห่งปริศนาแห่งสาเหตุข้างต้นได้คลี่คลายลงแล้ว แต่.......ใครเลยจะรู้ซึ้งถึงความรู้สึกที่แท้จริงในความรักของแม่ที่มีต่อลูก นอกจากเธอผู้นั้นจะเป็นคุณแม่เสียเอง ก่อนหน้านี้ ไม่กี่วัน ลูกชายข้าพเจ้าถูกรถชนเข้าที่ใบหน้าที่เมืองพัทยาเพราะวิ่งข้ามถนน ถึงแม้จะไม่รุนแรงมาก แต่เลือดที่ไหลออกจากปากและจมูกเลอะเทอะเปรอะเปื้อนเต็มตัวไปหมด ภรรยาข้าพเจ้า ซึ่งวิ่งถลาลงจากห้องพักเพื่อมาดูลูก พอเธอเห็นภาพนั้น เธอถึงกับอุทานออกมาอย่างไม่รู้ตัวว่า “ถ้าลูกเป็นอะไรไป แม่จะมีชีวิตอยู่ได้ยังไง?” ข้าพเจ้าฟังแล้ว ก็มีน้ำตาไหลออกมาแบบไม่รู้ตัว พลางคิดในใจ
“คำกล่าวที่กล่าวว่า ลูกคือสิ่งที่มีค่ามากที่สุดในครอบครัวนั้น ไม่น่าจะเพียงพอในความหมายของครอบครัวอีกต่อไป ควรแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ ให้สอดคล้องตามความเป็นจริง.....”
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น