ทุก ๆ วันอังคาร ข้าพเจ้าจะอยู่เวรประจำการโรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่ 4 โมงเย็น จนถึง 8 โมงเช้า แต่วันอังคารที่ผ่านมาเป็นวันพ่อแห่งชาติ “5 ธันวามหาราช” ข้าพเจ้าพร้อมกับแพทย์หลาย ๆ ท่านจำเป็นต้องมาอยู่โรงพยาบาลตั้งแต่เช้า โดยมีภารกิจส่วนหนึ่ง คือ ช่วยดูแลผู้คนที่หลั่งไหลกันมาเพื่อบริจาคเลือด ข้าพเจ้าลองลำดับเหตุการณ์ทั้งวันทั้งคืนดู รู้สึกว่า ชีวิตการทำงานของสูติแพทย์ใน 1 เวร มีอะไรที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
ตอนเช้าก่อนมาทำงาน ภรรยาข้าพเจ้าได้ล่วงหน้าออกจากบ้านไปทำงานให้กับมูลนิธิของชาวไต้หวัน ณ. ท้องสนามหลวง ซึ่งกว่าจะกลับบ้านคงค่ำมืด ข้าพเจ้าเอง..ตอนที่เพิ่งตื่นขึ้นมา จึงยังคงโอ้เอ้ดูโทรทัศน์เพื่อรอทักทายกับลูกชายก่อนออกจากบ้าน
7 นาฬิกาเศษ ลูกชายตื่นและลงมาพูดคุยกับข้าพเจ้า เรามีเวลาอยู่ด้วยกันเพียง 15-20 นาที ข้าพเจ้าก็ต้องเดินทางออกจากบ้าน
ในระหว่างเดินทาง ข้าพเจ้ามีความคิดว่า “วันนี้ เป็น วันพ่อ แต่ตัวเราไม่ได้ทำอะไรที่สำคัญให้กับลูกแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม กลับทิ้งลูกน้อยไว้กับคนใช้ ทำให้รู้สึกไม่สบายใจเลย”
8 นาฬิกา 30 นาที ข้าพเจ้าเดินทางมาถึงโรงพยาบาลตำรวจ พบเห็นผู้คนมากมายเดินกันขวักไขว่บริเวณชั้นล่างอาคารตึกอำนวยการ หลายคนกำลังไปเจาะเลือดบริจาค หลายคนมาที่นี่เพื่อเที่ยวสนุก หลังจากเดินทักทายกับเพื่อนแพทย์พยาบาลที่มาปฏิบัติหน้าที่ ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปตรวจดูคนไข้สตรีในห้องคลอด
พยาบาลประจำห้องคลอดได้รายงานความเป็นไปของคนไข้รอคลอดในแต่ละเตียงว่า “เตียงหนึ่ง อายุ 30 ปี ท้องแรก (อายุครรภ์) 40 สัปดาห์ ปากมดลูกเปิด 5 เซนติเมตร ถุงน้ำยังไม่แตก เตียงที่ 2 แม่อายุ 32 ปี ท้องที่สาม 37 สัปดาห์ น้ำเดินมาตอนตี 4 เตียงที่ 3 อายุ 19 ปี ท้องแรก อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ เจ็บท้องมาตั้งแต่เที่ยงคืน ปากมดลูกเปิด 1 เซนติเมตร เตียงที่ 4 อายุ 28 ปี ท้องแรก 40 สัปดาห์ ปากมดลูกเปิด 4 เซนติเมตร… เตียงที่ 5 และ 6 ปากมดลูกยังไม่เปิด เจ็บครรภ์ห่าง ๆ ไม่มีปัญหาอะไร หัวใจเด็กเต้นดี”
“อย่างนั้น เตียง 1 และ เตียง 4 ให้หมอ Extern (แพทย์ฝึกหัด) เจาะถุงน้ำคร่ำ เตียง 2 ให้ยาเร่งคลอด เตียง 3 ฉีด Bricanyl (ยายับยั้งการหดรัดตังของมดลูก) ½ หลอด (ampule) ทุก 6 ชั่วโมง ส่วนเตียง 5, 6 ไม่ต้องทำอะไร” ข้าพเจ้าสั่งการกับพยาบาลและแพทย์ฝึกหัดที่รออยู่
แพทย์ฝึกหัดเดินเข้าไปที่เตียงคนไข้รอคลอดเตียงแรก และลงมือเจาะถุงน้ำคร่ำ สักพักหนึ่ง แพทย์ฝึกหัดคนนั้นได้เดินมากระซิบบอกกับข้าพเจ้าว่า “เจาะไม่ได้ เกิดมา..หนูยังไม่เคยเจาะถุงน้ำคร่ำในชีวิตเลย เพิ่งไปอ่านหนังสือมาเมื่อตะกี้นี้เอง พอเจาะจริง ๆ ก็เจาะไม่ได้”
“เออ! ไม่เป็นไร เดี๋ยวผมจะเจาะถุงน้ำคร่ำให้ดู” ข้าพเจ้าพูดพร้อมกับเริ่มสาธิต ขณะเดียวกัน ได้อธิบายถึงประโยชน์การเจาะถุงน้ำคร่ำไปด้วย “การเจาะถุงน้ำคร่ำ จะช่วยเร่งให้คนไข้คลอดเร็วขึ้น ที่สำคัญ คือ เราสามารถมองเห็นสีของน้ำคร่ำ ซึ่งบ่งบอกถึงสภาพของเด็กว่าขาดออกซิเจนหรือไม่? ถ้ามีสีเขียวปนในน้ำคร่ำ (Meconium) แสดงว่าเด็กขาดออกซิเจน อันเป็นผลให้หูรูดที่รูก้นเด็กคลายตัวและถ่ายขี้เทาออกมา ถ้าน้ำคร่ำมีปริมาณน้อยและสีเขียวข้น (Thick meconium) แสดงว่าเด็กขาดออกซิเจนมานาน หากคาดว่าคนไข้ไม่สามารถคลอดภายในเวลาครึ่งชั่วโมง เราควรรีบผ่าตัดเอาเด็กออก มิฉะนั้น เด็กจะได้รับอันตรายมากจากการสำลักน้ำคร่ำปนขี้เทา ความรุนแรงมีตั้งแต่ปอดอักเสบจนถึงตาย”
หลังจากนั้น ข้าพเจ้าได้บอกแพทย์ฝึกหัดให้ไปเจาะถุงน้ำคร่ำของคนไข้เตียงที่ 4 พอเจาะถุงน้ำคร่ำได้ไม่นาน พยาบาลเดินมาบอกว่า “เสียงหัวใจของเด็กเต้นผิดปรกติ บางทีเต้นช้าถึง 70 ครั้งต่อนาที แต่….สักพักหนึ่ง ก็กลับมาเต้นตามปรกติ”
ข้าพเจ้าเปิดดูประวัติการฝากครรภ์ของคนไข้รายดังกล่าว พบว่า คนไข้มีความสูงเพียง 145 เซนติเมตร อายุครรภ์ครบกำหนด และปากมดลูกเปิดเพียง 4 เซนติเมตร” ข้าพเจ้าจึงบอกกับพยาบาลห้องคลอดว่า “ตอนนี้เด็กน่าจะยังดี แต่เนื่องจากคนไข้ตัวเตี้ยมากและปากมดลูกยังเปิดน้อยอยู่ หากปล่อยให้คลอดเองจะกินเวลานานหลายชั่วโมงจนเด็กเป็นอันตรายจริงๆ นอกจากนั้น ยังมีโอกาสคลอดยากหรือคลอดติดไหล่อย่างมาก เพื่อตัดปัญหาต่างๆ ผ่าตัดเดี๋ยวนี้จะดีกว่า”
ปกติ คนไข้สตรีตั้งครรภ์ครบกำหนดที่จะคลอดเองตามธรรมชาติ ควรมีความสูงมากกว่า 150 เซนติเมตร หากมีความสูงต่ำกว่า 145 เซนติเมตรลงมา คนไข้มักจะเกิดปัญหาคลอดยากหรือคลอดไม่ได้ จึงไม่ควรปล่อยให้คลอดเองตามธรรมชาติ
ขณะที่กำลังผ่าตัดคนไข้รายตัวเตี้ยนี้อยู่ ปรากฏว่า คนไข้สตรีที่ตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ เกิดแท้งบุตรในห้องน้ำ หลังจากผ่าตัดเสร็จแล้ว ข้าพเจ้าจึงเดินไปดูคนไข้รายที่แท้ง พบว่า เด็กมีขนาดน้ำหนักประมาณ 400 กรัม ซึ่งพยาบาลได้ช่วยเหลือหอบหิ้วเอาออกจากโถส้วมมาวางไว้ที่เตียงคลอด ทารกอยู่ได้ไม่นานก็เสียชีวิต ข้าพเจ้าซักประวัติถึงสาเหตุการเจ็บครรภ์ที่อาจเป็นไปได้ คนไข้บอกว่า ก่อนเจ็บครรภ์ คนไข้มีการร่วมเพศกับสามี ข้าพเจ้าจึงสรุปว่า นั่นอาจเป็นสาเหตุของการแท้งบุตรครั้งนี้ พร้อมกับพูดเตือนคนไข้ว่า “การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่กระทำได้ แต่ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง ภายในน้ำอสุจิ มีสารจำพวก พรอสตาแกลนดิน ที่ทำให้มดลูกหดรัดตัวอย่างรุนแรง ถ้าสตรีคนใดเคยมีประวัติแท้งบุตรอย่างนี้ จะต้องงดการมีเพศสัมพันธ์ตลอดการตั้งครรภ์”
14 นาฬิกา ข้าพเจ้าเดินลงมาจากห้องคลอด เพื่อไปรับประทานอาหารกลางวัน ผู้คนที่มามากมายในตอนเช้านั้นพากันกลับไปหมดแล้ว รวมทั้งเจ้าหน้าที่ แพทย์ พยาบาลด้วย ข้าพเจ้าคิดถึงลูกมาก จึงขับรถกลับบ้านและพาลูกชายไปรับประทานอาหารที่ร้านแมคโดนัล ย่านถนนพัฒนาการ ข้าพเจ้าเฝ้าดูลูกชายสนุกกับการลอดอุโมงค์ของเล่นภายในร้านอยู่นานประมาณ 2 ชั่วโมง จึงพาลูกชายกลับบ้าน นี่คือ กิจกรรมเดียวที่ข้าพเจ้าได้ทำให้กับลูกในวันพ่อ
ภรรยาข้าพเจ้ากลับมาบ้านในตอนเย็น ข้าพเจ้าจึงปลีกตัวมาอยู่โรงพยาบาลอีกครั้ง เพื่อเตรียมตัวรับกับปัญหาต่างๆตอนกลางคืน สำหรับ เหตุการณ์ในห้องคลอดระหว่างนั้น คนไข้เดิมต่างทยอยคลอดไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีปัญหาใด ๆ คนไข้ท้องรายใหม่ ๆ ก็มีเข้ามาเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา
ตลอดทั้งคืน เวลาผ่านไปอย่างช้าๆคล้ายกับว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น ราวเที่ยงคืน มีเหตุการณ์
เพียงเล็กน้อย คือ คนไข้สตรีรายหนึ่ง ครรภ์ที่ 2 อายุครรภ์ประมาณ 37 สัปดาห์ ตกเลือด (Antepartum) มาห้องคลอดชนิดเปียกชุ่มผ้าถุงทั้งผืน แต่เลือดหยุดแล้ว ข้าพเจ้าได้ให้การวินิจฉัยเบื้องต้นว่า เป็นรกเกาะต่ำ (Placenta previa) และให้ยายับยั้งการแข็งตัวของมดลูกเข้ากล้ามไปหนึ่งเข็ม คนไข้ก็ไม่มีเลือดออกมาจากช่องคลอดอีกเลย
เพียงเล็กน้อย คือ คนไข้สตรีรายหนึ่ง ครรภ์ที่ 2 อายุครรภ์ประมาณ 37 สัปดาห์ ตกเลือด (Antepartum) มาห้องคลอดชนิดเปียกชุ่มผ้าถุงทั้งผืน แต่เลือดหยุดแล้ว ข้าพเจ้าได้ให้การวินิจฉัยเบื้องต้นว่า เป็นรกเกาะต่ำ (Placenta previa) และให้ยายับยั้งการแข็งตัวของมดลูกเข้ากล้ามไปหนึ่งเข็ม คนไข้ก็ไม่มีเลือดออกมาจากช่องคลอดอีกเลย
6 นาฬิกาของเช้าวันใหม่ ข้าพเจ้าตรวจดูอัลตราซาวนด์ให้คนไข้รายที่ตกเลือดมาตอนเที่ยงคืน พบว่า เป็นรกเกาะต่ำ (Placenta Previa Marginalis) ชนิดที่ปลายขอบรกมาปิดบริเวณปากมดลูกเพียงเล็กน้อย ข้าพเจ้าคิดว่า น่าจะลองให้คลอดเอง และได้ตรวจภายในอย่างระมัดระวัง ปรากฏว่า ปลายนิ้วมือชนหัวเด็กโดยมีเยื่อถุงน้ำคร่ำบาง ๆ ขั้นอยู่ระหว่างกลาง เมื่อเป็นดังนี้ จึงเจาะถุงน้ำคร่ำ ที่ไหนได้ หลังจากเอามือออกจากช่องคลอด ก็มีเลือดสด ๆ พรั่งพรูตามออกมาจำนวนมาก ข้าพเจ้าตกใจอย่างยิ่งกับเหตุการณ์ดังกล่าว และรีบผ่าตัดคลอดบุตรให้เป็นการฉุกเฉิน โชคดี ทารกปลอดภัย แต่ใจข้าพเจ้าซิตื่นเต้นตกใจอย่างบอกไม่ถูก
7 นาฬิกา นักศึกษาแพทย์ฝึกหัด โทรศัพท์มาจากห้องฉุกเฉินว่า “มีคนไข้สตรีชาวเขมรจากกองตรวจคนเข้าเมือง อายุ 54 ปี ปวดท้องน้อยและตกเลือดมา ตรวจภายใน ปากมดลูกมีชิ้นเนื้อคาอยู่ ได้คีบออกมาส่งตรวจ น้ำหนักประมาณ 5 กรัม ตัวมดลูกโตประมาณ 10-12 สัปดาห์ ตรวจปัสสาวะเพื่อทดสอบการตั้งครรภ์ ให้ผลลบ อาจารย์จะให้ทำยังไงคะ”
“ให้คนไข้นอนโรงพยาบาลที่หอผู้ป่วยสูติกรรมชั้น 6 และจัดเตรียมเพื่อขูดมดลูกด้วย เดี๋ยวจะตามไปดู” ข้าพเจ้าตอบไปทางโทรศัพท์
คนไข้สตรีชาวเขมร ขึ้นเตียงตรวจภายใน ข้าพเจ้าซักประวัติอีกครั้ง “ประจำเดือนครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ มีลูกกี่คน ลูกคนสุดท้ายอายุเท่าไหร่ ตกเลือดประมาณมากน้อยแค่ไหน” คนไข้ตอบไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงหันมาถามแพทย์ฝึกหัดว่า ได้ประวัติคนไข้ว่าอายุ 54 ปี มาจากไหน แพทย์ฝึกหัดตอบว่า จากใบส่งตัวของเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมือง นอกนั้น ใช้ภาษาใบ้และเดา ๆ เอาจากคำพูดของคนไข้
ขณะที่ตรวจภายใน ข้าพเจ้าเห็นมีก้อนชิ้นเนื้อกลม ๆ สีน้ำตาลจุกอยู่บริเวณปากมดลูก ตอนแรกคิดว่าเป็นเนื้องอก พอลองคีบออกมาดู ปรากฏว่า เป็นส่วนหัวของเด็กที่ตายแล้ว ส่วนความยาวของเด็กทั้งตัวประมาณ 6-7 เซนติเมตร มีแขนขาลำตัวอยู่ครบในสภาพที่ตายมานาน หลังจากเอาตัวเด็กและรกออกมาแล้ว จึงได้ขูดมดลูกต่ออีกเล็กน้อย
ข้าพเจ้าพูดกับแพทย์ฝึกหัดว่า “คนไข้รายนี้เป็นสตรีตั้งครรภ์อายุมากที่สุดที่ผมเคยเจอมาในชีวิต ” และพูดเสริมว่า “ เกิดเป็นหมอ ก็มักเจอเรื่องแปลกๆคล้ายกับการผจญภัย มีทั้งสุข ทุกข์ เศร้า ตื่นเต้นเหมือนกับในนิยาย เวลาในชีวิตจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว ถ้าเราไม่รู้เท่าทัน เวลามันก็จะกลืนกินเราไปด้วย สิ่งสำคัญ คือ อย่าลืมให้เวลากับครอบครัวโดยเฉพาะลูก ”
การอยู่เวรในช่วงหนึ่งวันกับหนึ่งคืนของข้าพเจ้า ผ่านไปได้ด้วยดี เรื่องราวของคนไข้สตรีที่มีปัญหา ยังคงมีอีกมากมายไม่รู้จักจบสิ้น ปัญหาของคนหนึ่งหมดไป ปัญหาของอีกคนหนึ่งกำลังเกิดขึ้น ไม่มีสตรีท่านใดอยากเป็นคนไข้ แต่เรื่องการเจ็บป่วยย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ การตรวจร่างกายประจำปีสำหรับสตรี ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป….
ถ้าท่านไม่อยากเป็นคนไข้ที่มาโรงพยาบาลอย่างฉุกเฉิน….ก็ไม่ควรเกลียดโรงพยาบาลหรือเบื่อการไปหาหมอ……
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น