03 ธันวาคม 2559

รกเกาะทะลุมดลูก ( placenta percreta

ไม่น่าเชื่อว่า ข้าพเจ้าจะวินิจฉัยคนไข้รายนี้ผิด เพราะลักษณะทุกอย่างบ่งบอกว่า เป็นท้องนอกมดลูกและตกเลือดภายในช่องท้องจนช๊อก  ( Ectopic pregnancy with shock )  แต่จริงๆก็เป็นเรื่องธรรมดา ที่อาการแสดงต่างๆชักพาให้ผิดพลาดได้  ในเมื่อกรณีนี้ ตั้งแต่ข้าพเจ้าศึกษาจบเป็นสูติแพทย์มา ยังไม่เคยเจอเลย ในตำราแพทย์ทั้งของไทยและต่างประเทศก็ไม่มีเขียนหรือมีตัวอย่างแสดงไว้อย่างชัดเจน  อย่างไรก็ตาม การรักษา มีวิธีเดียวเท่านั้น คือ การผ่าตัด ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นและไม่ทำให้เราผิดหวัง

ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังนั่งเขียนหนังสืออยู่ที่ห้องพักในโรงพยาบาลตำรวจ  ก็มีการเรียกตัวให้ไปดูคนไข้ที่ห้องฉุกเฉินด่วน เพราะคนไข้มีอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง พร้อมกับมีเลือดออกจากช่องคลอด โดยในรายงานมีการเข้าใจผิดว่า เป็นการปวดประจำเดือน   เมื่อข้าพเจ้าไปถึง ปรากฏว่า คนไข้กำลังทำกิจธุระส่วนตัวอยู่ในม่านบนเปลนอน   แต่คำแรกที่พยาบาลรายงาน คือ “ คนไข้มีความดันโลหิตต่ำมาก เพียง 53/ 30 มิลลิเมตรปรอท เท่านั้น ”  ข้าพเจ้าฟังแล้วรู้สึกแปลกๆ  จึงถามถึงชีพจรว่า เต้นเป็นอย่างไร  พยาบาลบอกเพียงว่า เต้นเร็ว  ยังนับจำนวนได้ไม่แน่ชัดเพราะค่อนข้างเบา

ข้าพเจ้า เปิดดูแฟ้มประวัติเก่าของคนไข้รายนี้ ก็ทราบว่า เธออายุ 42 ปี มีบุตร 2 คน และเคยวัดความดันโลหิตได้ 100 / 60 มิลลิเมตรปรอท จึงถามคนไข้ว่า “ วันแรกของระดูครั้งสุดท้าย คือ เมื่อไหร่ ? ” 

เมื่อคนไข้บอกเรื่องระดู ข้าพเจ้าได้คำนวณคร่าวๆ ก็รู้ว่า ขาดประจำเดือนประมาณเดือนครึ่ง จึงพูดกับพยาบาลว่า “ สงสัยคนไข้จะอยู่ในช่วงกำลังช๊อกจากภาวะอะไรสักอย่างหนึ่ง  ให้น้ำเกลือเปิดเส้นเลือดไว้ก่อนและเร่งน้ำเกลือไปเลย  แล้วรีบส่งไปดูอัลตราซาวนด์ที่แผนกสูติด่วนนะ  ตอนนั้น ยังคิดฉงนอยู่ในใจว่า  คนไข้ยังจะมีพละกำลังทำกิจธุระส่วนตัวบนเปลนอนได้อีกหรือในเมื่ออยู่ในภาวะช๊อก ….หรือว่า  คนไข้มีความดันโลหิตต่ำเป็นประจำ

หลังจากนั้น ประมาณ 5 นาที คนไข้ก็ถูกส่งมาถึงแผนกสูติ-นรีเวช  ข้าพเจ้ามีโอกาสมองหน้าคนไข้อย่างชัดเจน  คราวนี้แหละ ไม่ต้องคิดแล้ว เพราะคนไข้มีใบหน้าที่ซีดมาก และหน้าท้องโป่งพองขึ้นมาอย่างผิดปกติ  ข้าพเจ้าถามพยาบาลที่แผนกสูตินรีเวชว่า “ ความดันโลหิตและความเข้มข้นของเลือดของคนไข้เท่าไหร่ ” พยาบาลตอบว่า “ ไม่รู้!…. ตอนนี้วัดความดันโลหิตและชีพจรไม่ค่อยได้ชัด ส่วนผลเลือด ทางพยาบาลห้องฉุกเฉินเจาะดูดออกมาไม่ได้ในช่วงที่ให้น้ำเกลือ เพราะเส้นเลือดแฟบไปหมด จึงไม่สามารถส่งตรวจหาความเข้มข้น รวมทั้งผลการวิเคราะห์เลือดอื่นๆได้ ” 

ข้าพเจ้าลงมือตรวจร่างกายคนไข้รายนี้ นอกเหนือจากทั่วๆไปแล้ว ที่สำคัญ คือ กดและปล่อยบริเวณส่วนท้องน้อยแล้ว คนไข้แสดงอาการเจ็บปวดอย่างมาก ( Tender & rebound tenderness ) ซึ่งบ่งบอกถึงว่า มีการตกเลือดภายในช่องท้อง ( Intraabdominal  Hemorrage )  

ข้าพเจ้าได้ใช้อัลตราซาวนด์วางบนหน้าท้องของคนไข้  ก็มองเห็นมีของเหลวในช่องท้อง และมีถุงน้ำขนาด 3 เซนติเมตรอยู่ทางด้านล่าง  ซึ่งมองไม่ออกว่า เป็นส่วนไหนของอวัยวะสืบพันธุ์  ดังนั้น จึงต้องขอตรวจดูอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดอีกที  ปรากฏว่า ถุงน้ำที่ว่า คือ ถุงการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูก  นอกจากนั้น ยังมีของเหลว ซึ่งคาดว่า จะเป็นเลือดจำนวนมากมาย อยู่ภายในช่องท้อง

ขณะที่กำลังตรวจอัลตราซาวนด์อยู่นั้น คนไข้บอกว่า หายใจไม่ค่อยออก และแสดงอาการดวงตาเหม่อลอย  คล้ายคนกำลังหมดสติ  ข้าพเจ้าบอกให้พยาบาลช่วยเตรียมเครื่องช่วยหายใจและเตรียมผ่าตัดเป็นการด่วน พยาบาลคนหนึ่งรีบให้ทางเจ้าหน้าที่กระจายเสียงตามสายไปทั่วโรงพยาบาลว่า “ Code Blue ที่แผนกสูติ ” ซ้ำๆกันหลายครั้ง ซึ่งหมายถึง คนไข้กำลังต้องการความช่วยเหลือขั้นวิกฤต เช่น การปั้มหัวใจหรือใส่ท่อเพื่อช่วยหายใจ ด่วน  พอดีอายุรแพทย์ท่านหนึ่งที่อยู่ใกล้เคียงวิ่งมาช่วยดู และแก้ไขเหตุการณ์นี้ไปได้ ด้วยการปั้มอากาศและออกซิเจนผ่านทางหน้ากากที่ครอบจมูกปากคนไข้อย่างเป็นจังหวะช้าๆ  พร้อมกับส่งคนไข้ไปยังห้องผ่าตัด

 ที่ห้องผ่าตัด พยาบาลรีบฟอกทำความสะอาดหน้าท้องของคนไข้ และวิสัญญีแพทย์รีบใส่ท่อช่วยหายใจ ภายใต้ยาดมสลบอย่างรวดเร็ว  ส่วนข้าพเจ้ารีบลงมีดตามรอยแผลผ่าตัดคลอดเดิมผ่านผนังหน้าท้องทีละชั้น จนเข้าสู่ช่องท้อง

น้ำเลือดทะลักออกมาทันทีเมื่อกรีดมีดผ่านเยื่อบุช่องท้องเป็นรู จากนั้น ข้าพเจ้าได้เปิดหน้าท้องให้กว้างและใช้เครื่องมือถ่างขยายผนังหน้าท้องด้านข้างเอาไว้  หลังจากควักเอาก้อนเลือดและดูดซับเลือดออกมาบางส่วน ก็ใช้มือล้วงไปจับมดลูกยกขึ้น เพื่อสำรวจดูบริเวณปีกมดลูกและรังไข่ทั้งสองข้าง

“ ไม่มีท้องนอกมดลูกที่บริเวณท่อนำไข่ทั้งสองข้าง!…ทั้งๆที่มีเลือดอยู่เต็มท้อง ” ข้าพเจ้าอุทาน  จากนั้น จึงสำรวจดูมดลูกส่วนล่าง ก็มองเห็นก้อนเนื้อสีคล้ำดำขนาด 3 เซนติเมตรและกำลังมีเลือดพุ่งออกมา ณ ตำแหน่งรอยแผลผ่าตัดเก่าเมื่อครั้งที่ผ่าคลอดบุตร 2 คนก่อน

“ เจอแล้ว!… ” ข้าพเจ้าพูดกับตัวเอง จากนั้น จึงใช้กรรไกรเลาะเปิดเยื่อบุช่องท้องส่วนที่คลุมก้อนเนื้อนั้น และพูดต่อกับพยาบาลว่า “ แปลกมาก  ผมไม่เคยเจอการตั้งครรภ์ที่รกเกาะทะลุมดลูกแบบนี้มาก่อนเลย  

ข้าพเจ้าเปิดเยื่อบุช่องท้องบริเวณนั้นจนกว้างตลอดส่วนล่างของมดลูก แล้วใช้มือล้วงเอาส่วนของรกและถุงน้ำออกหมด รวมทั้งที่อยู่ในโพรงมดลูกด้วย จากนั้น ได้ใช้ผ้าเช็ดภายในโพรงมดลูกจนไม่มีรกค้างอยู่  แล้วใช้เหล็กถ่างขยายปากมดลูก ( Heggar Dilator )  แยงจากด้านบนลงไปในมดลูกส่วนล่าง ซึ่งสามารถขยายปากมดลูกได้กว้างพอสมควร เพื่อระบายเลือดที่อาจคั่งค้างภายในโพรงมดลูก

เมื่อดำเนินการทุกอย่างข้างต้นเรียบร้อยแล้ว จึงเย็บปิดมดลูกส่วนล่างตามรอยแผลผ่าตัดเดิม ( Previous cesarean section ) แต่ข้าพเจ้าได้เย็บด้วยความระมัดระวังและอย่างแน่นหนา  

ทุกอย่างของการผ่าตัดเสร็จสิ้นแล้ว แต่คนไข้ยังไม่ฟื้นและมีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของเลือด  ข้าพเจ้าได้ใส่เส้นยางซับระบายเลือด( Penrose Drain) ใต้แผ่นพังผืด (Abdominal Rectus Sheeth) ของผนังหน้าท้อง เพราะกลัวจะมีเลือดคั่งบริเวณนั้น เนื่องจาก มีเลือดซึมค่อนข้างมากที่กล้ามเนื้อใต้แผ่นพังผืดของหน้าท้อง แม้จะจี้ไฟฟ้าและเย็บผูกเพื่อหยุดเลือดอยู่หลายครั้ง

หลังผ่าตัด  สามีของคนไข้ขอพบเพื่อสอบถามถึงผลการผ่าตัด ซึ่งข้าพเจ้าได้เล่าเรื่องราวของโรคทั้งหมดตั้งแต่ต้น จนถึงวิธีการผ่าตัด พร้อมกับบอกให้ทราบว่า “ คนไข้จำเป็นต้องถูกส่งต่อไปยังห้อง ไอ.ซี.ยูเพื่อการดูแลอย่างใกล้ชิด   ซึ่งคนไข้จะได้รับเลือดและปัจจัยช่วยการแข็งตัวของเลือด ( Fresh frozen plasma ) อย่างละ 2 ถุง รวมทั้งยาอีกหลายตัว  

สามีของคนไข้ถามว่า “ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร? ”

ข้าพเจ้าอธิบายโดยวาดรูปประกอบให้กับสามีของคนไข้ด้วย  ดังนี้ “ คือว่า มดลูกส่วนล่าง ตรงบริเวณที่เคยผ่าตัดคลอดจะบางกว่าส่วนอื่น เมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น โดยรกมาเกาะที่บริเวณนี้  รกเหมือนรากไม้ มันต้องชอนไชบริเวณที่ยึดเกาะและแผ่ขยายตัวมันออกไปเรื่อยๆ บางทีมันอาจเซาะจนทะลุมดลูกส่วนบางๆได้( Placenta percreta ) ซึ่งลักษณะแบบนี้  ผมยังไม่เคยเห็นรกเกาะทะลุมดลูกในอายุครรภ์ 6-8 สัปดาห์เช่นนี้มาก่อนเลยในชีวิต อย่างไรก็ตาม ตอนนี้คนไข้ปลอดภัยแล้ว แต่ต้องอยู่ห้องไอ.ซี.ยูเพื่อเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิดสักพักหนึ่ง  

คนไข้นอนพักรักษาตัวที่ห้องไอ.ซียู. 1 คืน  รุ่งเช้าก็ถูกส่งตัวกลับหอผู้ป่วย โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ   

ก่อนออกจากห้อง ไอ.ซียู   ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมดูอาการของคนไข้  เธอบอกกับข้าพเจ้าว่า “  เมื่อวาน รู้สึกเหมือน หัวใจหยุดเต้นไปชั่วขณะ  แต่วันนี้ ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว  ดิฉันอยากกลับไปอยู่ที่ห้องพักปกติ  จะได้พูดคุยกับลูกและสามี ” 

 ข้าพเจ้าพยักหน้าและพูดกับคนไข้ว่า “ เดี๋ยวให้ย้ายกลับไปห้องพักได้  ตอนเย็นๆหรือกลางคืน  ลองจิบน้ำดู  ถ้ารู้สึกว่าท้องอืดๆ  ก็หยุดไว้ก่อน  พรุ่งนี้  ค่อยเริ่มอาหารเหลวและอ่อนตามลำดับ   ตอนนี้ปลอดภัยทุกอย่าง  ไม่มีอะไรต้องเป็นห่วงอีกต่อไป ”  

ในชีวิต ของคนเรา  อะไรจะน่ากลัว เท่ากับ  ภัยที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้เท่าทัน  คนไข้ไม่รู้ตัวว่า ตั้งครรภ์ จึงให้ประวัติคลาดเคลื่อน   พยาบาลเข้าใจผิด คิดว่าคนไข้ปวดประจำเดือน  หากแพทย์ไม่มีความรู้ ด้านการรักษาอย่างพอเพียง  ก็อาจทำให้สูญเสียคนไข้ ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญที่สุดของโลกเรา  ดังนั้น จงมาช่วยกัน ขจัดความไม่รู้ออกจากตัวเราและลูกหลาน ด้วยการ-ขยันหมั่นศึกษาอยู่ตลอดเวลา   สนับสนุนการศึกษาแด่ผู้ด้อยโอกาส   และสอนบุคคลผู้หลงเดินทางผิด   ให้กลับใจมาสู่เส้นทางใหม่ ที่ให้ชีวิตแห่งคุณค่า    

อย่าทอดทิ้ง ปัญญา  ซึ่งช่วยนำพาความสุข  มาสู่ชีวิตเรา.

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เดินทางไปต่างประเทศ

เรียนท่านผู้อ่านที่เคารพรัก วันที่ 7 มีนาคม 2553 ข้าพเจ้าจะออกเดินทางไประเทศอินเดีย โดยมีกำหนดในเบื้องต้น 4 วัน คือจะกลับในวันที่ 10 ม...