03 ธันวาคม 2559

ภาวะสายสะดือย้อย (Prolapsed cord)

คนสมัยนี้ พึ่งพาเทคโนโลยีและเชื่อถือมันอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการสื่อสาร เทคโนโลยีเหล่านี้ จริงๆ ก็มีคุณค่าอย่างมหาศาล แต่อีกแง่มุมหนึ่ง มันได้ลุกล้ำเข้ามาในชีวิตส่วนตัวของมนุษย์เรามากเกินไปแล้ว

วันนี้ตอนเช้า วิทยุติดตามตัวของข้าพเจ้าหยุดทำงานโดยไม่รู้ตัว โชคดีที่เป็นวันหยุดและไม่มีงานต้องรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ยังมีคนไข้บางคนที่ต้องการกลับบ้านและรอคำสั่งอนุญาติอยู่ พยาบาลที่หอผู้ป่วยพยายามเรียกผ่านวิทยุติดตามตัวของข้าพเจ้าหลายครั้ง แต่ข้าพเจ้าหารู้ตัวไม่ ตอนเที่ยงวัน ข้าพเจ้าได้แวะเข้าไปดูคนไข้ จึงรู้ว่า วิทยุติดตามตัวมีปัญหา นอกจากนั้น  โทรศัพท์มือถือในวันนี้ ก็มีปัญหาใช้การไม่ได้ด้วยเช่นกัน สรุปว่า ข้าพเจ้าขาดการติดต่อกับสังคมโดยสิ้นเชิง

                นั่นยังถือว่า เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ร้ายแรงอะไร แต่วันอังคารที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ที่น่าสะพรึงกลัวขึ้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่อันตรายอย่างมากต่อทารกในครรภ์ของคนไข้สตรีรายหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า

                ประมาณ 17 นาฬิกาของเย็นวันอังคาร ข้าพเจ้าซึ่งอยู่เวรประจำการ กำลังนั่งเขียนหนังสืออยู่ที่ห้องสมุด ของโรงพยาบาลตำรวจ คนไข้ใกล้คลอดรายหนึ่ง ตั้งครรภ์ที่ 2 มายังห้องคลอด ด้วยเรื่องเจ็บครรภ์คลอด พยาบาลได้ตรวจภายใน พบว่า ปากมดลูกเปิด 5 เซนติเมตร ถุงน้ำยังแตกไม่สมบูรณ์ แต่มีสายสะดือย้อยลงมาระหว่างหัวเด็กกับมือของพยาบาลคนตรวจ พยาบาลคนนั้นพูดตะโกนด้วยความตกใจว่าคนไข้มีสายสะดือย้อย” ทุกคนที่นั่นรู้ดีว่า ภาวะสายสะดือย้อยนั้นอันตรายและฉุกเฉินเพียงไร ต่างคนต่างส่งเสียงร้องบอกต่อ ให้รีบตามหมอ  พยาบาลคนที่อยู่ใกล้โทรศัพท์ที่สุดได้โทรเรียกวิทยุติดตามตัวของข้าพเจ้าหลายครั้งและยังแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทางโรงพยาบาลพูดกระจายเสียงออกอากาศเรียกด้วย

เวลาผ่านไปประมาณ 15 นาที ไม่มีการการติดต่อกลับจากข้าพเจ้า พยาบาลผู้มากประสบการณ์คนนั้นยังคงใช้ปลายนิ้วดันศีรษะเด็กเพื่อไม่ให้มากดทับสายสะดือ พลางบอกให้พยาบาลผู้ช่วยเอาหมอนหนุนก้นคนไข้ไว้ ส่วนนักศึกษาแพทย์ฝึกหัดที่อยู่เวร ได้พยายามโทรศัพท์ไปตามสถานที่ต่างๆภายในโรงพยาบาลที่คาดว่าจะพบตัวข้าพเจ้า แต่..ก็ต้องผิดหวัง

จริงๆแล้ว ขณะนั้น ข้าพเจ้ากำลังนั่งเขียนหนังสืออยู่ที่ห้องสมุดของโรงพยาบาลฯ แต่อุปกรณ์สื่อสารของข้าพเจ้า “วิทยุติดตามตัว” ขณะนั้นเกิดขัดข้อง รับสัญญาณเรียกไม่ได้ ส่วนเสียงพูดกระจายเสียงตามสายของโรงพยาบาลภายในห้องสมุดก็เบามาก จนแทบไม่ได้ยิน  ตอนนั้น มือถือของข้าพเจ้าได้รับการซ่อมแซมใช้การได้แล้ว แต่กลับไม่มีใครโทรศัพท์ติดต่อ  ทุกคนพากันหวังพึ่งวิทยุติดตามตัวของข้าพเจ้าเพียงอย่างเดียว จึงเกิดความผิดพลาดขึ้น

อย่างไรก็ตาม โชคยังดี ที่ข้าพเจ้าเดินลงมาแผนกตรวจโรคผู้ป่วยนอกช่วงเย็น ซึ่งเปิดเป็น          “ คลินิกนอกเวลา ”  พอมาถึง เจ้าหน้าที่ห้องตรวจรีบตะโกนบอกทันทีว่า  “ ห้องคลอดมีคนไข้สายสะดือย้อย หมอรีบไปดูก่อนเถอะ ” 

ข้าพเจ้าผละออกจากที่นั่นทันที รีบวิ่งขึ้นบันไดไปยังห้องคลอดที่ชั้น 2 ของตึกสูติ พอไปถึง ก็พบกับสภาพความวุ่นวายของคนไข้และกลุ่มพยาบาลดังกล่าว นักศึกษาแพทย์ที่อยู่เวรได้รายงานเหตุการณ์ตามลำดับอย่างคร่าวๆ

ข้าพเจ้ารีบสั่งการกับพยาบาลที่กำลังช่วยเหลือคนไข้ว่า “ คุณเอามือดันหัวเด็กไว้ก่อนนะ จนกว่าผมจะลงมีดและล้วงเอาหัวเด็กออก ตอนนี้ใครก็ได้ ช่วยแจ้งห้องผ่าตัดให้มารับคนไข้เดี๋ยวนี้เลย บอกหมอเด็กด้วยว่า มีคนไข้สายสะดือย้อย กำลังไปห้องผ่าตัด เด็กยังดีอยู่ ให้รีบมารับเด็กด่วน ส่วนอีกคนช่วยใส่สายสวนปัสสาวะ แล้วฉีดน้ำบรรจุเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะของคนไข้ประมาณ 1 ลิตร ” 

ข้าพเจ้าหันหน้ามาบอกกับนักศึกษาแพทย์ฝึกหัดว่า “ ปกติกระเพาะปัสสาวะสตรีจะวางอยู่หน้ามดลูก การที่เราใส่น้ำเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ ก็เพื่อทำให้กระเพาะปัสสาวะโป่งตัวขึ้นดันมดลูกและหัวเด็ก เป็นการช่วยเหลือเราอีกแรงหนึ่ง ”

เตียงเข็นคนไข้จากห้องผ่าตัดถูกลากมาเทียบข้างเตียงนอนรอคลอดของคนไข้รายนี้ ข้าพเจ้าสั่งการต่อว่า “ ทุกคนจะต้องเคลื่อนย้ายพร้อมๆกัน ขอให้คนไข้ค่อยๆขยับตัวย้ายข้ามไปนอนบนเตียงเข็น มือของคุณพยาบาลที่ดันหัวเด็กอยู่ จะต้องเลื่อนตามไปด้วย ห้ามเอามือออกจากหัวเด็กเด็ดขาด ไม่เช่นนั้น หัวเด็กจะลงไปกดทับสายสะดือ เด็กจะตายภายในเวลาเพียง 3 นาทีหลังจากสายสะดือถูกกดทับเท่านั้น  หากคุณพยาบาลลองสังเกตให้ดี จะรู้สึกว่า มีการเต้นของเส้นเลือดในสายสะดือระหว่างนิ้วมือคุณด้วย  เส้นเลือดนี้หยุดเต้นเมื่อไหร่ เด็กตายเมื่อนั้น ”  

พอคนไข้เคลื่อนตัวข้ามไปนอนบนเตียงเข็นได้ ก็ให้พยาบาลคนที่เอามือดันหัวเด็ก เดินตามเตียงเข็นคนไข้ไปตลอดทางจนถึงห้องผ่าตัดโดยมือยังคงค้างอยู่ในช่องคลอด เมื่อถึงเตียงผ่าตัด คนไข้ต้องเคลื่อนย้ายตัวอีกครั้ง คราวนี้คนไข้และพยาบาลที่สอดมือดันหัวเด็กสามารถทำได้สอดคล้องอย่างคล่องแคล่ว

 พยาบาลห้องผ่าตัดฟอกทำความสะอาดหน้าท้องคนไข้ ขณะที่ข้าพเจ้าฟอกทำความสะอาดมือ สำหรับการปูผ้าคลุมคนไข้เพื่อผ่าตัด เราจำเป็นต้องปูคลุมพยาบาลที่ดันหัวเด็กด้วย โดยให้เธอนั่งยองๆ มุดตัวซ่อนใต้ผ้าคลุมคนไข้ พวกเราใช้เวลาในการเตรียมผ่าตัดไม่นานนัก เพราะเวลาทุกนาทีมีค่า ผิดพลาดเพียงนิดเดียว เด็กตายทันที

เมื่อผ่าตัดเปิดเข้าไปในมดลูกส่วนล่างของคนไข้ ข้าพเจ้าค่อยๆใช้มือขวาล้วงช้อนส่วนหัวเด็ก มือข้าพเจ้าเคลื่อนไปเรื่อยๆ จนชนกับสายสะดือที่ย้อยและมือของพยาบาลที่ดันหัวเด็ก ขณะนั้นข้าพเจ้ารู้สึกได้ถึงการเต้นของเส้นเลือดภายในสายสะดือเด็กด้วย  จึงรู้ว่า เด็กคนนี้รอดพ้นจากเงื้อมมือมัจจุราชแล้ว

เด็กรายนี้คลอดเมื่อเวลา 18 นาฬิกา 15 นาที กุมารแพทย์รับเด็กไปจากมือข้าพเจ้า และทำการช่วยเหลือเบื้องต้นด้วยการให้ออกซิเจน ดูดเสมหะ&ของเหลวออกจากปาก เด็กเริ่มร้อง ขยับตัวและแขนขา ดิ้นไปมา โดยไม่มีภาวะขาดออกซิเจนแต่อย่างใด เด็กรายนี้เป็นเพศหญิง น่ารักมาก

เมื่อหนูน้อยรอดชีวิตอย่างปลอดภัย ทุกคนที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ต่างก็ดีใจ ข้าพเจ้าดีใจเป็นที่สุดเพราะคาดการณ์ไว้ก่อนว่า เด็กน่าจะแย่ หรืออยู่ในสภาพขาดออกซิเจนบ้างไม่มากก็น้อย เนื่องจากพวกเราสูญเสียเวลาไปมากพอสมควรก่อนที่จะลงมีดผ่าตัด แต่ในที่สุด พวกเราก็สมหวัง ได้เด็กที่ดีคลอดออกมา

ภาวะสายสะดือย้อยเป็นภาวะฉุกเฉินที่อันตรายอย่างมากต่อทารกในครรภ์ซึ่งไม่มีสิ่งบอกเหตุล่วงหน้า การวินิจฉัย คือ การตรวจภายใน ตอนที่คนไข้มาห้องคลอด แล้วพบสายสะดืออยู่ในช่องคลอดหน้าต่อหัวเด็ก การรักษา คือ การผ่าตัดเอาเด็กออกให้เร็วที่สุดเท่านั้น ส่วนกรรมวิธีช่วยเหลือเพื่อไม่ให้สายสะดือถูกกดทับ ก็เป็นดั่งที่ข้าพเจ้าและกลุ่มพยาบาลได้ดำเนินการมาข้างต้น

ถ้าวันนั้น ข้าพเจ้า ไม่เดินลงมาออกตรวจที่คลินิกนอกเวลา ชีวิตของเด็กน้อยคงยื้อยุดฉุดจากมือมัจจุราชไว้ไม่ได้ เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่น่าหวาดกลัวครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งจะยังคงติดตรึงอยู่ในใจข้าพเจ้าไปอีกนานแสนนาน

การติดต่อสื่อสารถือเป็นเรื่องสำคัญ และนับวันจะสำคัญยิ่งขึ้นในหมู่มนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก ตราบเท่าที่เรายังมีสังคมและต้องพึ่งพากัน ในอดีต ข้าพเจ้าเคยคิดตามประสาเด็กๆว่า เมื่อโตขึ้นจะบวชเป็นพระ หลีกลี้หนีหน้าจากผู้คนและออกท่องเที่ยวธุดงค์ไปเรื่อยๆจนกว่าชีวิตจะหาไม่ หากเป็นเช่นนั้นแล้ว คงไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณสื่อสาร แต่คนธรรมดาอย่างเราๆ คงยังต้องติดต่อสื่อสารอยู่ตลอดเวลา จนบางทีรู้สึกเหมือนว่า เครื่องมือสื่อสาร..มันเป็นมากกว่าชื่อของมัน ที่หมายถึง “ การใช้เพื่อติดต่อกันตามปกติ ”

เวลาทุกนาทีของมนุษย์เราเหลือน้อยลงทุกที แต่เรายังถูกอุปกรณ์สื่อสารปลุกเรียกให้เราตื่นขึ้นมาอีกตลอดเวลา น่าเสียดายที่เราใช้เวลาในชีวิตไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร เราถูกสังคมและวิทยาการสมัยใหม่ใช้เวลาของเราไปมากเหลือเกิน

จะมีใครบ้างใหมที่เลือกจะใช้เวลาส่วนใหญ่ให้กับครอบครัว โดยไม่สนใจสังคม….

หรือ..ใครคิดว่า จะสามารถอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวของเราได้ด้วยเครื่องมือสื่อสาร โดยที่กายอยู่ห่างไกลกันเกือบตลอดเวลาของชีวิต……..

                                                     &&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เดินทางไปต่างประเทศ

เรียนท่านผู้อ่านที่เคารพรัก วันที่ 7 มีนาคม 2553 ข้าพเจ้าจะออกเดินทางไประเทศอินเดีย โดยมีกำหนดในเบื้องต้น 4 วัน คือจะกลับในวันที่ 10 ม...